การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 5 ประการคือ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาและระดับการปฏิบัติการบริหารโรงเรียนคลองลาดกระบัง เพื่อพัฒนาครูสู่ความเป็นมืออาชีพ ก่อนการพัฒนา 2) เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารโรงเรียนคลองลาดกระบังเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาครูสู่ความเป็นมืออาชีพ 3) เพื่อศึกษาผลการปฏิบัติในการบริหาร โดยใช้รูปแบบการบริหารโรงเรียนคลองลาดกระบังเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาครูสู่ความเป็นมืออาชีพ 4) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและคุณภาพของนักเรียน 5) เพื่อศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการบริหารโรงเรียนคลองลาดกระบังเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาครูสู่ความเป็นมืออาชีพ โดยประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนคลองลาดกระบัง ระหว่างปีการศึกษา 2559 2560 จำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) คณะครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวน 14 คน 2) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 7 คน 3) คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง จำนวน 16 คน 4) ผู้ปกครอง จำนวน 110 คน 5) นักเรียนจำนวน 154 คน และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสรุปผลการศึกษาเอกสาร แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 5 ชุด แบบบันทึกข้อมูลการประชาพิจารณ์ แบบบันทึกข้อมูลการสนทนากลุ่ม แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบ แบบบันทึกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนคลองลาดกระบัง แบบบันทึกคุณภาพของนักเรียนโรงเรียนคลองลาดกระบังและแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครอง
ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 1 ผลการศึกษาวิเคราะห์เอกสารพบว่าสภาพปัจจุบันปัญหา ในการดำเนินการการบริหารโรงเรียนเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาครูสู่ความเป็นมืออาชีพ ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) โรงเรียนมีทรัพยากร บุคลากร วัสดุอุปกรณ์และระบบเทคโนโลยีที่ยังไม่เพียงพอและเหมาะสม แต่จุดเด่นคือ ผู้ปกครองและชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโรงเรียน ด้านกระบวนการ (Process) การบริหารโรงเรียน เพื่อพัฒนาครูสู่ความเป็นมืออาชีพ ยังทำได้ไม่ชัดเจน ไม่เป็นระบบ หลักสูตรสถานศึกษายังไม่ได้ปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน กระบวนการจัดการเรียนรู้ยังไม่เหมาะสมกับการเรียนรู้ สภาพแวดล้อม แหล่งเรียนรู้ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมกับการจัดการเรียนรู้ ด้านผลผลิต (Output) คุณภาพการจัดการศึกษายังต้องได้รับการพัฒนาทั้งในด้านผู้เรียน ครูผู้สอน ระบบการบริหารจัดการ อาคารสถานที่และการจัดการเรียนรู้ ด้านผลกระทบ (Outcome) ครูมีทัศนคติเชิงลบในการพัฒนาด้านวิชาการ ครูส่วนใหญ่ไม่ต้องการไปอบรมเพื่อพัฒนาทักษะหรือความรู้เพิ่มเติม ผลการวิเคราะห์ระดับการปฏิบัติการบริหารโรงเรียน เพื่อพัฒนาครูสู่ความเป็นมืออาชีพของโรงเรียนคลองลาดกระบัง ก่อนการพัฒนาพบว่าระดับการปฏิบัติก่อนการพัฒนา โดยภาพรวม มีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง
ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 2 รูปแบบการบริหารโรงเรียนคลองลาดกระบังเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาครูสู่ความเป็นมืออาชีพ ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลและผ่านการประเมินความเป็นไปได้ ในการใช้ ดำเนินการโดยการประชาพิจารณ์ การสนทนากลุ่มและประเมินความเหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วย 6 ขั้นตอน CASE Model คือ 1) รวบรวมข้อมูล (Collect Data) 2) วิเคราะห์และจำแนกข้อมูล (Analysis and identify) 3) จัดระบบงาน (Setting System) 5) ประเมินผลภาพรวมการพัฒนา (Evaluation)
ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 3 ผลการปฏิบัติในการบริหารโรงเรียน โดยใช้รูปแบบ การบริหารโรงเรียนคลองลาดกระบังเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาครูสู่ความเป็นมืออาชีพ พบว่าผลการพัฒนาโดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุดและเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ โดยภาพรวมมีผลการพัฒนาอยู่ในระดับมาก ด้านการกำหนดทิศทางขององค์กร โดยภาพรวมมีผลการพัฒนา อยู่ในระดับมาก ด้านการกำหนดกลยุทธ์ โดยภาพรวมมีผลการพัฒนา อยู่ในระดับมาก ด้านการนำรูปแบบสู่การปฏิบัติ โดยภาพรวม มีผลการพัฒนาอยู่ในระดับมาก ด้านการควบคุมและประเมินผลรูปแบบ โดยภาพรวมมีผลการพัฒนาอยู่ในระดับมาก
ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 4 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน จากการใช้รูปแบบการบริหารโรงเรียนคลองลาดกระบังเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาครูสู่ความเป็นมืออาชีพ พบว่า โดยภาพรวม มีผลการพัฒนาอยู่ในระดับสูงขึ้นทุกชั้น และเมื่อพิจารณาเป็นรายชั้นเรียน โดยเรียง ตามชั้นเรียนที่มีการพัฒนาสูงกว่าค่าเฉลี่ยรวม ได้แก่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตามลำดับ ส่วนคุณภาพของนักเรียนโรงเรียนคลองลาดกระบัง พบว่า นักเรียนมีร้อยละของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน จากการใช้รูปแบบการบริหารโรงเรียนคลองลาดกระบังเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาครูสู่ความเป็นมืออาชีพ พบว่า โดยภาพรวม มีผลการพัฒนา อยู่ในระดับสูงขึ้นทุกมาตรฐาน
ผลการวิจัยวัตถุประสงค์ที่ 5 ความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการบริหารโรงเรียน คลองลาดกระบังเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาครูสู่ความเป็นมืออาชีพ พบว่าผลความพึงพอใจต่อรูปแบบ การบริหารโรงเรียนคลองลาดกระบังเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาครูสู่ความเป็นมืออาชีพ โดยภาพรวม อยู่ในระดับมากและเมื่อพิจารณารายกลยุทธ์ พบว่า กลยุทธ์ที่ 1 การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ โดยรวม มีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีความพึงพอใจมากที่สุด ในประเด็น 1) ครูสอนให้นักเรียนทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข 2) ครูมีสื่อการสอนและอุปกรณ์ ที่น่าสนใจ มีความหลากหลาย 3) ครูใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยในการสอนนักเรียน 4) ครูมีการเตรียมตัวก่อนสอนเป็นอย่างดี 5) ครูมีวิธีสอนให้นักเรียนเป็นคนดี กลยุทธ์ที่ 2 การพัฒนาครูด้วยเครือข่ายการเรียนรู้ โดยรวมมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีความพึงพอใจมากที่สุด ในประเด็น ครูมีการแลกเปลี่ยนความรู้กับครูท่านอื่น ๆ และกลยุทธ์ที่ 3 การพัฒนาครู สู่นักวิจัยในชั้นเรียน โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีความพึงพอใจมากที่สุด ในประเด็น ครูมีการแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือนักเรียน