บทคัดย่อ
วิจัยเรื่องการพัฒนาบทเรียนบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่อง กรด-เบส สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพและดัชนีประสิทธิผล ของบทเรียนบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อบทเรียนบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557โดยใช้วิธีสุ่มแบบเจาะจง (Purposive sampling) จำนวนนักเรียน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น 2) บทเรียนบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่อง กรด-เบส 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 4) แบบสอบถามวัดความพึงพอใจของนักเรียนทีมีต่อการเรียนด้วยบทเรียนบนเครือข่าย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐานใช้ Paired t-test ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. บทเรียนบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่อง กรด-เบส สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 85.25 /82.00 และดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.6087
2. นักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่อง กรด-เบส สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น มีคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนเพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยบทเรียนบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่อง กรด-เบส สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น อยู่ในระดับมาก
โดยสรุป บทเรียนบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่อง กรด-เบส สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและสามารถนําไปใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาและบรรลุตรงตามจุดประสงค์และเป็นแนวทางให้ครูนําไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาอื่นๆให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น