ผลงานวิจัย รายงานผลการใช้ชุดกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่มีต่อความสามารถในการทรงตัวของ
นักเรียนสมองพิการที่มีอาการเกร็งแบบครึ่งซีก ระดับประถมศึกษา
โรงเรียนน่านปัญญานุกูล จังหวัดน่าน
ผู้วิจัย นางนันทิยา สุโนธร
ปีที่วิจัย 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาชุดกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่มีต่อความสามารถในการทรงตัวของนักเรียนสมองพิการที่มีอาการเกร็งแบบครึ่งซีก ระดับประถมศึกษา โรงเรียนน่านปัญญานุกูล จังหวัดน่าน ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์คือ 70/70 2) เปรียบเทียบความสามารถใน การทรงตัวของนักเรียนสมองพิการที่มีอาการเกร็งแบบครึ่งซีกก่อนและหลังการใช้ชุดกิจกรรม การเคลื่อนไหว 3) ศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อความสามารถในการทรงตัวของนักเรียนสมองพิการที่มีอาการเกร็งแบบครึ่งซีกหลังจากการใช้ชุดกิจกรรมการเคลื่อนไหว กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนสมองพิการที่มีอาการเกร็งแบบครึ่งซีก ระดับชั้นประถมศึกษา โรงเรียนน่านปัญญานุกูล จังหวัดน่าน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 มีปัญหาการเคลื่อนไหวและการทรงตัวโดยมีผล การประเมินความสามารถในการทรงตัวที่ไม่ผ่านในหัวข้อการเดินบนสะพานทรงตัว จากแบบประเมินความสามารถพื้นฐานตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ระดับประถมศึกษา โรงเรียนน่านปัญญานุกูล จังหวัดน่าน จำนวน 6 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วยชุดกิจกรรมการเคลื่อนไหว แบบประเมินความสามารถ ในการทรงตัว (ก่อนและหลัง) แบบประเมินผลการเรียนรู้ และแบบประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครอง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (x̄ ) ฐานนิยม (Mode) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) The Wilcoxon Matched Paris Signed Ranks Test. และประสิทธิภาพ E1/E2
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่มีต่อความสามารถในการทรงตัวของนักเรียนสมองพิการ ที่มีอาการเกร็งแบบครึ่งซีก ระดับประถมศึกษา โรงเรียนน่านปัญญานุกูล จังหวัดน่าน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 86.97/90.09 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้คือ 70/70
2. นักเรียนสมองพิการที่มีอาการเกร็งแบบครึ่งซีก ระดับประถมศึกษา โรงเรียนน่านปัญญานุกูล จังหวัดน่าน ที่ใช้ชุดกิจกรรมการเคลื่อนไหวนั้น มีความสามารถในการทรงตัวสูงขึ้นกว่าก่อนใช้ชุดกิจกรรมการเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
3. ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อชุดกิจกรรมการเคลื่อนไหว โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄ 4.80)