ชื่อเรื่อง การพัฒนาแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาเรื่องอัตราส่วนและร้อยละ โดยใช้ข้อมูล
ท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์
ชื่อผู้วิจัย นายยุทธพงษ์ วังนุราช
ปีที่วิจัย 2556
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาแบบฝึกทักษะ 2) พัฒนาแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาอัตราส่วนและร้อยละ โดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 3) ทดลองใช้แบบฝึกทักษะ 4) ประเมินผลและปรับปรุงแบบฝึกโดยเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะ เปรียบเทียบผลการเรียนรู้ของนักเรียนกับเกณฑ์กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และศึกษาความคิดเห็นของนักเรียน ที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาอัตราส่วนและร้อยละ โดยใช้ข้อมูลท้องถิ่นกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/2 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ สังกัดเทศบาลเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 35 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาอัตราส่วนและร้อยละ โดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น และแบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t-test) แบบ Dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า 1) นักเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องการให้แบบฝึกทักษะมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากหนังสือเรียนทั่ว ๆ ไป มีความน่าสนใจเหมาะสมกับวัยและความต้องการของนักเรียน เนื้อหาถูกต้องครบถ้วน เริ่มจากกิจกรรมที่ง่ายไปสู่กิจกรรมที่ยาก 2) แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาอัตราส่วนและร้อยละ โดยใช้ข้อมูลท้องถิ่น ประกอบด้วย คำนำ สารบัญ คำชี้แจงการใช้แบบฝึกทักษะ จุดประสงค์การเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ ข้อมูลท้องถิ่น ใบความรู้ แบบฝึกทักษะ แบบทดสอบหลังเรียนและแผนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วยเนื้อหา 5 เรื่อง ได้แก่ 1) อัตราและอัตราส่วน (หัตถกรรมผ้าไหมเครื่องเงินเขวาสินรินทร์) 2) อัตราส่วนที่เท่ากันและหลาย ๆ จำนวน (แวะตลาดสุรินทร์ เยือนถิ่นเรา) 3) สัดส่วนและการแก้โจทย์ปัญหาสัดส่วน (งานช้างสุรินทร์ สมถิ่นของเรา) 4) ร้อยละกับชีวิตประจำวัน (ตลาดนัดสีเขียว แหล่งรวมเกษตรอินทรีย์) 5) การแก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับร้อยละ (ประเพณีขึ้นเขาสวาย) แบบฝึกทักษะที่สร้างขึ้นมีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 78.94/75.84 3) นักเรียนสนใจในแบบฝึกทักษะที่สร้างขึ้น ตั้งใจเรียนและสนุกสนานกับกิจกรรมการเรียนการสอน มีความกระตือรือร้นในการเรียน นักเรียนทุกคนสามารถนำข้อมูลในท้องถิ่นมาบูรณาการสร้างเป็นโจทย์ปัญหาได้ดีมีความคิดสร้างสรรค์ในการเรียน 4) ผลการเรียนรู้ เรื่อง โจทย์ปัญหาอัตราส่วนและร้อยละ ก่อนและหลังการใช้แบบฝึกทักษะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยหลังจากใช้แบบฝึกทักษะมีคะแนนผลการเรียนรู้เฉลี่ยสูงกว่าก่อนใช้แบบฝึก และสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 60 ของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของโรงเรียน นักเรียนเห็นด้วยต่อการใช้แบบฝึกทักษะในระดับมาก โดยมีความคิดเห็นว่าการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะเป็นการเรียนที่น่าสนใจช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาในบทเรียนมากขึ้นและนักเรียนมีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง