ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ค้นหากระทู้
ตั้งกระทู้คำถามใหม่ กลับหน้าที่แล้ว
 
รายงานการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกร

รายงานการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

หลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

Report on “Education Personnel Development Programme in Education Sector Planning to Steer Education Reform for the Regional and Provincial Education Offices under Ministry of Education of Thailand”

นางสาวเต็มจิต จันทคา

ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา

ปฏิบัติหน้าที่นักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ สำนักงานศึกษาธิการภาค ๔

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

การพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด “หลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค” เป็นการดำเนินการพัฒนาด้วยกระบวนการวิจัยปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความต้องการในการพัฒนาการปฏิบัติงานของบุคลากร และความต้องการจำเป็นในการพัฒนาของบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 2) ศึกษาและกำหนดแนวทางที่เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาและการปรับใช้หลักสูตรการศึกษาทางไกลการวางแผนการศึกษาของสถาบันนานาชาติเพื่อการวางแผนทางการศึกษาของยูเนสโก 3) พัฒนาโครงการและหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ที่เหมาะสมและเป็นไปได้ 4) ดำเนินการพัฒนา ประเมินความสำเร็จของโครงการและประเมินผลการฝึกอบรมตามหลักสูตร และ 5) สะท้อนผลและถอดบทเรียนการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด “หลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค”

การดำเนินการพัฒนาด้วยกระบวนการวิจัยปฏิบัติการ 4 ขั้นการพัฒนา ประกอบด้วย ขั้นวางแผน ขั้นดำเนินการตามแผน ขั้นสังเกตและประเมินผล และขั้นสะท้อนผลและถอดบทเรียน การพัฒนา ดำเนินการพัฒนาใน 2 วงรอบ ดังนี้ วงรอบที่ 1 ดำเนินการในปี พ.ศ. 2560 จำนวน 14 กิจกรรมการพัฒนา และวงรอบที่ 2 ดำเนินการในปี พ.ศ. 2561 จำนวน 6 กิจกรรมการพัฒนา โดยในแต่ละกิจกรรมการพัฒนา กำหนดกลุ่มผู้ให้ข้อมูล เครื่องมือ วิธีดำเนินการและการเก็บรวบรวมข้อมูล รวมทั้งวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลไว้แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์เฉพาะของแต่ละกิจกรรม

ผลการดำเนินการ

ผลการดำเนินการทั้งกระบวนการตามวัตถุประสงค์ของการพัฒนา สรุปดังนี้

1. บุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด มีความต้องการจำเป็นในการพัฒนาการปฏิบัติงานในภาพรวม 6 อันดับแรก ดังนี้ 1) การวางแผนการศึกษาเพื่อการพัฒนา 2) สถิติสำหรับการวางแผนการศึกษา และการจัดทำข้อมูลและสารสนเทศ 3) การวิเคราะห์ปัญหาสาขาการศึกษา 4) การวิเคราะห์และการพิจารณาทางเลือกนโยบาย 5) การคาดคะเนและการสร้างภาพอนาคต และ 6) การกำกับ ติดตามและประเมินผลแผนการศึกษา

2. แนวทางเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาบุคลากรสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ที่สำคัญ 8 แนวทาง ประกอบด้วย 1) ศึกษาและใช้ข้อมูลความต้องการพัฒนาในการปฏิบัติงาน ความต้องการจำเป็นในการพัฒนาของบุคลากรและแนวทางการพัฒนาเชิงกลยุทธ์เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดโครงการ 2) กำหนดโครงการพัฒนาจากแนวทางที่เป็นกลยุทธ์แบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ 3) พัฒนาบุคลากรด้วยการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการตามหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการจำเป็นในการพัฒนา มีเหมาะสมและเป็นไปได้ 4) ปรับใช้หลักสูตรและชุดฝึกอบรมการวางแผนการศึกษาของสถาบันนานาชาติเพื่อการวางแผนทางการศึกษา (UNESCO-IIEP Based Intensive Education Planning) 5) การประเมินผลการพัฒนาที่ครอบคลุมความสำเร็จของโครงการ ผลการฝึกอบรม และการนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน 6) ดำเนินการพัฒนาด้วยการวิจัยปฏิบัติการ 7) มีเจ้าภาพร่วมในการพัฒนาในรูปคณะกรรมการ และ 8) พัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

3. กำหนดโครงการพัฒนาแบบดั้งเดิม มุ่งผลสัมฤทธิ์ ตามแนวทางที่เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนา มีความชัดเจนในวัตถุประสงค์ เป้าหมายตัวชี้วัดความสำเร็จ และแผนกำกับโครงการ ดำเนินการพัฒนากลุ่มเป้าหมายโดยการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และประเมินความสำเร็จของโครงการตามตัวชี้วัดและเกณฑ์การประเมินที่กำหนด พัฒนาหลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (UNESCO - IIEP Based Intensive Education Planning) ที่เป็นหลักสูตรฝึกอบรมเฉพาะจากข้อมูลความต้องการจำเป็นในการพัฒนา มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ มุ่งให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีความรู้ ความสามารถในการวางแผนการศึกษาและ การติดตามประเมินผล สามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานได้จริงเป็นสำคัญ

4. ดำเนินการพัฒนาบุคลากรตามโครงการในวงรอบที่ 1 ปี 2560 โดยการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด จำนวน 3 รุ่น 134 คน การดำเนินโครงการในภาพรวมประสบความสำเร็จในระดับมาก โดยมีข้อจำกัดเกี่ยวกับความไม่สอดคล้องและไม่ชัดเจนของเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ จัดการฝึกอบรมได้ในจำนวนจำกัด หลักสูตรไม่ครอบคลุมภารกิจการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา เงื่อนเวลาในการฝึกอบรมไม่เอื้อต่อการฝึกปฏิบัติจริง ขาดหลักประกันความต่อเนื่องและขาดการติดตามประเมินผลการนำความรู้ไปใช้จริงหลังการฝึกอบรม ดำเนินโครงการในวงรอบที่ 2 ปี 2561 โดยปรับปรุงแก้ไขโครงการตามข้อจำกัด จำนวน 1 รุ่น 39 คน การดำเนินโครงการในภาพรวมประสบความสำเร็จมากขึ้นในระดับมากที่สุด จัดกิจกรรมการฝึกอบรมตามหลักสูตรในภาพรวม ประสบความสำเร็จในระดับมากที่สุด ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีคะแนนการพัฒนาความรู้ความสามารถในระดับมากที่สุด มีความพึงพอใจในการบริการการฝึกอบรมในระดับมากที่สุด และการนำความรู้จากการฝึกอบรมไปใช้ในการปฏิบัติงานสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในระดับมาก

5. ผลการดำเนินโครงและการฝึกอบรมสะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคด้วยการวิจัยปฏิบัติการ 2 วงรอบ 20 กิจกรรม โดยการศึกษา กำหนดโครงการ พัฒนาหลักสูตรตามความต้องการจำเป็นและหลักสูตรตัวแบบ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและมีการปรับปรุงโครงการจากข้อจำกัดการพัฒนาในรอบแรก ช่วยให้การดำเนินโครงการในภาพรวมประสบความสำเร็จในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการตามหลักสูตรที่กำหนดจากความต้องการจำเป็นในการพัฒนา ช่วยให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความพึงพอใจ ในระดับมากที่สุด พัฒนาความรู้ความสามารถตามที่หลักสูตรกำหนดในระดับมากที่สุด และสามารถนำความรู้ไปใช้จริงในระดับมาก

บทเรียนการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ในครั้งนี้ คือ การพัฒนาต้องยึดหลักความสอดคล้องกับนโยบาย เป็นระบบและต่อเนื่องด้วยการวิจัยปฏิบัติการ จัดโครงการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เชิงกลยุทธ์ มีความพอเพียงและธรรมาภิบาล และหลักความคุ้มค่า กำหนดวัตถุประสงค์ของการพัฒนาครอบคลุมทั้งกระบวนการและผลการพัฒนา กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จที่สอดรับกัน กำหนดแนวทางที่เป็นกลยุทธ์เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาและดำเนินการพัฒนาควบคู่กับการวิจัยปฏิบัติการ ทั้งนี้ นโยบายการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ต้องมีความต่อเนื่อง ผู้เกี่ยวข้องให้ความร่วมมืออย่างแท้จริง มีการนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติจริง และยอมรับบทเรียนการพัฒนาเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

Executive Summary

The “Education Personnel Development Programme in Education Sector Planning to Steer Education Reform for the Regional and Provincial Education Offices under Ministry of Education of Thailand” is a capacity development programme using operational research method. The objectives are 1) to study the needs for operational capacity development of education personnel in the Regional and Provincial Education Offices; 2) to study strategic approach in development and adaptation of the Distance Education Programme in Education Sector Planning (Thai version) of UNESCO-International Institute for Education Planning (UNESCO-IIEP); 3) to develop appropriate and feasible development activities and training programme for education personnel in the Regional and Provincial Education Offices; 4) to evaluate the success of the project and assess the training results on both development activities in the programme, and ability of apply the knowledge on the job, after training; and 5) to collect feedback and document lesson learned in capacity development of the education personnel in the Regional and Provincial Education Offices attended the programme.

The Education Personnel Development Programme had been implemented in four stages of operational research: planning, plan implementation, observation and evaluation, and collecting feedback and lessons learned. To accommodate the needs and achieve maximum success, the programme had been implemented in two cycles. For the first cycle in 2017, 14 development activities were conducted; for the second cycle in 2018, 6 activities were conducted. In each activity, respondents, data collection instruments, data collection and analytical methods were defined differently depending on the objectives.

Summary of Results

1. The education personnel in the Regional Education Offices had moderate level of needs for capacity development. The training needs were in the areas of writing project plans, monitoring and evaluation, education quality development, personality development, and English for communication respectively. Education personnel in the Provincial Education Offices also had moderate level of needs for capacity development. The training needs were in the areas of the on-the-job responsibilities in Provincial Education Offices, data and information management, financial management and budgeting, planning, plan implementation and management, and English for communication, respectively. The trainees had moderate level of needs for capacity development in general. The first 6 areas of needs for development include 1) educational planning for development; 2) statistics for education planning and information management; 3) education diagnosis; 4) situation analysis for policy options; 5) projection and simulation; 6) monitoring and evaluation of the education plan.

2. Eight (8) main strategic approaches for education personnel development in the Regional and Provincial Education Offices include 1) studying training needs for operational capacity development, in order to define training programme; 2) defining appropriate result-based training programme from the strategic approach which is feasible to be implemented; 3) conducting training workshop according to the programme, in correspondence with to the defined training needs; 4) adapting the training materials on education sector planning of UNESCO-IIEP in the designed programme; 5) comprehensively evaluating the training programme including the success of the programme, training results and ability to apply knowledge on the job after training; 6) conducting the training programme using operational research; 7) seeking co-hosts to form committee; 8) conducting capacity development programme systematically and continuously.

3. Defining conventional capacity development with result-based approach, following the strategic approach with clear objectives, key performance indicators, and monitoring plan. The feasible training workshop and operational research were implemented appropriately. Pre-training and post-training evaluation were conducted using the defined KPI and evaluation criteria. The training programme on “Education Sector Planning to Steer Education Reform for the Regional and Provincial Education Offices under Ministry of Education” was developed, aiming to build education personnel capacity in education planning, monitoring and evaluation and ability to apply knowledge on the job to enhance education reform.

4) In the first cycle, the Education Personnel Development Programme was implemented for 3 batches, including 134 participants. Overall, the programme was successful at very high level. However, significant limitation was recognized including inconsistency and ambiguity of the goals and key performance indicators of the project success, limited capacity to accommodate more participants, the content of the programme not covering responsibilities in support of education reform, limited training time unconducive to hands-on exercise, lack of guarantee for continuity, lack of systematic approach to follow-up and evaluate ability to apply knowledge on the job after training.

In the second cycle, the Education Personnel Development Programme was implemented for 1 batch including 39 participants. Taking into consideration, the drawbacks in the first cycle for improvement, overall, the programme was more successful at highest level. The participants had highest score in capacity development, and satisfaction with the training programme; after training, ability to apply knowledge on the job in support of education reform was high.

5) Results of the programme implementation and trainings demonstrated that education personnel development for the Regional and Provincial Education Offices was successful at the highest level with more strategic approach. That is using operational research in 2 cycles (15 activities in the first cycle and 4 activities in the second cycle), studying training needs and defining the training programme accordingly, adapting the training materials on education sector planning of UNESCO-IIEP in the designed programme, and taking into account drawbacks from the first cycle for improvements. The key performance indicators also showed the score at the highest level. The training workshop designed in correspondence with training needs helped participants to develop their knowledge and capacity according to the programme at the highest level. Ability to apply knowledge on the job was also at high level.

Lessons learned from “the Education Personnel Development Programme in Education Sector Planning to Steer Education Reform for the Personnel development under the Regional and Provincial Education Offices in Educational Planning Program to support driving Educational Reform in the Ministry of Education” could be applied in future implementation. It is noteworthy of 5 key principles: 1) personnel development programme should be implemented in correspondence with the Ministry of Education’s policies to steer education reform systematically and continuously; 2) the implementation of the programme should be strategically result-based, cost-effective and efficient with sufficient-good governance; 3) Training objectives should be defined according to research method for development; 4) Goals and relevant key performance indicators should be defined; 5) strategic approach should be defined as frameworks for development and be implemented with operational research methods. Adaptation of the UNESCO-IIEP training materials for Distance Education Programme on Education Sector Planning should be conducted in the form of committee and be prepared and implemented systematically. The personnel development system should be acknowledged by stakeholders; the programme implementation should be evaluated system-wide. Lessons learned from the development programme should be endorsed by responsible officers and all parties involved.

ความเป็นมาและความสำคัญ

การศึกษาภายใต้เศรษฐกิจโลกที่แข่งขันเสรีและไร้พรมแดนเป็นความท้าทายที่ประเทศ ต้องเผชิญ แรงกดดันจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศจากสภาพบริบทเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและของโลก ปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบการบริหารและการจัดการศึกษา ที่เป็นจุดอ่อนและอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา อาทิ ความแตกต่างในคุณภาพและมาตรฐานระหว่างสถานศึกษา การผลิตกำลังคนไม่สอดคล้องกับความต้องการ การว่างงานของบัณฑิต ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2560) การศึกษา จึงเป็นกลไกในการขจัดจุดอ่อนและอุปสรรคดังกล่าว รวมถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สามารถก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่พัฒนา

กระทรวงศึกษาธิการ เป็นส่วนราชการที่มีความสำคัญและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างทั่วถึง และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้พลเมืองมีคุณภาพ มีความสมานฉันท์ปรองดอง มีระเบียบวินัย มีความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ และความเป็นไทยสามารถเสริมสร้างความมั่นคงของชาติและศักยภาพในการแข่งขันให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา กำหนดทิศทางและสนับสนุนการวางแผนการศึกษา และบริหารจัดการทรัพยากรสำหรับการพัฒนาการศึกษาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นโยบายเร่งด่วนในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ตามนัยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2561 ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2561 กำหนดให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระดับภาคและระดับจังหวัด โดยมีภารกิจหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการจัดการศึกษา ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ นโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ และยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด มีสภาพเป็นหน่วยงานจัดตั้งใหม่ ภารกิจใหม่ และบุคลากรส่วนใหญ่ได้รับการเกลี่ยอัตรากำลังจากหน่วยงานทางการศึกษาที่มีอยู่เดิม ไม่มีประสบการณ์ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคที่เป็นภารกิจใหม่ และโดยที่ความสำเร็จของการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในภูมิภาค ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถและการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรเป็นสำคัญ

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้มีการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค โดยมอบหมายให้สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบและดำเนินการเป็นการเร่งด่วน โดยมีแนวทางการพัฒนาโดยใช้หลักสูตรการศึกษาทางไกล การวางแผนการศึกษาของสถาบันนานาชาติเพื่อการวางแผนทางการศึกษาของยูเนสโก (UNESCO - International Institute for Education Planning: IIEP) ภาคภาษาไทย ที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้วเป็นตัวแบบ ในภาวะของการพัฒนาการปฏิบัติงานปัจจุบัน การวิจัยปฏิบัติการเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาการปฏิบัติงาน ที่ดำเนินการควบคู่กับการพัฒนา การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรที่ดำเนินการด้วยการปฏิบัติจริง พัฒนาจากสภาพการปฏิบัติงานจริงและปฏิบัติได้จริง การใช้ข้อมูลความต้องการจำเป็นในการพัฒนาจะช่วยให้สามารถพัฒนาบุคลากรได้ตรงกับความรู้ความสามารถที่ต้องพัฒนา การพัฒนาการบริหารงานโดยใช้ตัวชี้วัดสามารถประเมินความสำเร็จของการพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม และการสะท้อนผลเพื่อการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในความสำเร็จ

ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ประสบความสำเร็จอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง บุคลากรมีความรู้ความสามารถด้านการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคได้จริง ประกอบกับยังไม่มีการดำเนินการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด โดยใช้การวิจัยปฏิบัติการมาก่อน จึงกำหนดให้การพัฒนาบุคลากรหลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาด้วยการวิจัยปฏิบัติการ

วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาความต้องการในการพัฒนาการปฏิบัติงานและความต้องการจำเป็นในการพัฒนาของบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

2. เพื่อศึกษาและกำหนดแนวทางที่เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาและการปรับใช้หลักสูตรการศึกษาทางไกลการวางแผนการศึกษาของสถาบันนานาชาติเพื่อการวางแผนทางการศึกษาของยูเนสโกในการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

3. เพื่อพัฒนาโครงการและหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดที่เหมาะสมและเป็นไปได้

4. เพื่อดำเนินการและประเมินผลการดำเนินโครงการและการฝึกอบรมตามหลักสูตร

5. เพื่อสะท้อนผลและถอดบทเรียนการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

เป้าหมาย

1. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีสารสนเทศความต้องการจำเป็นในการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในการปฏิบัติงานสนับสนุนการ

ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค

2. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีแนวทางที่เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ที่ปรับใช้หลักสูตรการศึกษาทางไกลการวางแผนการศึกษา

ของสถาบันนานาชาติเพื่อการวางแผนทางการศึกษาของยูเนสโกที่ปฏิบัติได้

3. การดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดประสบความสำเร็จ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความสามารถตามหลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค 4. บุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ที่เข้ารับการฝึกอบรมสามารถปรับใช้แนวทางการวางแผนและการจัดการศึกษาของสถาบันนานาชาติเพื่อการวางแผนทางการศึกษาของยูเนสโกในการปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค

5. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีบทเรียนการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดที่เหมาะสมและเป็นไปได้

ตัวชี้วัดหลักความสำเร็จ และค่าเป้าหมาย

1. ระดับความสำเร็จของการกำหนดโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80)

2. ระดับความสำเร็จของการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80)

3. สัดส่วนของบุคลากรกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสได้เข้ารับการฝึกอบรมตามโครงการ (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10)

4. ร้อยละของผู้ผ่านการฝึกอบรม มีคะแนนผลการประเมินความรู้ความสามารถ และ มีเวลาเข้ารับการฝึกอบรมตามเกณฑ์ (ร้อยละ 100)

5. คะแนนเฉลี่ยผลการประเมินการดำเนินการฝึกอบรมตามหลักสูตร (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80)

6. คะแนนเฉลี่ยผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีต่อการดำเนินโครงการและการฝึกอบรม (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80)

ขอบเขตการดำเนินการ

1. ศึกษาความต้องการในการพัฒนาการปฏิบัติงานของบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และศึกษาความต้องการจำเป็นในการพัฒนาของบุคลากรกลุ่มที่

สมัครเข้ารับการฝึกอบรมตามสาระความต้องการในการพัฒนาการปฏิบัติงาน

2. ศึกษาแนวทางที่เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาการปฏิบัติงานของบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ในภูมิภาคด้วยการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมการพัฒนา

3. กำหนดโครงการพัฒนาแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ตามแนวทางที่เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาและ

พัฒนาโครงการจากผลและปัญหาข้อขัดข้องของการดำเนินการในวงรอบที่ผ่านมา

4. พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมตามความต้องการจำเป็นในการพัฒนาของบุคลากรที่สมัครเข้ารับการพัฒนา และปรับใช้หลักสูตรการศึกษาทางไกล การวางแผนการศึกษาของของสถาบันนานาชาติ

เพื่อการวางแผนทางการศึกษาของยูเนสโก ทั้ง 6 หน่วยการเรียนรู้

5. ดำเนินการพัฒนาตามโครงการด้วยการวิจัยปฏิบัติการ 4 ขั้นการพัฒนา ได้แก่ การวางแผน การดำเนินการตามแผน การสังเกตและประเมินผล และการสะท้อนผลและถอดบทเรียน ดำเนินการพัฒนา 2 วงรอบ ประเมินความสำเร็จของโครงการตามตัวชี้วัดที่กำหนด และประเมินผลการฝึกอบรม ความรู้ความสามารถ ความพึงพอใจ และความสามารถนำความรู้ไปใช้

6. ถอดบทเรียนการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เกี่ยวกับ หลักการ วัตถุประสงค์ แนวทางที่เป็นกลยุทธการพัฒนา รวมทั้งกลไกและเงื่อนไขความสำเร็จของการพัฒนา

นิยามศัพท์เฉพาะ

การพัฒนาบุคลากร หมายถึง การพัฒนาความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานของบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

การสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา หมายถึง การการปฏิบัติงานเพื่อสนับ

สนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ตามบทบาทหน้าที่ของสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

โครงการพัฒนา หมายถึง โครงการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูป

การศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

หลักสูตร หมายถึง หลักสูตรฝึกอบรมการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ที่ใช้ในการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและจังหวัด ที่พัฒนาจากความต้องการของผู้เข้ารับการฝึกอบรมและการปรับใช้หลักสูตรการศึกษาทางไกล การวางแผนการศึกษาของสถาบันนานาชาติเพื่อการวางแผนทางการศึกษาของยูเนสโก (UNESCO- IIEP)

บทเรียนการพัฒนา หมายถึง ข้อสรุปเกี่ยวกับหลักการ เป้าหมาย แนวทางการพัฒนา รวมทั้งกลไกและเงื่อนไขความสำเร็จในการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

กรอบแนวคิดการดำเนินการ

การพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) “หลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค” เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน ตามกระบวนการวิจัยปฏิบัติการ กำหนดแนวคิดทั้งกระบวนการพัฒนาและผลการพัฒนา ดังแผนภาพที่ 1

วิธีดำเนินการ

ดำเนินการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคตามกระบวนการวิจัยปฏิบัติการ 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นวางแผน ขั้นดำเนินการตามแผน ขั้นสังเกตและประเมินผลและ ขั้นสะท้อนผลและถอดบทเรียนการพัฒนา ใน 2 วงรอบ วงรอบที่ 1 ดำเนินการ 14 กิจกรรม และวงรอบที่ 2 ดำเนินการ 6 กิจกรรม เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ครบถ้วนและผลการพัฒนาประสบความสำเร็จสูงสุด โดยแต่ละขั้นและกิจกรรมการพัฒนา กำหนดวิธีดำเนินการและวิธีการวิจัย ทั้งกลุ่มผู้ให้ข้อมูล เครื่องมือปฏิบัติการ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลไว้แตกต่างกันในแต่ละขั้นการพัฒนา ดังนี้

วงรอบที่ 1: ขั้นวางแผน ดำเนินการศึกษาความต้องการในการพัฒนาการปฏิบัติงานและความต้องการจำเป็นในการพัฒนาของบุคลากรผู้เข้ารับการฝึกอบรม ศึกษาแนวทางที่เป็นกลยุทธ์การพัฒนา และกำหนดโครงการพัฒนา ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรม คณะกรรมการโครงการและผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบปฏิบัติการ ประกอบด้วย แบบสำรวจออนไลน์ แบบประเมินความต้องการจำเป็น แบบปฏิบัติการจัดวางกลยุทธ์ แบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งทางออนไลน์และการประชุมปฏิบัติการ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพแบบอุปนัย และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ดัชนีความต้องการจำเป็นและดัชนีความสอดคล้องเป็นสถิติในการวิเคราะห์ ขั้นดำเนินการตามแผน ดำเนินการพัฒนาหลักสูตร เตรียมความพร้อมและดำเนินการตามโครงการและการฝึกอบรม ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ คณะกรรมการโครงการ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้ารับการฝึกอบรม เครื่องมือที่ใช้ ประกอบด้วย แบบปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตร แบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ของหลักสูตร และแบบตรวจสอบความพร้อมการจัดการฝึกอบรม เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการประชุมปฏิบัติการ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพแบบอุปนัยและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ใช้ค่าร้อยละและค่าเฉลี่ย เป็นสถิติในการวิเคราะห์ ขั้นสังเกตและประเมินผล ดำเนินการสังเกต บันทึกผล ประเมินความสำเร็จของโครงการและประเมินผลการฝึกอบรม ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ คณะกรรมการโครงการ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมและผู้เกี่ยวข้อง เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบสังเกตการปฏิบัติการตามโครงการ แบบสังเกตการฝึกอบรม แบบประเมินความสำเร็จของโครงการ และแบบประเมินผลการฝึกอบรม เก็บรวบรวมข้อมูลจากการร่วมกิจกรรมและการประเมินในชั้นเรียน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพแบบอุปนัย และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เป็นสถิติในการวิเคราะห์ และขั้นสะท้อนผล ดำเนินการสะท้อนผลและปัญหาการดำเนินการ โดยมี ผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการโครงการ เป็นผู้ให้ข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบปฏิบัติการสะท้อนผลเป็นเครื่องมือ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพแบบอุปนัย

วงรอบที่ 2: ขั้นวางแผน ดำเนินการทบทวนและปรับปรุงโครงการ ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่คณะกรรมการโครงการ เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบปฏิบัติการทบทวนโครงการ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการประชุมปฏิบัติการ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพแบบอุปนัย ขั้นดำเนินการตามแผน ดำเนินการทบทวนและปรับปรุงหลักสูตร โดยมีคณะกรรมการโครงการเป็นผู้ให้ข้อมูล เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบปฏิบัติ การทบทวนหลักสูตรและแบบตรวจสอบความพร้อมของการจัดการฝึกอบรม วิเคราะห์ข้อมูล เชิงคุณภาพแบบอุปนัยและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ใช้ค่าร้อยละเป็นสถิติในการวิเคราะห์ ขั้นสังเกตและประเมินผล ดำเนินการสังเกต บันทึกและประเมินผลการดำเนินการ ผู้ให้ข้อมูล ประกอบด้วย คณะกรรมการโครงการและผู้เข้ารับการฝึกอบรม เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสังเกต แบบประเมินโครงการ แบบประเมินผลการฝึกอบรม และแบบติดตามประเมินผล หลังการฝึกอบรมเก็บรวบรวมข้อมูลออนไลน์และเก็บในชั้นเรียน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพแบบอุปนัยและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เป็นสถิติในการวิเคราะห์ และขั้นสะท้อนผลและถอดบทเรียนการพัฒนา ดำเนินการสะท้อนผลการดำเนินการพัฒนา 2 วงรอบและถอดบทเรียนการพัฒนา ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการโครงการและผู้เกี่ยวข้อง เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบปฏิบัติการสะท้อนผลและแบบปฏิบัติการถอดบทเรียน และแบบสอบถาม เก็บรวมข้อมูลด้วยการประชุมปฏิบัติการ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพแบบอุปนัย ทั้งนี้ การดำเนินการในวงรอบที่ 2 กำหนดผู้ให้ข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติการ เก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะตามวัตถุประสงค์เฉพาะของแต่ละกิจกรรม

ผลการดำเนินการ

1. บุคลากรสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด มีความต้องการ ในการพัฒนาการปฏิบัติงานในระดับปานกลาง ผู้สมัครเข้ารับการพัฒนามีความต้องการจำเป็นในการพัฒนาในภาพรวมในระดับปานกลาง โดยมีความต้องการจำเป็นในการพัฒนาใน 6 อันดับแรก เกี่ยวกับ 1) การวางแผนการศึกษาเพื่อการพัฒนา 2) สถิติสำหรับการวางแผนการศึกษา และการจัดทำข้อมูลและสารสนเทศ 3) การวิเคราะห์ปัญหาสาขาการศึกษา 4) การวิเคราะห์และการพิจารณาทางเลือกนโยบาย 5) การคาดคะเนและการสร้างภาพอนาคต และ 6) การกำกับ ติดตามและประเมินผลแผนการศึกษา

2. แนวทางเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาบุคลากรสำนักงานศึกษาธิการภาคและจังหวัด 8 แนวทางที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ศึกษาความต้องในการพัฒนาการปฏิบัติงาน ความต้องการจำเป็นในการพัฒนาของบุคลากรที่สมัครเข้ารับการพัฒนาและแนวทางการพัฒนาเชิงกลยุทธ์เพื่อเป็นข้อมูล ในการกำหนดโครงการ 2) กำหนดโครงการพัฒนาจากแนวทางที่เป็นกลยุทธ์แบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ 3) พัฒนาบุคลากรด้วยการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการตามหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการจำเป็นในการพัฒนา เหมาะสมและเป็นไปได้ 4) ปรับใช้หลักสูตรและชุดฝึกอบรมการวางแผนการศึกษาของสถาบันนานาชาติเพื่อการวางแผนทางการศึกษา 5) การประเมินผลการพัฒนา ที่ครอบคลุมความสำเร็จของโครงการ ผลการฝึกอบรม และการนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน 6) ดำเนินการพัฒนาด้วยการวิจัยปฏิบัติการ 7) มีเจ้าภาพร่วมในการพัฒนาในรูปคณะกรรมการ และ 8) พัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

3. การกำหนดโครงการและการพัฒนาหลักสูตร 1) กำหนดโครงการพัฒนาแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ตามแนวทางเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนามีความชัดเจนในวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ตัวชี้วัดความสำเร็จ แผนกำกับโครงการ มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ และดำเนินการพัฒนาตามโครงการโดยการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและการวิจัยปฏิบัติการ ประเมินความพร้อมก่อนการดำเนินการ และประเมินความสำเร็จของโครงการตามตัวชี้วัดและเกณฑ์การประเมินที่กำหนด 2) พัฒนาหลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (UNESCO - IIEP Based Intensive Education Planning) จากข้อมูลความต้องการจำเป็นในการพัฒนา โดยการปรับใช้หลักสูตร มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ มุ่งให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความสามารถในการวางแผนการศึกษาและการติดตามประเมินผล สามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานได้จริง

4. ดำเนินการพัฒนาในภาพรวมในวงรอบที่ 1 ประสบความสำเร็จในระดับมาก ยังมีข้อจำกัดที่เป็นปัญหาสำคัญ คือ ความไม่ชัดเจนและความสอดคล้องของเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จ พัฒนาบุคลากรกลุ่มเป้าหมายได้จำนวนจำกัด หลักสูตรได้ไม่ครอบคลุมภารกิจการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา เงื่อนเวลาในการฝึกอบรมไม่เอื้อต่อการฝึกปฏิบัติจริง ขาดหลักประกันความต่อเนื่องของโครงการ และขาดการติดตามประเมินผลการนำความรู้ไปใช้จริงในการพัฒนาการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ การดำเนินโครงการในวงรอบที่ 2 มีการปรับปรุงโครงการและผลการดำเนินโครงการในภาพรวมประสบความสำเร็จมากขึ้นในระดับมากที่สุด การดำเนินการฝึกอบรมตามหลักสูตร ในวงรอบที่ 1 จำนวน 3 รุ่น 134 คน วงรอบที่ 2 จำนวน 1 รุ่น 39 คน การจัดกิจกรรมการฝึกอบรมทั้ง 4 รุ่นประสบความสำเร็จในระดับมากที่สุด ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีคะแนนการพัฒนาความรู้ความสามารถในระดับมากที่สุด พึงพอใจในการบริการการฝึกอบรมในระดับมากที่สุด และในวงรอบที่ 2 ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีการนำความรู้จากการฝึกอบรมไปใช้ในการปฏิบัติงานสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในระดับมาก

5. การปฏิบัติการสะท้อนผลการดำเนินการที่สำคัญคือ การดำเนินการพัฒนาบุคลากรสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดที่สำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม ต้องดำเนินการพัฒนาตามกระบวนการวิจัยปฏิบัติการ 4 ขั้น ใน 2 วงรอบการพัฒนา วงรอบที่ 1 ผลการดำเนินการ ในภาพรวมประสบความสำเร็จในระดับมาก การฝึกอบรมสำเร็จในระดับมากที่สุด มีข้อจำกัดที่เป็นปัญหาสำคัญหลายประการ การดำเนินการในวงรอบที่ 2 เมื่อมีการปรับปรุงโครงการและกิจกรรมการฝึกอบรมแล้ว ส่งผลให้การพัฒนาตามโครงการประสบความสำเร็จในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด การฝึกอบรมประสบความสำเร็จในระดับมากที่สุด ทั้งการจัดกิจกรรม การฝึกอบรม การพัฒนาความรู้ความสามารถของ ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ความพึงพอใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีการนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติจริง และลดข้อจำกัดในการดำเนินการลดลง

บทเรียนการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค การพัฒนาต้อง ยึดหลักความสอดคล้องกับนโยบาย เป็นระบบและต่อเนื่องด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการ จัดการโครงการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เชิงกลยุทธ์ ดำเนินการอย่างพอเพียงตามหลักธรรมาภิบาล และหลักประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและความคุ้มค่า โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของการพัฒนาทั้งกระบวนการ 5 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อศึกษาความต้องการในการพัฒนาการปฏิบัติงานและความต้องการจำเป็นในการพัฒนาของบุคลากร 2) เพื่อศึกษาและกำหนดแนวทางที่เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาและการปรับใช้หลักสูตรการศึกษาทางไกลการวางแผนการศึกษาของสถาบันนานาชาติเพื่อการวางแผนทางการศึกษาของยูเนสโก 3) เพื่อพัฒนาโครงการและหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ที่เหมาะสมและเป็นไปได้ 4) เพื่อให้บุคลากรกลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ความสามารถ ในการวางแผนการศึกษาและการติดตามประเมินผลแผนการศึกษาและสามารถปฏิบัติงานได้จริง และ 5) เพื่อสะท้อนผลและถอดบทเรียนการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด “หลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค” เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จที่สอดรับกับวัตถุประสงค์ ดำเนินการตามแนวทางที่เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนา 8 แนวทาง ได้แก่ 1) ศึกษาความต้องการจำเป็นในการพัฒนาของบุคลากรกลุ่มเป้าหมาย 2) ศึกษาแนวทางการพัฒนา ที่เป็นกลยุทธ์และกำหนดโครงการพัฒนาแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ 3) ดำเนินการพัฒนาบุคลากรตามกระบวนการวิจัยปฏิบัติการ 4) กำหนดหลักสูตรการพัฒนาและสาระความรู้ความสามารถจากข้อมูลความต้องการจำเป็น (5) เนินการฝึกอบเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม 6) ประเมินความเหมาะสมและความเป็น ไปได้ของโครงการและความเสี่ยงก่อนการดำเนินการ 7) ประเมินความสำเร็จของการพัฒนาทั้งกระบวนการและผลการพัฒนา 8) ถอดบทเรียนการพัฒนาเพื่อการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และปรับขั้นตอนการพัฒนาตามขั้นตอนการวิจัยปฏิบัติการ ประกอบด้วย ขั้นการวางแผน ขั้นการดำเนินการตามแผน ขั้นการสังเกตและประเมินผล และขั้นสะท้อนผลและถอดบทเรียนการพัฒนา โดยดำเนินการอย่างน้อย 2 วงรอบการพัฒนาเพื่อปรับปรุงวิธีการให้บังเกิดความสำเร็จสูงสุด และถอดบทเรียนการพัฒนาเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาครั้งต่อไป ทั้งนี้ ต้องดำเนินการภายใต้กลไก (1) การวิจัยปฏิบัติการ (2) การปรับใช้หลักสูตรตัวแบบ (3) การใช้เจ้าภาพรวมและดำเนินการในรูปคณะกรรมการ (4) การเตรียมการและการดำเนินการอย่างเป็นระบบ (5) บทเรียนการพัฒนาเป็นฉันทามติของผู้รับผิดชอบและผู้เกี่ยวข้อง โดยนโยบายการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาต้องมีความชัดเจนและต่อเนื่อง หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ การนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติจริง และบทเรียนการพัฒนาเป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

อภิปรายผล

โดยที่ผลการดำเนินการเป็นผลของการพัฒนาตามวัตถุประสงค์ทั้งกระบวนการ มีประเด็นนำมาอภิปรายผล ดังนี้

1. ดำเนินการพัฒนาตามกระบวนการวิจัยปฏิบัติการ 4 ขั้น คือ ขั้นวางแผน ขั้นดำเนินการตามแผน ขั้นสังเกต และขั้นสะท้อนผล ซึ่งได้มีการปรับชื่อขั้นที่ 3 เป็นขั้นสังเกตและประเมินผล และ ขั้นที่ 4 เป็นขั้นสะท้อนผลและถอดบทเรียนการพัฒนา เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการพัฒนามากขึ้น ดำเนินการในแต่วงรอบมีกิจกรรมการดำเนินการไม่เท่ากัน วงรอบที่ 1 จำนวน 14 กิจกรรม วงรอบที่ 2 จำนวน 6 กิจกรรม รวม 20 กิจกรรม วงรอบที่ 2 จำนวนขั้นตอนคงเดิมแต่จำนวนกิจกรรมลดลงเนื่องจากหลายกิจกรรมได้ดำเนินการในวงรอบที่ 1 แล้วไม่ต้องดำเนินการอีก ดังนั้น ในวงรอบที่ 2 จึงเน้นการทบทวนโครงการ การทบทวนหลักสูตรฝึกอบรม การสังเกตและประเมินผล และการสะท้อนผลและถอดบทเรียนการพัฒนา เหตุผลที่ต้องดำเนินการเพียง 2 วงรอบ เนื่องจากการดำเนินการพัฒนาได้ประสบความสำเร็จ และลดข้อจำกัดที่ควบคุมได้ครบถ้วนแล้ว นอกจากนั้น ขั้นตอนการพัฒนา ยังสอดคล้องกับกระบวนการพัฒนาตามวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (PDCA) ที่นิยมใช้กันทั่วไป ได้แก่ 1) ขั้นการวางแผน 2) ขั้นการปฏิบัติ 3) ขั้นการตรวจสอบ 4) ขั้นการปรับปรุง เพียงแต่การปฏิบัติการ ในครั้งนี้ ได้เปลี่ยนขั้นตรวจสอบ (Check) เป็นขั้นสังเกตและประเมินผล ซึ่งมีลักษณะเป็นรวบรวมและตรวจสอบผลการดำเนินการ และเปลี่ยนขั้นการปฏิบัติ (Act) เป็นขั้นสะท้อนผลและถอดบทเรียนการพัฒนา ซึ่งมีลักษณะการนำเสนอ รับทราบและพิจารณาข้อจำกัดต่างเพื่อการปรับปรุงพัฒนา เช่นกัน การดำเนินการได้เน้นการถอดบทเรียนการพัฒนา ซึ่งนอกจากจะเป็นการสรุปผลเพื่อปรับปรุงพัฒนาแล้ว ยังได้ข้อสรุปที่เป็นความรู้ใหม่ตามวัตถุประสงค์สำคัญของการดำเนินการอีกด้วย อย่างไรก็ตามควรมีการพัฒนาบุคลากรทั้งในส่วนบุคคลและการพัฒนาหน่วยงานควบคู่กันไป จะต้องมีการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรรายบุคคล กลุ่มงาน และภาพรวมทั้งองค์การ เพื่อวิเคราะห์จุดเด่น จุดที่ควรปรับปรุง ซึ่งจะต้องเป็นการระดมความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านทักษะ ความรู้และคุณลักษณะ ทัศนคติ และแรงกระตุ้นในการทำงานให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต อันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและผลผลิตของงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. การดำเนินการพัฒนาได้ดำเนินการพัฒนาทั้งกระบวนการ มีการศึกษาความต้องการจำเป็นในการพัฒนา ศึกษาแนวทางที่เป็นกลยุทธ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา กำหนดโครงการพัฒนาจากแนวทางที่เป็นกลยุทธ์และพัฒนาหลักสูตรตามความต้องการจำเป็นในการพัฒนา สอดคล้องกับแนวคิดในการพัฒนาบุคลากรโดยการฝึกอบรมตามมาตรฐาน ISO 10015 Quality Management –Guidelines for Training ที่เป็นมาตรฐานสากลที่กำหนดแนวทางการฝึกอบรมบุคลากร ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ กำหนดความต้องการฝึกอบรม (Define Training Needs) ออกแบบและวางแผนฝึกอบรม (Design and Plan Training) จัดฝึกอบรม (Provide for Training) และประเมินผลการฝึกอบรม (Evaluate Training Outcomes) และสอดคล้องกับการวิจัยของนักวิชาการหลายคน เช่น งานวิจัยของ ม่อนถิ่น นพคุณ (2551) ที่ทำการศึกษาสภาพการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาคุรุ-แม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาบุคลากร พิมพ์ลักษณ์ เฮงสมบูรณ์ (2551) ได้ประเมินความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพ วิเคราะห์ปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครูมืออาชีพและแนวทาง ที่เหมาะสมในการพัฒนาครูมืออาชีพและใช้เทคนิค PNI Modified และงานวิจัยของ นุชนาถ ชุมแก้ว (2550) และอดุลย์ ศรีรักษ์ (2552) ซึ่งได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาเฉพาะเพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการพัฒนา นอกจากนั้น การศึกษาความต้องการจำเป็นในการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดก่อนดำเนินการพัฒนา ยังสอดคล้องกับงานวิจัยของ สุธีรา ใจดี (2551) ทำการศึกษาเรื่อง บทบาทสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ในการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น พบว่า ความต้องการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อยู่ ในระดับมาก โดยบุคลากรท้องถิ่นมีความต้องการได้รับพัฒนาด้านการฝึกอบรมมากที่สุด ต้องการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในสายงานที่ตนปฏิบัติอยู่ และฝึกอบรมในหลักสูตรที่ทันสมัย องค์ ความรู้ใหม่ๆ สามารถนำมาปรับใช้กับการปฏิบัติงานได้

3. จากผลการปฏิบัติการ บุคลากรสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด พบว่า มีความต้องการในการพัฒนาการปฏิบัติงานในระดับปานกลาง อาจเนื่องจากเป็นการสำรวจในภาพกว้างจากบุคลากรทุกกลุ่มงาน จึงมีความต้องการในการพัฒนาแตกต่างหลาย ค่าเฉลี่ย ในภาพรวมจึงอยู่ในระดับต่ำ แนวทางที่เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาสำคัญที่พบ คือ พัฒนาบุคลากรด้วยการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการตามหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการจำเป็นในการพัฒนาโดยปรับใช้หลักสูตรทางไกลและชุดฝึกอบรมการวางแผนการศึกษาของสถาบันนานาชาติเพื่อการวางแผนทางการศึกษา(UNESCO-IIEP) ดำเนินการพัฒนาด้วยการวิจัยปฏิบัติการ มีเจ้าภาพร่วมในการพัฒนา และพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ได้นำมาใช้เป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินการครั้งนี้ ทั้งกระบวนการ และการกำหนดโครงการพัฒนาแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ มีความชัดเจนในวัตถุประสงค์ เป้าหมายตัวชี้วัดความสำเร็จเพื่อให้สามารถประเมินความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม การดำเนินโครงการ มีขั้นการบันทึกและประเมินผล เป็นการรวบรวมผลการดำเนินการทั้งกระบวนการเพื่อการประเมินผล และการประเมินโครงการได้ทำการประเมินเป็น 2 ส่วน คือ ประเมินความสำเร็จของโครงการในภาพรวม และประเมินผลการฝึกอบรม ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของการพัฒนาตามโครงการ นอกจากนั้น ยังกำหนดให้มีแผนกำกับโครงการที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนโครงการ มีการประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการก่อนดำเนินโครงการ พัฒนาหลักสูตร การพัฒนาบุคลากรตามหลักสูตรด้วยการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่เน้นการฝึกปฏิบัติจริง มีการประเมินความพร้อมหรือประเมินความเสี่ยงก่อนการดำเนินการ และประเมินความสำเร็จตามตัวชี้วัดและเกณฑ์การประเมินที่กำหนด รวมทั้งประเมินความรู้ความสามารถของผู้เข้ารับการฝึกอบรมตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

4. ผลการดำเนินการตามโครงการ วงรอบที่ 2 ประสบความสำเร็จในระดับมากที่สุด การจัดกิจกรรมตามหลักสูตรสำเร็จในระดับมากที่สุด ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีคะแนนการพัฒนาความรู้ความสามารถในระดับมากที่สุด มีความพึงพอใจในการบริการการฝึกอบรมในระดับมากที่สุด และ การนำความรู้จากการฝึกอบรมไปใช้ในการปฏิบัติงานสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในระดับมาก แสดงให้เห็นว่า เมื่อปรับปรุงโครงการและกิจกรรมการฝึกอบรมแล้ว การดำเนินการตามโครงการและ การฝึกอบรมจะประสบความสำเร็จมากขึ้น นอกจากนั้น บทเรียนการพัฒนาบุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หลักสูตรการวางแผนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เป็นการสรุปและนำเสนอผลการดำเนินงาน ทั้งหลักการ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิธีดำเนินการ กลไกและเงื่อนไขความสำเร็จที่เป็น ตัวขับเคลื่อน และบทเรียนการพัฒนาจะช่วยให้เกิดความต่อเนื่อง

ข้อเสนอแนะ

1. บุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ควรให้ความสำคัญและความร่วมมือในการพัฒนาความรู้ ความสามารถและเป็นเครือข่ายสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

2. การพัฒนาบุคลากรสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ควรดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเพื่อให้มีความสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ดำเนินการแบบมีส่วนร่วม และควรดำเนินการด้วยการวิจัยปฏิบัติการ

3. กระทรวงศึกษาธิการควรใช้บทเรียนการพัฒนาครั้งนี้ เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายการพัฒนาบุคลากรเพื่อการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคและสนับสนุนการพัฒนาระบบ และรูปแบบการพัฒนาบุคลากรที่เป็นรูปธรรม ส่งเสริมการใช้กระบวนการ

วิจัยปฏิบัติการในการพัฒนาการปฏิบัติงานให้มากขึ้น และครอบคลุมทุกภารกิจในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

บรรณานุกรม

“การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ”. (3 เมษายน 2561) ราชกิจจานุเบกษา.

เล่ม 134 ตอนพิเศษ 96 ง. หน้า 14-22.

ณิชิรา ชาติกุล. (2552). การประเมินความต้องการจำเป็นเพื่อการพัฒนาสมรรถนะด้านการประเมิน

ผลการเรียนรู้ของครูสังคมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาการสอนสังคมศึกษา. คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นุชนาถ ชุมแก้ว (2550). การพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษาเอกชน จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์

ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.

พิมพ์ลักษณ์ เฮงสมบูรณ์. (2551). การวิจัยประเมินความต้องการจำเป็นแบบสมบูรณ์เพื่อพัฒนา ครูมืออาชีพ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาการวัดและประเมินผลการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ม่อนถิ่น นพคุณ. (2551). การพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพ การศึกษาคุรุ–แม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สุธีรา ใจดี (2551) ทำการศึกษาเรื่อง บทบาทสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ในการ พัฒนาบุคลากรท้องถิ่น. รายงานการศึกษาส่วนบุคคล (รป.ม.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2560). แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560–2579. กรุงเทพฯ : บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.

อดุลย์ ศรีรักษ์. (2552). การพัฒนาแนวทางการพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษาขนาดเล็ก สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพระนครศรีอยุธยาเขต 1 และเขต 2 : กรณีศึกษาโรงเรียนวัดท่าใหม่ โรงเรียนวัดศรีภวังค์ และโรงเรียนวัดลาดระโหง. วิทยานิพนธ์ ปริญญาครุศาสตร์มหาบัณฑิต การบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.

International Organization for Standardization. Quality management-guideline for

training. ISO 10015:1999.

----------------------------

โพสต์โดย Chantaka : [14 ธ.ค. 2561 เวลา 08:37 น.]
อ่าน [5365] ไอพี : 49.229.71.250
หากข้อความนี้ไม่เหมาะสม คลิก คลิกปุ่มนี้ หากเห็นว่าข้อความนี้ไม่เหมาะสม
 
 

โปรดอ่านกฎกติกาก่อนแสดงความเห็น
1. ข้อความของท่านจะขึ้นแสดงโดยอัตโนมัติทันทีที่ได้รับข้อมูล
2.
ห้ามโพสต์ ข้อความยั่วยุให้เกิดความรุนแรงทางสังคม ข้อความที่ก่อให้เกิดความเสียหายและเสื่อมเสียต่อบุคคลที่สาม, เบอร์โทรศัพท์,
รูปภาพที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชนหรือภาพลามกอนาจาร หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
ขอให้ผู้ตั้งกระทู้รับผิดชอบตัวเอง
และรับผิดชอบต่อสังคม ถ้ารูปภาพ หรือข้อความใดส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น ทีมงานพร้อมจะส่งรายละเอียดให้เจ้าหน้าที่
เพื่อตามจับตัวผู้กระทำผิดต่อไป

3.
สมาชิกที่โพสต์สิ่งเหล่านี้ อาจถูกดำเนินคดีทางกฎหมายจากผู้เสียหายได้
4. ไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาสินค้าใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม
5. ทุกความคิดเห็นเป็นข้อความที่ทางผู้เยี่ยมชมเข้ามาร่วมตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ ทางเว็บไซต์ kroobannok.com ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น
6. ทางทีมงานขอสงวนสิทธิ์ในการลบกระทู้ที่ไม่เหมาะสมได้ทันที โดยไม่ต้องมีการชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของความเห็นนั้นทั้งสิ้น

7. หากพบเห็นรูปภาพ หรือข้อความที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งมาที่อีเมล์ kornkham@hotmail.com เพื่อทำการลบออกจากระบบต่อไป


 ** พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐**

ขออภัยในความไม่สะดวก เนื่องจากเราประสบปัญหา
มีผู้โพสต์ข้อความที่หมิ่นเหม่และไม่เหมาะสมเป็นจำนวนมาก
ครูบ้านนอกดอทคอมจึงขอความร่วมมือสมาชิก
กรุณาเข้าสู่ระบบก่อนแสดงความเห็นครับ


  

สมัครสมาชิกใหม่
 

 

Advertisement

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

เปิดอ่าน 16,548 ครั้ง
กบฏสร้างสรรค์ทางการศึกษา
กบฏสร้างสรรค์ทางการศึกษา

เปิดอ่าน 988 ครั้ง
เครื่องหมาย ฯลฯ (ไปยาลใหญ่ หรือ เปยยาลใหญ่)
เครื่องหมาย ฯลฯ (ไปยาลใหญ่ หรือ เปยยาลใหญ่)

เปิดอ่าน 19,094 ครั้ง
ชุดประจำชาติที่ ‘น้องไข่มุก’ ใส่ประกวดมิสยูนิเวิร์สปีนี้
ชุดประจำชาติที่ ‘น้องไข่มุก’ ใส่ประกวดมิสยูนิเวิร์สปีนี้

เปิดอ่าน 75,446 ครั้ง
พื้นที่ของรูปหลายเหลี่ยม
พื้นที่ของรูปหลายเหลี่ยม

เปิดอ่าน 9,089 ครั้ง
กังนัมสไตล์เริ่ด ฮิตยันไฮโซอังกฤษ เด็กอีตันยังเลียนแบบ
กังนัมสไตล์เริ่ด ฮิตยันไฮโซอังกฤษ เด็กอีตันยังเลียนแบบ

เปิดอ่าน 20,413 ครั้ง
ฝนดาวตกสิงโต
ฝนดาวตกสิงโต

เปิดอ่าน 10,937 ครั้ง
เล่น... พัฒนาอัจฉริยภาพ
เล่น... พัฒนาอัจฉริยภาพ

เปิดอ่าน 13,987 ครั้ง
DLIT รวมชุดสื่อการสอนเรื่อง "ไข้เลือดออก" ไว้ให้แล้ว ครูใช้สอนนักเรียนได้เลย
DLIT รวมชุดสื่อการสอนเรื่อง "ไข้เลือดออก" ไว้ให้แล้ว ครูใช้สอนนักเรียนได้เลย

เปิดอ่าน 122,059 ครั้ง
เตือนภัย "ถ่ายเป็นเลือด" ระวังโรคแฝง...ร้ายแรงถึงชีวิต!!
เตือนภัย "ถ่ายเป็นเลือด" ระวังโรคแฝง...ร้ายแรงถึงชีวิต!!

เปิดอ่าน 8,088 ครั้ง
พ่อแม่สามารถส่งความรู้สึกให้ลูกก่อนเกิดได้
พ่อแม่สามารถส่งความรู้สึกให้ลูกก่อนเกิดได้

เปิดอ่าน 17,727 ครั้ง
ดวงจันทร์ (Moon)
ดวงจันทร์ (Moon)

เปิดอ่าน 26,657 ครั้ง
การเรียนการสอนทางไกลแบบปฏิสัมพันธ์
การเรียนการสอนทางไกลแบบปฏิสัมพันธ์

เปิดอ่าน 31,230 ครั้ง
ทำไมคนเราต้องกระพริบตา
ทำไมคนเราต้องกระพริบตา

เปิดอ่าน 2,857 ครั้ง
นัยสำคัญยุทธศาสตร์การศึกษาในพลวัตศตวรรษที่ 21 สู่การเป็นประชาคมอาเชียน อย่างยั่งยืนสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไทย
นัยสำคัญยุทธศาสตร์การศึกษาในพลวัตศตวรรษที่ 21 สู่การเป็นประชาคมอาเชียน อย่างยั่งยืนสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไทย

เปิดอ่าน 13,681 ครั้ง
ข่าวจริง! การใส่หน้ากากอนามัย ส่งผลร้ายต่อการทำงานของสมองของเด็กต่ำกว่า 12 ปี
ข่าวจริง! การใส่หน้ากากอนามัย ส่งผลร้ายต่อการทำงานของสมองของเด็กต่ำกว่า 12 ปี

เปิดอ่าน 16,933 ครั้ง
11 เว็บไซต์เรียนภาษาสุดเจ๋ง ที่คนอยากเก่งอังกฤษไม่ควรพลาด!
11 เว็บไซต์เรียนภาษาสุดเจ๋ง ที่คนอยากเก่งอังกฤษไม่ควรพลาด!
เปิดอ่าน 10,512 ครั้ง
5 ซุปเปอร์ฟู้ดส์...ที่สาวๆ ขาดไม่ได้
5 ซุปเปอร์ฟู้ดส์...ที่สาวๆ ขาดไม่ได้
เปิดอ่าน 15,792 ครั้ง
คลิป โอบามา เต้นกังนัมสไตล์
คลิป โอบามา เต้นกังนัมสไตล์
เปิดอ่าน 29,407 ครั้ง
โลกธรรม 8
โลกธรรม 8
เปิดอ่าน 23,226 ครั้ง
เทควันโด : ประวัติกีฬาเทควันโด
เทควันโด : ประวัติกีฬาเทควันโด

รายการหลัก

หน้าแรก
ข่าว/บทความ
สมุดเยี่ยม
กระดานสนทนา
เว็บลิงค์
ผู้จัดทำเว็บครูบ้านนอก
ข้อมูลบุคคล
ภาพกิจกรรม
ผู้สนับสนุน

สมาชิก

เข้าสู่ระบบ
คุณครูต้องรู้ไว้
รวมแบบฟอร์มต่างๆ

เว็บน่าสนใจ

เว็บไซต์ สพฐ.
กระทรวงศึกษาธิการ
เครื่องมือวิทยาศาสตร์
เครื่องมือวัด
เครื่องมืออุตสาหกรรม
เกมส์
แหล่งรวมเกมส์

แหล่งรวมเกมส์
สพป.มุกดาหาร



 เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ คลายเครียด

เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้
      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ