ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมข่าวการศึกษา  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

การผลิตครูเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้สู่อนาคตการศึกษาไทย


ข่าวการศึกษา 29 ก.ค. 2559 เวลา 13:42 น. เปิดอ่าน : 11,474 ครั้ง
การผลิตครูเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้สู่อนาคตการศึกษาไทย

Advertisement

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดและบรรยายพิเศษในการประชุม มศว วิชาการ เรื่อง "การผลิตครูเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้สู่อนาคตการศึกษาไทย" เมื่อวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2559 ณ หอดนตรีและศิลปะการแสดง อาคารนวัตกรรมฯ ชั้น 4 โดยมี มล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐานในคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานคนที่ 1 คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา และประธานคณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตลอดจนนักวิชาการ อาจารย์ และนักศึกษา เข้าร่วมประชุม

 

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุม มศว วิชาการในครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้มีโอกาสมาบอกกล่าวและถ่ายทอดถึงนโยบายและแนวทางการดำเนินนโยบายด้านการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาการศึกษาไทย ซึ่งประกอบด้วยปัญหาหลัก 6 ด้าน ดังนี้

1 - การผลิตและพัฒนาครู

ปัจจุบันครูมีภาระงานมาก ครูสอนไม่ครบชั้น รวมทั้งสัดส่วนครูในโรงเรียนไม่เหมาะสม โดยเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา ที่มีครูขาดและครูเกิน ยกตัวอย่างเช่น ในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน มีจำนวนห้องเรียน 120,632 ห้อง แต่มีครู 84,941 คน ทำให้ขาดครูประจำชั้นในโรงเรียนขนาดเล็ก 35,691 คน ส่วนโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป มีจำนวนห้องเรียน 224,067 ห้อง มีครู 314,858 คน ทำให้ครูเกินห้องเรียน 90,791 คน ซึ่งจำนวนของครูที่เกินส่วนมากจะเป็นครูในโรงเรียนใหญ่ เช่น โรงเรียนประจำจังหวัด เป็นต้น นอกจากนี้ แต่ละจังหวัดจะมีอัตราการขาดเกินของครู รวมทั้งพนักงานราชการ และครูอัตราจ้าง ที่แตกต่างกัน

 

สำหรับปัญหาครูสอนไม่ตรงสาขาวิชาที่จบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมศึกษาซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก เนื่องจากครูในระดับมัธยมศึกษาต้องมีความรู้เฉพาะทางในวิชานั้น ๆ เพื่อสอนให้เด็กมีความรู้และนำไปสอบเข้าศึกษาต่อได้

 

นอกจากนี้ พบว่าเด็กไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนมากกว่าเด็กในประเทศอื่น แต่มีผลคะแนนเฉลี่ยการสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ซึ่งการสอบ PISA จะวัดความสามารถ 3 ด้าน คือ การประเมินความรู้เรื่องการอ่าน, คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ตามแนวทาง PISA รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายส่งเสริมให้เด็กอ่านออกเขียนได้และมีความแตกฉานในภาษาไทย เพราะการเข้าใจภาษาไทยอย่างถ่องแท้จะช่วยให้เด็กเชื่อมโยงความรู้และเนื้อหาที่เรียนในวิชาต่าง ๆ ได้

 

ในส่วนของปัญหาเรื่องมาตรฐานภาษาอังกฤษ พบว่าผลการจัดอันดับความรู้ภาษาอังกฤษของไทยอยู่อันดับ 5 จาก 10 ประเทศอาเซียน และหากจัดอันดับทักษะความสามารถด้านภาษาอังกฤษ 5 กลุ่ม ไทยอยู่กลุ่มที่ 5 (ทักษะความสามารถระดับต่ำมาก) อีกทั้งประชากรของไทยมีอัตราเข้าเรียนระดับประถมศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 96 ซึ่งเด็กอีกร้อยละ 4 ที่ไม่เข้าเรียนต้องมีระบบติดตามและหาให้พบว่าเด็กออกนอกระบบการศึกษาได้อย่างไร

 

จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้นำมาวางแผนและกำหนด 11 ยุทธศาสตร์ในการผลิตและพัฒนาครู โดยวางเป้าหมายการแก้ปัญหาภายใน 5 ปี ดังนี้

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการในภูมิภาค ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่ชาติ ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ซึ่งการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ทำให้มี กศจ. ขึ้นมา โดย กศจ. จะทำหน้าที่พิจารณาการบรรจุข้าราชการครู รวมทั้งการโอนย้ายทำให้ครูสามารถย้ายข้ามเขตพื้นที่การศึกษาได้ ซึ่งเป็นการช่วยลดปัญหาการถูกเรียกเงินในการขอโยกย้าย
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตครู ต้องผลิตครูให้มีสมรรถนะของครูในศตวรรษที่ 21 เช่น การคิดวิเคราะห์, ความคิดสร้างสรรค์, เรียนรู้ร่วมกับเด็ก, มีเครื่องมือการสอนที่ทันสมัย เป็นต้น อีกทั้งมีแนวทางในการปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครู ด้วยการจัดทำอัตรากำลังครู 10 ปี ในทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ, จัดทำอัตราความต้องการครูและอัตรากำลังที่สามารถผลิตครูได้ (Demand / Supply), เชื่อมโยงสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และหลักสูตรอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการผลิตครู (80 แห่ง) ของคุรุสภาและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), ปรับปรุงเกณฑ์และมาตรฐานหลักสูตรการผลิตครู, จัดทำหลักสูตรการผลิตครูที่ให้ความสำคัญทั้งวิชาที่สอน (Subject) และเทคนิคการสอน (Pedagogy)
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสอบบรรจุครูผู้ช่วย แนวทางปัจจุบัน คือ ให้ กศจ. ดำเนินการจัดสอบและสามารถโอนย้ายข้าราชการครูได้ ส่วนแนวทางใหม่จะใช้ข้อสอบกลางและทำการสอบครั้งเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ และให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้คัดเลือกครูโดยสามารถประกาศสอบสัมภาษณ์ครูที่สอบผ่านข้อเขียน เพื่อบรรจุเข้าสอนในโรงเรียนของตนเองได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางที่เหมาะสม
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 การวางแผนครูล่วงหน้า 10 ปี เนื่องจากจะมีจำนวนครูเกษียณอายุราชการตั้งแต่ปี 2556-2570 จำนวน 288,233 คน โดยจะเกษียณอายุราชการสูงสุดในปี 2562 จำนวน 28,246 คน สพฐ. จึงต้องดำเนินการสำรวจความต้องการครู โดยจำแนกตามสาขาวิชา และข้อมูลทั้งหมดจะส่งกลับไปให้สถาบันที่ผลิตครู เพื่อวางแผนผลิตครูล่วงหน้าด้วย
  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 แก้ปัญหาครูไม่ครบชั้น โดยได้ดำเนินโครงการคืนครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน และการใช้เครือข่ายอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษา อีกทั้งมีแนวทางในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 20 คน และทบทวนเกี่ยวกับโรงเรียนโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา
  • ยุทธศาสตร์ที่ 6 การแก้ข้อกล่าวหาที่ว่าครูไม่เก่ง กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการรับสมัครแล้วมีจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 39,400 คน โดยคาดว่าจะทำการคัดเลือกและบรรจุเข้ารับราชการครูได้ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2559 อีกทั้งมีแนวทางทำการทดสอบความรู้ครู ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการตรวจเลือดครู เพื่อให้วิตามินได้ถูกต้อง กล่าวคือ การทดสอบว่าครูขาดทักษะในด้านใดบ้าง เพื่อที่จะได้ทำการจัดอบรมให้ความรู้ โดยคาดว่าจะจัดอบรมครูในภูมิภาคตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อจะช่วยให้ครูไม่ต้องเดินทางมาอบรมที่ส่วนกลาง
  • ยุทธศาสตร์ที่ 7 วิทยฐานะ มีแนวทางในการพิจาณาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ซึ่งต้องสอดคล้องกับการมีวิทยฐานะของครูในโรงเรียน เช่น โรงเรียนที่ครูมีวิทยฐานะสูง ๆ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนจะต้องดีกว่าโรงเรียนที่ครูมีวิทยฐานะต่ำกว่า
  • ยุทธศาสตร์ที่ 8 การเข้าสู่ตำแหน่งบริหารของผู้อำนวยการสถานศึกษา จะต้องมีความเหมาะสมทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์ ไม่ใช้การสอบเป็นหลัก เนื่องจากผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา อีกทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อที่ใกล้ที่สุดในการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่ในการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา
  • ยุทธศาสตร์ที่ 9 การแก้ปัญหาระบบการนิเทศ เนื่องจากพบปัญหาศึกษานิเทศก์ยังไม่ได้รับการยอมรับจากครูและไม่มีหน่วยงานในส่วนกลางที่รับผิดชอบสายงานนิเทศ จึงมีแนวทางการแก้ปัญหา คือ กำหนดคุณสมบัติการเป็นศึกษานิเทศก์ โดยจะต้องมีประสบการณ์ด้านการสอนอย่างน้อย 10 ปี, สร้างความก้าวหน้าในอาชีพ เช่น กำหนดเงื่อนไขให้สามารถเป็นผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาหรือเป็นผู้อำนวยการกลุ่มวิทยฐานะเชี่ยวชาญ, กำหนดให้ศึกษานิเทศก์เป็นผู้ริเริ่มจัดทำแผนงานและโครงการ เพื่อแก้ปัญหาการขาดเทคนิคการสอน ตลอดจนพัฒนาอัตรากำลังศึกษานิเทศก์ให้มีประสิทธิภาพ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 10 การซ่อมแซมบ้านพักครู ปัจจุบันมีบ้านพักครูทั้งหมด 44,359 หลัง เป็นบ้านพักสภาพดีไม่ต้องซ่อมแซม 27,422 หลัง, บ้านพักที่ต้องซ่อมแซม 12,928 หลัง และได้ทำการซ่อมแซมบ้านพักเสร็จแล้ว 2,345 หลัง คิดเป็นร้อยละ 18 ของจำนวนบ้านที่ต้องซ่อม โดยจะเร่งดำเนินการซ่อมแซมบ้านพักที่ชำรุดทรุดโทรมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
  • ยุทธศาสตร์ที่ 11 การแก้ปัญหาหนี้สินครู ด้วยการดำเนินการกองทุนเงินหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู และโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่ไม่มีการล้างหนี้และไม่มีการพักชำระหนี้ให้

2 - หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้

พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ เนื้อหาไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลง การเรียนภาษาอังกฤษขาดมาตรฐาน เป็นต้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนด 7 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ ดังนี้

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดทำข้อสอบวัดผลประเมินผลระดับชาติ เช่น O-NET ให้มีความสมเหตุสมผลและน่าเชื่อถือ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การวิเคราะห์ผลการสอบของสถานศึกษาในแต่ละจังหวัด แบ่งตามภูมิภาคด้วยการนำคะแนน O-NET ของแต่ละวิชาของทุกจังหวัดมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ โดยแจ้งคะแนนเฉลี่ยการวัดผลระดับชาติของสถานศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ กศจ. ทราบ เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบและพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเข้าไปแก้ปัญหาได้ตรงจุดและถูกพื้นที่
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 ภายใน 2 ปี เด็กเรียนท่องจำในสิ่งที่ควรจำ และฝึกทักษะการวิเคราะห์ในสิ่งที่ควรคิดวิเคราะห์
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 เพิ่มจำนวนสถานศึกษาที่ใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television : DLTV) โดยการนำ DLTV มาช่วยในการจัดการเรียนการสอน ปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กที่จัดรูปแบบการเรียนการสอนผ่านการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจำนวน 15,369 แห่ง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างมีคุณภาพ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 นำรูปแบบการเรียนการสอน STEM Education มาใช้ โดยในปี 2559 มีโรงเรียนจำนวน 2,495 แห่ง ที่นำ STEM Education มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนแล้ว และจะขยายให้มากขึ้นในปีการศึกษาต่อไป
  • ยุทธศาสตร์ที่ 6 การยกระดับภาษาอังกฤษ ภายใน 3 ปี จะผลักดันให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้ โดยการสร้างแรงจูงใจในการเรียนภาษา ปรับหลักสูตร พัฒนาครู และเพิ่มสื่อการเรียนการสอน
  • ยุทธศาสตร์ที่ 7 โรงเรียนคุณธรรม ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันมีโรงเรียนที่รับนโยบายโรงเรียนคุณธรรมไปปรับใช้ในสถานศึกษาแล้วจำนวน 22,760 แห่ง นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะทบทวนระบบการเรียนการสอนวิชาลูกเสือเพื่อสร้างให้เด็กมีวินัย จริยธรรม และคุณธรรม

3 - ICT เพื่อการศึกษา

ปัจจุบันพบว่าเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการศึกษาขาดความเสถียร ไม่ทันสมัย และไม่ทั่วถึง จึงต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 โดยองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการต้องบูรณาการระบบสารสนเทศให้เชื่อมฐานข้อมูลและแบ่งปันกันได้ รวมทั้งสร้างฐานข้อมูลกลางและระบบจัดการองค์ความรู้ด้วย

4 - การประเมินและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา

ในด้านการประเมินและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา มีหลายปัญหาที่พบ คือ การประเมินครู การประเมินสถานศึกษา การประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ดังนั้นจะเน้นการแก้ปัญหาไปที่การจัดระบบการทดสอบ การประเมิน การประกันคุณภาพ และการพัฒนามาตรฐานการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 กล่าวคือ จะปรับระบบการสอบ การวัดมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับและสะท้อนถึงคุณภาพ พร้อมทั้งจัดทำ Test Blueprint เพื่อแก้ปัญหาการออกข้อสอบไม่ตรงกับที่โรงเรียนสอน และจัดทำ Item Card เพื่อระบุได้ว่าคำตอบที่ถูกของข้อนี้คือตัวเลือกใด และตัวเลือกอื่นผิดเพราะอะไร ตลอดจนให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดเลือกผู้ที่ทำหน้าที่ออกข้อสอบและผู้ตรวจข้อสอบ

5 - การผลิต พัฒนากำลังคนและงานวิจัย

พบปัญหา อาทิ ขาดกำลังแรงงานสายวิชาชีพการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของประเทศ งานวิจัยไม่สามารถนำไปใช้งานได้จริง เป็นต้น โดยจะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 10 ปี ซึ่งจะมีโครงการสนับสนุนการแก้ปัญหา เช่น ทวิภาคีซึ่งเป็นโครงการที่สถาบันอาชีวศึกษาส่งนักเรียนนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์ระยะสั้นในสถานประกอบการกว่า 13,000 แห่ง, ทวิศึกษา คือ การเรียนสายสามัญควบคู่กับสายอาชีพ

รวมทั้งได้มีความร่วมมือกับคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) คณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ โดยการจัดทำฐานข้อมูล Demand and Supply Side ให้มีความทันสมัยภายใน 1 ปี และ 2) คณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ

6 - การบริหารจัดการ

พบปัญหาหลายด้าน อาทิ ขาดการบูรณาการ การกำกับดูแลขาดประสิทธิภาพ ระบบงบประมาณที่ไม่สอดคล้องต่อการดำเนินงาน เป็นต้น จึงได้กำหนดวิธีการแก้ปัญหาการบริหารจัดการ ทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเน้นการประสานร่วมกันกับทุกฝ่าย เช่น ปัญหาเด็กไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น ทุกหน่วยงานต้องบริการจัดการข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้ทราบถึงจำนวนของเด็กที่แท้จริง และนำไปสู่การดำเนินการแก้ไขปัญหา เป็นต้น

หรือตัวอย่างการจัดทำระบบเพื่อบูรณาการปัญหาเด็กออกกลางคันและเด็กตกหล่น จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน อีกทั้งการดำเนินการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ตลอดจนดูแลเด็กพิเศษและเด็กด้อยโอกาส ซึ่งพบว่าครูที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กพิเศษยังขาดทักษะในการดูแลเด็กอยู่มาก โดยจะต้องทำให้เด็กเหล่านี้อยู่ในสังคมเหมือนคนปกติทั่วไปได้

 

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า การศึกษาไทยยังประสบปัญหาเรื่องความแตกต่างของยุคสมัย กล่าวคือ ห้องเรียนบางแห่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และการผลิตครูมาจากหลักสูตรที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 20 และมีลักษณะเป็น Immigrant Digital แต่นักเรียนต้องมีทักษะการทำงานและการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 และเป็น Native Digital

 

จากปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น การนำเสนอนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าใจและเห็นแนวทางที่จะสามารถนำนโยบายดังกล่าวไปคิดและดำเนินการต่อได้ เนื่องจากในปัจจุบันสังคมมองว่าการศึกษาไทยอยู่ในช่วงวิกฤต คนในสังคมและองค์กรการศึกษาต้องเข้าใจในวิกฤตร่วมกัน จึงจะสามารถร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤตด้านการศึกษาดังกล่าวให้เป็นแนวทางเดียวกันได้

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป / รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่าย 

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย คลิกที่นี่

ขอบคุณที่มาภาพและเนื้อหาจาก กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 29 กรกฎาคม 2559


การผลิตครูเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้สู่อนาคตการศึกษาไทย

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

:: เรื่องปักหมุด ::

ด่วน! สพฐ.ประกาศสอบบรรจุ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี พ.ศ. 2567 รอบทั่วไป

ด่วน! สพฐ.ประกาศสอบบรรจุ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี พ.ศ. 2567 รอบทั่วไป

เปิดอ่าน 3,712 ☕ 18 เม.ย. 2567

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
สพฐ.แจ้งการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2567 สมัครสอบทางออนไลน์เพียงรูปแบบเดียว
สพฐ.แจ้งการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2567 สมัครสอบทางออนไลน์เพียงรูปแบบเดียว
เปิดอ่าน 907 ☕ 25 เม.ย. 2567

ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ "เยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง" ปีที่ 18 ปีการศึกษา 2566 (ระดับประเทศ)
ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ "เยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง" ปีที่ 18 ปีการศึกษา 2566 (ระดับประเทศ)
เปิดอ่าน 449 ☕ 25 เม.ย. 2567

การปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการจัดประชุมราชการ
การปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการจัดประชุมราชการ
เปิดอ่าน 563 ☕ 25 เม.ย. 2567

แนวทางการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ประเภทเงินเพื่อประโยชน์การศึกษา โครงการ "สุขาดี มีความสุข"
แนวทางการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ประเภทเงินเพื่อประโยชน์การศึกษา โครงการ "สุขาดี มีความสุข"
เปิดอ่าน 822 ☕ 25 เม.ย. 2567

แนวทางปฏิบัติการจัดทำหนังสือราชการ (เรียนดี มีความสุข)
แนวทางปฏิบัติการจัดทำหนังสือราชการ (เรียนดี มีความสุข)
เปิดอ่าน 1,949 ☕ 25 เม.ย. 2567

ปฏิทินการจ้างและการประเมินนักการภารโรง ระยะเวลา 5 เดือน (พฤษภาคม – กันยายน 2567)
ปฏิทินการจ้างและการประเมินนักการภารโรง ระยะเวลา 5 เดือน (พฤษภาคม – กันยายน 2567)
เปิดอ่าน 2,760 ☕ 24 เม.ย. 2567

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

ปลูกลีลาวดี อาชีพเสริมที่ไม่ควรมองข้าม
ปลูกลีลาวดี อาชีพเสริมที่ไม่ควรมองข้าม
เปิดอ่าน 40,270 ครั้ง

เลิกโทษเด็กนักเรียนได้ไหม? คอลัมน์สุจิตต์ วงษ์เทศ
เลิกโทษเด็กนักเรียนได้ไหม? คอลัมน์สุจิตต์ วงษ์เทศ
เปิดอ่าน 28,656 ครั้ง

เปิดปูม"สินค้า"อวดอ้าง รักษาโรคครอบจักรวาล
เปิดปูม"สินค้า"อวดอ้าง รักษาโรคครอบจักรวาล
เปิดอ่าน 12,259 ครั้ง

การเลือกโต๊ะสำหรับการเขียนหนังสือ
การเลือกโต๊ะสำหรับการเขียนหนังสือ
เปิดอ่าน 15,339 ครั้ง

The Six Math Problem และวิธีหาคำตอบ ชมที่นี่
The Six Math Problem และวิธีหาคำตอบ ชมที่นี่
เปิดอ่าน 10,814 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ