ผู้วิจัย นายไทยเจริญ รัตนะ
โรงเรียน เทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา เทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่วิจัย 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพที่เคยเป็นมา สภาพปัจจุบัน สภาพปัญหา สภาพที่คาดหวัง ทางเลือกเพื่อการแก้ปัญหาหรือบรรลุสภาพที่คาดหวังในการพัฒนาการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา การเลือกทางเลือกเพื่อการปฏิบัติ และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการนำทางเลือกไปปฏิบัติที่มีการใช้กระบวนการนิเทศภายในเชิงระบบร่วมกับการทำงานเป็นทีมระหว่างผู้บริหารสถานศึกษาและครู มาเป็นตัวสอดแทรกและใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม 2) ศึกษาสภาพการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับตัวบุคคล กลุ่มบุคคลและโรงเรียน และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการนำเอากระบวนการนิเทศภายในเชิงระบบร่วมกับการทำงานเป็นทีมระหว่างผู้บริหารสถานศึกษาและครู มาเป็นตัวสอดแทรก เพื่อพัฒนางานวิชาการของโรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา และใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม การศึกษาครั้งนี้ เป็นกรณีศึกษาของโรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา เป็นโรงเรียนที่มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้ ในการที่ผู้วิจัยจะเข้าไปปฏิบัติงานภาคสนาม เนื่องจากผู้วิจัยดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรประสงค์ที่จะร่วมพัฒนางานด้านวิชาการด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม การพัฒนางานวิชาการ จำกัดขอบเขตอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัยเป็นผู้กำหนดขึ้นหรือตกลงใช้มาตรฐานของหน่วยงานภาครัฐเป็นเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพงานวิชาการในโรงเรียนสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระยะเวลาในการวิจัย กำหนดตามวงจรการปฏิบัติงาน ปีการศึกษา 2559 ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559
ผลการวิจัยพบว่า กระบวนการนิเทศภายในเชิงระบบร่วมกับการทำงานเป็นทีมระหว่างผู้บริหารสถานศึกษาและครู เป็นตัวสอดแทรกและในกรณีที่เกี่ยวกับ การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม นั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้คือ 1) โครงสร้างการบริหารและจัดการงานวิชาการด้วยการทำงานเป็นทีมระหว่างผู้บริหารสถานศึกษาและครู 2) ใช้กระบวนการนิเทศภายในเชิงระบบร่วมกับการทำงานเป็นทีมระหว่างผู้บริหารสถานศึกษาและครูที่มีประสิทธิผล 7 ประการ (MITIMAI) ดังนี้ สร้างแรงจูงใจ (Motivation) ให้งานสำคัญ (Important work) ความไว้วางใจกัน (Trust) มีความเป็นอิสระ (Independent) สนับสนุนปัจจัย (Material) ให้การยอมรับ (Acceptation) และการป้อน กลับข้อมูลข่าวสาร (Information) 3) การกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง 4) การคำนึงถึงหลักการ 10 จรรยาบรรณ10 และบทบาท 10 ประการของผู้วิจัยในการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เป็นพื้นฐาน และ 5) มีขั้นตอนย่อยการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน 9 ขั้นตอน ได้ข้อสรุปที่เรียกว่า กรอบการปฏิบัติการบริหารงานวิชาการโดยใช้กระบวนการนิเทศภายในเชิงระบบร่วมกับการทำงานเป็นทีมระหว่างผู้บริหารสถานศึกษาและครู : องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม