การศึกษาการใช้เอกสารประกอบการเรียนลูกเสือ-เนตรนารี สำรอง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ เป็นนวัตกรรมในการจัดกิจกรรมกาเรียนรู้กิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี สำรอง มีวัตถุประสงค์เพื่อหาประสิทธิภาพของเอกสารประกอบการเรียนรู้ ลูกเสือ-เนตรนารี สำรอง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ทั้งด้านกระบวนการและผลผลิต เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการเรียน ลูกเสือ-เนตรนารี สำรอง กับเกณฑ์ประเมินที่กำหนดไว้ และเพื่อประเมินความพึงพอใจของลูกเสือ-เนตรนารี สำรองต่อเอกสารประกอบการเรียนลูกเสือ-เนตรนารีสำรอง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือลูกเสือ-เนตรนารี สำรอง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนเทศบาลท่าโขลง ๑
ปีการศึกษา ๒๕๖๐ จำนวน ๒๐ คน ตัวแปรอิสระ คือ เอกสารประกอบการเรียนลูกเสือ-เนตรนารี สำรอง เครื่องมือที่ใช้ คือ เอกสารประกอบการเรียน แบบทดสอบด้านความรู้ ความเข้าใจเนื้อหาก่อนเรียนและหลังเรียน แบบบันทึกพฤติกรรมลูกเสือ-เนตรนารี สำรอง หลังเรียนเอกสารประกอบการเรียนทั้ง ๑๒ เล่ม และแบบสอบถามความพึงพอใจของลูกเสือ-เนตรนารี การเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ศึกษาได้เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตัวเอง ระยะเวลา ๑๒ สัปดาห์ ระหว่างการดำเนินการใช้เอกสารประกอบการเรียน ผู้ศึกษาได้สังเกตและบันทึกพฤติกรรมของ ลูกเสือ-เนตรนารี สำรอง ได้ผลสรุป ดังนี้
๑. เอกสารประกอบการเรียนลูกเสือ-เนตรนารี สำรอง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ มีประสิทธิภาพ ๘๓.๙๒/๙๒.๒๕ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ๘๐/๘๐ ทั้งด้านกระบวนการและผลผลิตที่ตั้งสมมติฐานไว้
๒. ผลการเปรียบเทียบพัฒนาการเรียนลูกเสือ-เนตรนารี สำรองกับเกณฑ์ประเมินที่กำหนดร้อยละ ๗๐ โดยภาพรวมลูกเสือ-เนตรนารี สำรอง มีพัฒนาการเรียนลูกเสือ-เนตรนารี สำรอง สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในทุกเรื่อง ทั้ง ๑๒ เรื่อง (¯x= ๑๘.๔๔, ¯x% = ๙๒.๑๙)
๓. ผลการประเมินความพึงพอใจของลูกเสือ-เนตรนารี สำรอง ที่มีต่อเอกสารประกอบการเรียน พบว่า โดยภาพรวมลูกเสือ-เนตรนารี สำรอง มีความพึงพอใจในระดับมาก
สรุปในภาพรวมการจัดการเรียนรู้โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนที่มีคุณภาพช่วยให้ลูกเสือ-เนตรนารี สำรองมีพัฒนาการได้ตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์