ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องระบบสุริยะและพลังงานแสง สำหรับนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย นางสมหวัง แข้โส
ปีที่วิจัย 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องระบบสุริยะและพลังงานแสง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ให้มีประสิทธิภาพ 2) ศึกษาผลการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องระบบสุริยะและพลังงานแสง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 3) ประเมินประสิทธิผลของการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องระบบสุริยะและพลังงานแสง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลน้ำพองภูริพัฒน์ สังกัดฝ่ายการศึกษาเทศบาลตำบลน้ำพอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่กำลังเรียนอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 27 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องระบบสุริยะและพลังงานแสง จำนวน 19 แผน 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องระบบสุริยะและพลังงานแสง เป็นข้อสอบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ 3) แบบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ จำนวน 20 ข้อ และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจ
ผลการวิจัย พบว่า
1.การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องระบบสุริยะและพลังงานแสง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) และประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E2) มีค่าเท่ากับ 92.59/88.00 เป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2. การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องระบบสุริยะและพลังงานแสง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 87.42/85.22
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนที่เรียนจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องระบบสุริยะและพลังงานแสง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องระบบสุริยะและพลังงานแสง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด ด้านการแสวงหาความรู้ใหม่และกิจกรรมการเรียนการสอนส่งเสริมการคิดวิเคราะห์