บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัตถุในท้องถิ่น ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านบางมะรวด จังหวัดปัตตานี
ชื่อผู้ศึกษา สุมา อินทกาญจน์
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา คือ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัตถุในท้องถิ่น ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อศึกษาผลการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะพื้นฐาน ทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัตถุในท้องถิ่น ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านบางมะรวด จังหวัดปัตตานี 3) เพื่อเปรียบเทียบทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัตถุในท้องถิ่น ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ระหว่างก่อนและหลังการจัดกิจกรรม 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัตถุในท้องถิ่น ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ของโรงเรียนบ้านบางมะรวด จำนวน 30 คน โดยดำเนินการทดลองเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ ในการศึกษา คือ ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัตถุในท้องถิ่น จำนวน 6 เล่ม แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 24 แผน แบบทดสอบวัดทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ แบบบันทึก การสังเกตพฤติกรรมทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ และแบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัตถุในท้องถิ่น สถิติที่ใช้สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (x- ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่าที (t-test)
ผลปรากฏว่า 1) ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัตถุในท้องถิ่น มีประสิทธิภาพ (E1 / E2) เท่ากับ 83.32 / 82.15 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 80/80 2) ผลการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัตถุในท้องถิ่น ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านบางมะรวด จังหวัดปัตตานี ผลปรากฏว่า สามารถพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ได้อย่างดีและ มีประสิทธิภาพ 3) ผลการเปรียบเทียบทักษะพื้นฐานในทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัตถุในท้องถิ่น ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ระหว่างก่อนและหลังการจัดกิจกรรม ผลปรากฏว่าหลังการจัดกิจกรรมนักเรียนมีทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สูงขึ้นกว่าก่อนการจัดกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01 4) ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง วัตถุในท้องถิ่น ปรากฏว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก