ชื่อเรื่อง รายงานการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านคำคล้องจอง เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชุด คุณธรรมนำชีวิต
ชื่อผู้วิจัย นางเจนจิรา โนทะ
ปีที่วิจัย การศึกษา 2560
บทคัดย่อ
รายงานการพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านคำคล้องจอง เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชุด คุณธรรมนำชีวิต มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านคิดวิเคราะห์ โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านคำคล้องจอง เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชุด คุณธรรมนำชีวิต 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการเรียน โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านคำคล้องจอง เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชุด คุณธรรมนำชีวิตกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/1 โรงเรียนเทศบาล ๑ บ้านหล่าย
สังกัดกองการศึกษา เทศบาลตำบลสบปราบ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง จำนวน 33 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ 1) แบบฝึกทักษะการอ่านคำคล้องจอง 2) แผนการจัดการเรียนรู้ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4) แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมุติฐานโดยใช้ t test (Dependent Samples) และความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อเอกสารประกอบการเรียน วิเคราะห์โดยการหาค่าเฉลี่ย (m) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (s) และแปลความหมายตามเกณฑ์ของกลุ่ม
ผลการวิจัยพบว่า 1) ประสิทธิภาพของคะแนนรวมจากกลุ่มตัวอย่าง ได้เท่ากับ 87.81 /87.62 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 2) นักเรียนมีความสามารถของการคิดวิเคราะห์ โดยใช้แบบฝึกทักษะหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะ โดยรวมเฉลี่ย อยู่ในระดับมากที่สุด
โดยสรุป การจัดการเรียนรู้ ในลักษณะนี้ส่งผลทำให้นักเรียนมีทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์เพิ่มสูงขึ้น ความพึงพอใจ มีความรักในการอ่าน สามารถนำไปอ่านเพิ่มเติมนอกเวลาเรียน และนักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ง่าย มีความพึงพอใจในการเรียนลักษณะนี้ และนักเรียนมีจิตสำนึกในคุณธรรมสามารถนำไปบูรณาการกับวิชาอื่น ๆ ได้ จึงสามารถนำมาใช้เป็นนวัตกรรมแก้ปัญหา ในการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ