ศึกสายเลือด ศธ. : เกมชิงอำนาจที่มีแต่ “ผู้แพ้”?? ผู้เขียน จุไรรัตน์ พงศาภิชาติ

#showpic
 
ศึกสายเลือด ศธ. : เกมชิงอำนาจที่มีแต่ “ผู้แพ้”??

ที่มา มติชนออนไลน์
ผู้เขียน จุไรรัตน์ พงศาภิชาติ

เปิด “ศึกสายเลือด” กันไปหลายยกแล้ว แต่ยังไม่มีทีท่าว่าศึกระหว่าง “ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)” และ “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)” พี่น้องจากรั้ววังจันทรเกษม จะจบลงง่ายๆ

ภายหลังผู้อำนวยการ สพท.ส่วนหนึ่ง เดินหน้าเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และประกอบมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คำสั่งที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.

โดยให้เหตุผลว่า เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในการบริหารงานที่ทับซ้อน ระหว่างผู้อำนวยการ สพท.และ ศธจ.ที่เกิดจาก “ข้อที่ 13” ??

ซึ่งข้อที่ 13 ให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัด และกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู

และบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นของ ศธจ.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)

จากเดิมที่เป็นอำนาจของผู้อำนวยการการ สพท.และผู้อำนวยการโรงเรียน…

โดยเรียกร้องให้หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 แก้ไขให้มีคณะกรรมการขึ้นใหม่ 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษา และคณะกรรมการการบริหารงานบุคคล ทั้ง 2 ชุด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มี ศธจ.เป็นเลขานุการ

ส่วนคณะกรรมการบริหารงานบุคคล มีผู้อำนวยการ สพท.ในจังหวัดทุกคนร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ให้ผู้อำนวยการ สพท.เป็นผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 53(3) ตามที่

กศจ.อนุมัติ ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 53(4) ตามที่ กศจ.อนุมัติ ส่วน ศธจ.ทำหน้าที่เลขานุการ กศจ.

แต่กลุ่มผู้อำนวยการ สพท.และผู้อำนวยการโรงเรียนที่ออกมาเคลื่อนไหว ต้อง “ฝันสลาย” เมื่อ “บิ๊กตู่” ไม่ตอบสนอง!!

ดูเหมือนความพยายามยังไม่สิ้นสุด หลัง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า รัฐบาลต้องระมัดระวังในการใช้มาตรา 44

กลุ่มผู้อำนวยการ สพท.จึงได้เดินหน้าเข้ายื่นหนังสือถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต่อทันที

ซึ่งนายวิษณุได้แจ้งกลุ่มผู้อำนวยการ สพท.ว่า การแก้ไขคำสั่ง คสช.ค่อนข้างยาก แต่ได้เสนอแนะให้ใช้ช่องทางคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่อยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โดยรัฐบาลจะรับร่างกฎหมายที่เสนอโดย กอปศ.ขึ้นพิจารณา

 

นั่นหมายความว่า ระหว่างนี้รัฐบาลจะ “ไม่” แก้ไขคำสั่ง คสช.ในเรื่องดังกล่าว อย่างแน่นอน!!

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มผู้เคลื่อนไหวจะอ้างเหตุผลที่ต้องการให้แก้ไขข้อที่ 13 เพื่อให้การทำงานไม่ทับซ้อนกัน แต่สาเหตุหลักๆ ที่รู้กันดี เพื่อ “ทวงคืน” อำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หลังถูก “เปลี่ยนมือ” จากผู้อำนวยการ สพท.และผู้อำนวยการโรงเรียน ไปเป็นของ “ศธจ.”

ซึ่งทำให้ผู้บริหาร สพท.หลายแห่ง “ไม่พอใจ”

รวมถึง ต้องทำงานภายใต้ ศธจ.จากเดิมที่ผู้อำนวยการ สพท.มีอำนาจ “สูงสุด” ในเขตพื้นที่การศึกษา

ในขณะที่หลายๆ สพท.เกิดการ “งัดข้อ” กับ ศธจ.แต่อีกหลายๆ สพท.กลับทำงานร่วมกับ ศธจ.ได้อย่างไร้ปัญหา

ปัญหาขัดแข้งขัดขากัน แย่งชิงอำนาจ ยึดผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก มีมาทุกยุคทุกสมัย

จึงไม่น่าแปลกใจว่า “ทำไม” การ “ปฏิรูปการศึกษา” ของไทยที่ผ่านๆ มาถึง “ล้มเหลว” ซ้ำซาก

เพราะแทนที่ผู้บริหารการศึกษาเหล่านี้ จะ “วาง” ปัญหาความขัดแย้งทั้งหลาย หันมาร่วมแรงร่วมใจกัน

มุ่งมั่นผลักดันให้การศึกษาไทย เด็กไทย ครู และบุคลากรทางการศึกษา เกิดการพัฒนา

โดยยึดที่ตัว “เด็ก” และ “ประเทศชาติ” เป็นหลัก

วันๆ กลับเอาแต่นั่งคิด นอนคิด ว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะ “ดึง” อำนาจให้กลับมาอยู่ในมือให้ได้มากที่สุด

เพราะถ้าคนระดับ “ผู้บริหาร” คิดได้เท่านี้ (จริงๆ)

การปฏิรูปการศึกษาที่กำลังทำอยู่ ก็คง “ไร้ความหวัง” อีกเช่นเคย

สุดท้าย ไม่ว่าอำนาจจะตกอยู่ในมือใคร ประเทศชาติก็ “แพ้” อยู่วันยังค่ำ

เพราะท้ายที่สุด “ผู้บริหาร” เหล่านี้ ก็ยังอยู่ใน “วังวน” ของการแย่งชิงอำนาจ เพื่อประโยชน์ของ “ตัวเอง” เป็นหลัก!!

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 13 กรกฎาคม 2561 - 11:59 น.

 

 

โพสต์เมื่อ 14 ก.ค. 2561 อ่าน 30,548 ครั้ง

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)

ดูในหน้าเว็บปกติ