ปฏิรูปการศึกษาคสช."สอบตก"

#showpic

ครุศาสตร์จุฬาฯให้คะแนน3เต็ม10/แนะเลิกโอเน็ต-พิซาหันมาใส่ใจตัวเด็ก-ห้องเรียน

อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ให้คะแนนปฏิรูปการศึกษา คสช. 3 เต็ม 10 แนะผลงานยังเน้นนโยบาย ไม่พูดถึงเด็ก ไม่พูดถึงห้องเรียน เด็กได้รับประโยชน์น้อยที่สุด แนะยกเลิกสอบโอเน็ต PISA เพราะไม่ใช่ปฏิรูปการศึกษา แต่เป็นปฏิรูปติวเข้ม ทำสังคมล้มเหลว เด็ก 30-40% คร่ำเคร่งสอบ แต่อีก 60% หนีระบบทดสอบ กลายเป็นแม่วัยใส เด็กแว้น ด้านผลสำรวจ Education Watch ช่วยกระหน่ำ พบ 66% เห็นว่าพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน/นักศึกษาด้อยลง

ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดโครงการเสวนาและผลการสำรวจ Education Watch "3 ปี 3 รัฐมนตรี เหลียวหลังแลหน้า ปฏิรูปการศึกษาไทยไปถึงไหนแล้ว" โดยนายศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ทางคณะครุศาสตร์ได้ติดตามสถานการณ์การศึกษา พร้อมทั้งจัดทำการสำรวจ Education Watch โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,177 คน อายุเฉลี่ยประมาณ 50-60 ปี ถึงการรับรู้การเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษา 4 มิติ ดังนี้ มิติที่ 1 ด้านห้องเรียนและนักเรียน/นักศึกษา พบว่า ร้อยละ 51 รับรู้ว่าโครงสร้างพื้นฐาน สภาพห้องเรียน อุปกรณ์การศึกษาและสิ่งอำนวยความสะดวกดีขึ้น แต่ในส่วนของพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน/นักศึกษา พบว่า ร้อยละ 66 เห็นว่าพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน/นักศึกษาด้อยลง ร้อยละ 16 เห็นว่าดีขึ้น ด้านจริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน/นักศึกษา พบว่า ร้อยละ 64 เห็นว่าด้อยลง ร้อยละ 16 เห็นว่าดีขึ้น และความสามารถด้านวิชาการของนักเรียน/นักศึกษา พบว่า ร้อยละ 46 ด้อยลง และร้อยละ 32 ดีขึ้น มิติที่ 2 ด้านครู พบว่า คุณภาพการสอนครูร้อยละ 42 ดีขึ้น และร้อยละ 38 เหมือนเดิม ส่วนพฤติกรรมการทำงานของครู พบว่า ร้อยละ 37 ดีขึ้น และร้อยละ 37 เหมือนเดิม และคุณภาพชีวิตครู พบว่า ร้อยละ 35 เหมือนเดิม และร้อยละ 32 ดีขึ้น

มิติที่ 3 ด้านผู้บริหารสถานศึกษา พบว่า พฤติกรรมการบริหาร ร้อยละ 40 รับรู้ว่าเหมือนเดิม และร้อยละ 33 ดีขึ้น ส่วนคุณภาพการบริหารโรงเรียน ร้อยละ 37 มีคุณภาพเท่าเดิม และร้อยละ 37 ดีขึ้น และสุดท้ายมิติที่ 4 การจัดการเชิงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พบว่า การทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 45 รับรู้ว่าเหมือนเดิม ร้อยละ 24 ดีขึ้น คุณภาพการบริหารงานของ ศธ. พบว่า ร้อยละ 46 ด้อยลง และร้อยละ 33 เท่าเดิม การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร ศธ. พบว่า ร้อยละ 47 ด้อยลง และร้อยละ 22 ดีขึ้น และผลงานการปฏิรูปการศึกษาโดยรวม พบว่า ร้อยละ 44 ด้อยลง และร้อยละ 19 ดีขึ้น โดยบรรยากาศความร่วมมือในการแสดงความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ร้อยละ 36 รับรู้ว่าเหมือนเดิม และร้อยละ 32 ดีขึ้น กลไกของหน่วยงานกำหนดทิศทางและกฎหมาย ร้อยละ 35 ด้อยลง และร้อยละ 24 ดีขึ้น การบริหารตามนโยบายของ 3 รัฐมนตรี ร้อยละ 44 ด้อยลง และร้อยละ 21 ดีขึ้น ความยั่งยืนและความต่อเนื่องของการปฏิรูปการศึกษา ร้อยละ 45 รับรู้ว่าด้อยลง และร้อยละ 18 รับรู้ว่าดีขึ้น

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ลำดับแรก การเปลี่ยนแปลงตัวนักเรียน ได้แก่ พฤติกรรมการเรียน ร้อยละ 75 จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ร้อยละ 71 และความสามารถทางวิชาการ ร้อยละ 67 ลำดับที่ 2 การเปลี่ยนแปลงการแก้ไขทุจริตคอร์รัปชันในวงการศึกษา ร้อยละ 71 การเร่งให้เกิดผลงานการปฏิรูปการศึกษาโดยรวม ร้อยละ 70 ปรับคุณภาพการบริหารงานระดับกระทรวง ร้อยละ 66 ความยั่งยืนของการปฏิรูปการศึกษา ร้อยละ 64 กลไกของหน่วยงานกำหนดทิศทางและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น สปท. สนช. ร้อยละ 52 ลำดับที่ 3 ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านครู คุณภาพชีวิตครู ร้อยละ 56 พฤติกรรมการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษา ร้อยละ 56 คุณภาพการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา ร้อยละ 56 พฤติกรรมการทำงานของครู ร้อยละ 54 และคุณภาพการสอนของครู ร้อยละ 52

คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงต้องปฏิรูปที่วิธีสอนของครู และวิธีเรียนรู้ของผู้เรียนในห้องเรียนให้ได้ ต้องอำนวยให้ครูได้ทำหน้าที่จัดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ one size fit all อีกทั้งยังต้องเปลี่ยนวิธีบริหารและธรรมาภิบาลของผู้บริหารการศึกษาให้ได้ และกระจายอำนาจมาที่สถานศึกษามากขึ้นทุกด้าน รวมถึงควรปรับหลักสูตร ให้เน้นการปฏิบัติให้ทำได้จริง ซึ่งจากนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ไม่ได้ทำให้เด็กเรียนลดลง เพราะการเรียนก็ยังคงมากอยู่เช่นเดียวกับการสอบที่มากเกินไป รวมถึงไม่ควรนำการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA มาเป็นเครื่องวัดมาตรฐานการศึกษาสำหรับทุกคน แต่ควรกำหนดเป้าหมายการศึกษาสำหรับแต่ละกลุ่มประชากร

และในการเสวนาภายใต้หัวข้อ "3 ปี 3 รัฐมนตรี เหลียวหลังแลหน้า ปฏิรูปการศึกษาไทยไปถึงไหนแล้ว" นั้น นายสมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตนอยากตั้งคำถามว่าเราจะปฏิรูปการศึกษาหรืออนุรักษนิยมการศึกษา เพราะสภาพปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบันเป็นผลพวงจากการปฏิรูปการศึกษา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งตนยอมรับว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หลักการดี แต่เวลาลงสู่ปฏิบัติกลายเป็นผลไม้มีพิษ ส่งผลกับวิกฤติทางการศึกษานานัปการ ทั้งเรื่องโครงสร้างการบริหารงานที่ปรับจาก 14 กรมเป็น 5 แท่ง อีกทั้งหลักสูตรอิงมาตรฐาน จัดเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม และการประเมินวิทยฐานะโดยเน้นเอกสารและงานวิจัย ซึ่งงบประมาณ ศธ.เพิ่มขึ้นทุกปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไม่ดีขึ้น และจากปฏิรูปเมื่อ พ.ศ.2542 จนถึงทุกวันนี้ ผ่านมา 8 รัฐบาล กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) 21 สมัย ดำรงตำแหน่งเฉลี่ย 6 เดือน 16 วัน ซึ่งงานปฏิรูปการศึกษาหมดไปกับงานประจำ และงานแก้ไขรายวัน ความสนใจและการทุ่มเทการศึกษาอ่อนลง เพราะไม่นาน รมว.ศธ.ก็ต้องไป สุดท้ายการปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นปฏิรูปการศึกษาตามยถากรรม จนเริ่มชินชาว่าไปไหนไม่ได้ ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น

"ระบบการศึกษาทำให้เด็กประมาณร้อยละ 30-40 แข่งขันเอาเป็นเอาตาย แต่เด็กเกือบ 60% กลับถูกปล่อยทิ้งและอยู่นอกระบบโรงเรียน ซึ่งเมื่อเราบ้าโอเน็ตและ PISA จนไม่สนใจเรื่องปัญหาคุณภาพเด็ก ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณแม่วัยใส เด็กแว้น เพราะโรงเรียนไม่สามารถคุ้มกันเด็ก ทำให้เด็กอยากหนีออกจากโซนนิงของโรงเรียน และเกิดช่องโหว่ทางการศึกษา เด็กกลายเป็นเหยื่อระบบโอเน็ต PISA ดังนั้น ถ้ายุบโอเน็ตได้ควรยุบและควรเปลี่ยนปฏิรูปการศึกษา ที่ทำให้เป็นปฏิรูปการเรียนรู้ ไม่ใช่เป็นปฏิรูปการติวเข้ม เป็นวิชามารทางการศึกษาปฏิรูปผิดทาง ไม่พูดถึงเด็ก ไม่พูดถึงห้องเรียน พูดแต่เรื่องระบบโครงสร้าง วิทยฐานะ บุคลากรการศึกษาได้รับประโยชน์ แต่เด็กกลับได้รับประโยชน์น้อยที่สุด" ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน จุฬาฯ กล่าว

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า โดยสรุปภาพรวมการทำงานของ 3 ปีของ 3 รมว.ศธ. คสช.ถือว่าสอบตก ไม่ผ่านได้ 3 คะแนนจาก 10 คะแนน เนื่องจากระบบปฏิรูปเดิมปี 2542 ยังเดินหน้าต่อไป แก้ไม่ครบ เดินย่ำวน ขณะที่การกระจายอำนาจเป็นแบบวาทกรรม หลักสูตรไม่เปลี่ยน เพิ่มวิชาชั่วโมงมากขึ้น กฎหมายสำคัญๆ ก็ยังไม่ออก ส่วนใหญ่ยังเป็นรายงานปฏิรูปเชิงเอกสาร ผลสัมฤทธิ์ ตกทุกระดับ ส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนสูงร้อยละ 70-80 รวมทั้งยังมีปัญหารายวัน และยังโดนใช้มาตรา 44 มากที่สุด ทั้งเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในส่วนของอุดมศึกษาในเรื่องการไม่มีธรรมาภิบาล ซึ่งขณะนี้โดนไปแล้ว 16 ครั้ง และถ้าอยู่ต่อไปคงจะโดนถึง 50 ครั้ง บ่งบอกให้เห็นว่าปัญหาใน ศธ.ไม่สามารถแก้ไขได้ ตอนนี้ยังเหลือช่วงระยะเวลาปฏิรูปถึงสิ้นปี อย่าให้เสียของ ซึ่งควรเพลาๆ เรื่องนโยบายก่อน และต้องมองว่าต้องการเรื่องอะไร และให้คนที่ทำงานได้ทำงานอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม หลายเรื่องแนวโน้มมาถูกทาง แต่ไม่มีความชัดเจนและไม่ต่อเนื่อง

ด้านนายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องการศึกษาใช้เวลามาก ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีการจัดระบบการศึกษาแบบที่เน้นให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ แต่การศึกษาแบบไทย กลับเน้นรูปแบบท่องจำ ไม่มีวิธีการเรียนการสอนที่นำไปสู่การฝึกให้เด็กคิดวิเคราะห์ ซึ่งทุกวันนี้เราควรจะทำให้เด็กมีกระบวนการคิด แต่ยังทำไม่เป็น รวมถึงการผลิตคนของเรายังเน้นที่ปริมาณ ไม่ค่อยเน้นเรื่องคุณภาพด้วย อีกทั้งในส่วนคะแนนโอเน็ตทุกวิชาก็ตก มีการแก้ปัญหาแบบลวกๆ ไม่ใช่ของจริง

ด้านนายสุทธิ สายสุนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล กล่าวว่า การจัดการศึกษาจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานการจัดการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมด้วย โดยจัดเป็นผ้าป่าการศึกษา เช่น ในส่วนของโรงเรียนตนจะจัดการศึกษา ร้อยละ 30 เด็ก ร้อยละ 30 และภาคสังคมอีกร้อยละ 40 เป็นต้น

ด้านนายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ ประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายของ ศธ.มีจำนวนมากจนจับต้องไม่ได้ คำตอบเห็นได้ชัดเจนจากการที่ภาคเอกชนมาเปิดสถาบันการศึกษาเองมากขึ้น เพราะไม่อยากรอรัฐบาล หากรอ ศธ.พัฒนาการจัดการศึกษา ไดโนเสาร์ก็คงกลับมาเกิดใหม่ ทั้งนี้ การปฏิรูปการศึกษา นอกจากให้เด็กเป็นศูนย์กลางแล้ว ต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้รับกรรมจากระบบการศึกษาดังกล่าว.


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 23 พฤษภาคม 2560

 

โพสต์เมื่อ 23 พ.ค. 2560 อ่าน 14,995 ครั้ง

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)

ดูในหน้าเว็บปกติ