ผู้วิจัย นางสาวปิยะมาศ ศรีโพธิ์ทอง
สถานศึกษา โรงเรียนน่านปัญญานุกูล จังหวัดน่าน
ปีที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมสนุกกับการปั้น สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนน่านปัญญานุกูล ตามเกณฑ์ 70/70 เปรียบเทียบทักษะการประสานสัมพันธ์ระหว่างสายตากับมือก่อนและหลังใช้ชุดกิจกรรมสนุกกับการปั้น และศึกษาความพึงพอใจของของผู้ปกครองที่มีต่อชุดกิจกรรมสนุกกับการปั้น ศึกษาจากประชากร นักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนน่านปัญญานุกูล ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ที่มีปัญหาการประสานสัมพันธ์ระหว่างสายตากับมือจำนวน 3 คน ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ใช้แบบกลุ่มเดียววัดก่อนและหลัง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ชุดกิจกรรมสนุกกับการปั้น แบบทดสอบการประสานสัมพันธ์ระหว่างตากับมือจากแบบประเมิน Development Test of Visual Perception (second edition) : DTVP- 2 และแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าประสิทธิภาพของชุดกิจกรรม (E1/ E2) ค่าเฉลี่ย ร้อยละและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยโดยสรุปมีดังนี้
1. ชุดกิจกรรมสนุกกับการปั้น สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนน่านปัญญานุกูล มีประสิทธิภาพ 77.78/76.08
2. นักเรียนมีทักษะการประสานสัมพันธ์ระหว่างตากับมือหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
3. ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อชุดกิจกรรมสนุกกับการปั้น อยู่ในระดับมาก