ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม
สำหรับนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดขอนแก่น
ผู้วิจัย นายชนะ โนนทนวงษ์
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม สำหรับนักเรียน 2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม เป็นการวิจัยและพัฒนา มีรูปแบบการวิจัยกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย ตัวแทนชุมชน (คณะกรรมการสถานศึกษา) จำนวน 14 คน นักเรียน จำนวน 229 คน และครูผู้สอนจำนวน 36 คน จากโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดขอนแก่น ที่ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า 3PDIE มีองค์ประกอบคือ หลักการที่อยู่บนพื้นฐานมีส่วนร่วมของชุมชนและครูผู้สอน วัตถุประสงค์รูปแบบเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมของนักเรียนด้าน การช่วยเหลือและด้านการแบ่งปัน สาระและกระบวนการ กิจกรรมและขั้นตอนการดำเนินการ ระยะเวลา และการวัดประเมินผล การมีส่วนร่วมของชุมชน ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1) มีส่วนร่วม ในการวิเคราะห์ ตัดสินใจ (Participation in decision making : PD) 2) มีส่วนร่วมในการปฏิบัติ (Participation in implementation : PI) 3) มีส่วนร่วมในการประเมินผล (Participation in evaluation : PE) และการจัดการเรียนรู้ มี 3 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นการเตรียมผู้เรียน 2) ขั้นการปฏิบัติกิจกรรม และ 3) ขั้นการประเมินผล
2. ผลการศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบ พบว่า 1) นักเรียนมีทักษะทางสังคมสูงขึ้นภายหลังการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วม 2) นักเรียนกลุ่มทดลองมีผลการประเมินทักษะทางสังคมทั้งสองด้านคือด้านการช่วยเหลือและด้านการแบ่งปันสูงขึ้น โดยที่ไม่พบว่าตัวแปรทดลองและตัวแปรสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนที่กำหนดส่งผลร่วมกันให้เกิดผลทักษะทางสังคมของนักเรียนแต่อย่างใด 3) ภายหลังการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วม ครูผู้สอนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำรูปแบบไปใช้อยู่ในระดับดีมาก และมีความ พึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมอยู่ในระดับมาก โดยครูและชุมชนมีความเห็นว่ารูปแบบ 3PDIE ที่พัฒนาขึ้นสามารถพัฒนาทักษะทางสังคมให้กับนักเรียน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรูปแบบ 3PDIE ยังส่งผลให้ครูและชุมชนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อันเป็นผลจากการพัฒนาทักษะทางสังคมให้กับนักเรียนร่วมกัน