"เลี้ยง"ต้องแบบไหน? "ลูกยุคดิจิตอล" ข้ามวิกฤต..สู่ไทย 4.0

#showpic

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร แนะนำถึง “วิธีเลี้ยงลูกในยุคดิจิตอล” ไว้ในเวทีเสวนา “ก้าวข้ามวิกฤตปฐมวัยสู่ไทยแลนด์ 4.0” ว่า การเลี้ยง ’เด็กปฐมวัย“ ในยุคปัจจุบันพ่อแม่ต้อง ’ตั้งเป้าหมายหลักให้ถูกต้อง“ เสียก่อน

“แท้จริงแล้วเด็กไม่ได้ต้องการอะไรในชีวิตมาก พวกเขาแค่ต้องการความสุขเท่านั้น“ ...เป็นการระบุของ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ “หมอโอ๋” กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” ที่มีคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองติดตามเป็นจำนวนมาก โดยคุณหมอได้ให้คำแนะนำถึง “วิธีเลี้ยงลูกในยุคดิจิตอล” ไว้ในเวทีเสวนา “ก้าวข้ามวิกฤตปฐมวัยสู่ไทยแลนด์ 4.0” ที่จัดโดยสมาคมอนุบาลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเรื่องนี้มีรายละเอียดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกับ “คุณพ่อคุณแม่มือใหม่”...ที่มีบุตรหลานอยู่ในช่วงวัย “เจนเนอเรชั่น Z” ท่ามกลางสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป

พญ.จิราภรณ์ หรือหมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ได้สะท้อนถึงเรื่องนี้ไว้ในเวทีเสวนาดังกล่าวอีกว่า... การเลี้ยง ’เด็กปฐมวัย“ ในยุคปัจจุบันพ่อแม่ต้อง ’ตั้งเป้าหมายหลักให้ถูกต้อง“ เสียก่อน เพราะการเลี้ยงดูลูกคืองานสำคัญ โดยที่ทุก ๆ คนไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายให้เหมือนกัน ทั้งนี้ ทางกุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่นท่านนี้บอกว่า โดยส่วนตัวแล้ว ในฐานะแพทย์ และในฐานะคุณแม่คนหนึ่ง จะตั้งเป้าหมายในการเลี้ยงลูกเอาไว้เพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น...

ที่ประกอบไปด้วยหัวข้อหลัก ๆ ดังต่อไปนี้คือ...

ประการแรก เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กคิดเป็น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้ลูกเป็นเด็กเรียนเก่ง ทั้งนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องคิดว่า... ในโลกยุคใหม่ของเด็ก ๆ ในวันข้างหน้านั้น การเรียนเก่งอาจจะไม่ใช่คำตอบเดียวเสมอไป แต่การคิดเป็น หรือสอนให้เด็กรู้จักคิดได้ จะเป็นคำตอบที่สำคัญของเด็กในอนาคต ประการที่สอง เลี้ยงลูกให้รู้จักนับถือคุณค่าตนเอง โดยเด็กที่มีองค์ประกอบนี้ คือเด็กที่มีโอกาสสูงในการจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากกว่าเด็กที่ไม่มีเรื่องนี้ และประการสุดท้าย นั่นคือ เลี้ยงลูกให้มีความสัมพันธ์ที่ดี ...นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำแนะนำที่คุณหมอท่านนี้ได้ให้ไว้

อย่างไรก็ตาม ทาง พญ.จิราภรณ์ เน้นย้ำว่า... ทุกเป้าหมายที่กล่าวมานี้ พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง จะหวังพึ่งแต่โรงเรียนเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ หากแต่เป็นเป้าหมายสำคัญที่ผู้เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องสร้างขึ้นมากกว่า โดยเฉพาะการสอนลูก ๆ หรือฝึกให้เด็ก ๆ รู้จักคิดเป็น เพราะการคิดเป็นนั้นจะช่วยให้เด็ก รู้จักตัวเอง จนบอกได้ว่า...

เมื่อเติบโตขึ้นอยากเป็นหรืออยากทำอะไร?

"พ่อแม่จะต้องช่วยสร้างประสบการณ์ให้ลูก ๆ ด้วยการฝึกให้เด็กรู้จักเรียนรู้ มากกว่าการให้นั่งท่องตำราเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญ การเลี้ยงดูด้วยแนวคิด Positive parenting หรือการสร้างวินัยเชิงบวก ในทางการแพทย์แล้วยังช่วยทำให้เซลล์ประสาทมีการเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย"

คุณหมอท่านเดิมระบุต่อไปว่า... สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น พ่อแม่ควรให้ลูกได้ “ฝึกการเรียนรู้ด้วยวิธีเล่น” จะเป็นการดีที่สุด เพื่อให้ลูกได้มีประสบการณ์เชิงบวกในชีวิตตนเอง เพราะการเล่นเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ ที่ช่วยในเรื่องการฝึกความอดทน และช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางด้านความคิดนั่นเอง พร้อมกันนี้ก็ยังมีการระบุว่า... สำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ การเลี้ยงลูกนั้นจะต้องมีสติมาก ๆ โดยควรที่จะหันกลับมาดูว่า... สำหรับคนเป็นพ่อแม่นั้น...

ต้องตอบได้ว่า...จุดหมายสำคัญคืออะไร?

"ถ้าขาดสติ พ่อแม่อาจหลงเข้าไปอยู่ในโลกแห่งการเปรียบเทียบ โลกแห่งการแข่งขัน โลกแห่งการไม่พอ จนสร้างแรงเสียดทานให้ลูก เพราะเด็กไม่ได้ต้องการอะไร แต่ต้องการแค่ความสุขมากกว่า ซึ่งเราก็ได้เห็น ๆ กันแล้วว่า... บางคนตอนเด็กเรียนเก่ง แต่โตมาสุดท้ายชีวิตล้มเหลว ก็เยอะ"

ขณะเดียวกัน พ่อแม่ในยุคใหม่จะต้องมีความเข้มแข็ง โดยคุณหมอขยายความในส่วนนี้ว่า... เข้มแข็งในที่นี้ หมายถึง ความเข้มแข็งพอที่จะรู้จักลูกของตัวเอง ว่า... ลูกต้องการอะไร? ลูกมีธรรมชาติแบบไหน? และอะไรที่ทำให้มีความสุขแบบพอดี? และสุดท้ายต้องมีทุนทรัพย์สำหรับตนเองในยามบั้นปลายของชีวิต ส่วนการเรียนรู้ด้านภาษาต่างประเทศนั้น อยากแนะนำว่า... ควรเน้นธรรมชาติของเด็ก ด้วยการกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้...

มากกว่าที่จะบังคับให้ลูกต้องเรียนให้ได้-พูดให้ได้

พญ.จิราภรณ์ ยังให้ทรรศนะเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า... ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่า... บ้านและครอบครัวยังเป็นหลักสำคัญในการสร้างเด็ก แต่ก็ต้องยอมรับว่า... การเป็นพ่อแม่ยุคใหม่กับการเลี้ยงลูกเจนเนอเรชั่น Z ไม่ง่าย เพราะสังคมเปลี่ยนไปมาก อย่างไรก็ดี ทางคุณหมอให้คำแนะนำทิ้งท้ายว่า... พ่อแม่อาจเริ่มจากการเข้าใจในพัฒนาการลูก ว่าช่วงปฐมวัย ช่วงอายุ 6 ปีแรก คือปีทอง ดังนั้น อย่าทำสิ่งที่กลับกัน เช่น ส่งให้คนอื่นเลี้ยง แต่ควรทุ่มเทให้ลูกด้วยตนเอง ขณะเดียวกันต้องฝึก"ให้เด็กคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง" เพื่อ "ให้มีภูมิคุ้มกันสังคม" โดยเฉพาะ "ในยุคดิจิตอล-ยุค 4.0"...

’สิ่งยั่วยวน-สิ่งล่อใจ“ ให้ไขว้เขวง่ายยิ่งมีมาก

ต้อง ’ตัดไฟแต่ต้นลม“ ป้องกันเด็กหลงทาง

กลางสังคมไฮเทคที่ลุง ๆ ยุคนี้หมายมั่น!!!. 

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 26 กันยายน 2560 เวลา 06.05 น.

โพสต์เมื่อ 26 ก.ย. 2560 อ่าน 11,278 ครั้ง

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)

ดูในหน้าเว็บปกติ