พันธุ์หอมแดง

หอมแดง เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าหัวสะสมอาหาร หอมแดงสามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ชอบดินร่วน ที่มีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 5.0 - 6.5 และความชื้นในดินควรสูงในขณะที่เจริญเติบโต แต่เมื่อหัวเริ่มแก่ดินและอากาศต้องแห้ง ช่วงที่ปลูกได้ผลดี คือ ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน – มีนาคม

 

พันธุ์ของหอมแดง
พันธุ์ของหอมแดงที่นิยมปลูกในบ้านเรา คือ

1. หอมแดงพันธุ์พื้นเมืองภาคเหนือ ทางภาคเหนือเรียก หอมบั่ว เป็นหอมแดงที่มีเปลือกนอกสีเหลืองปนส้มขนาดหัวปานกลาง ลักษณะกลมรี ใน 1 หัวแยกได้ 2-3 กลีบ กลิ่นไม่ฉุนจัด รสหวาน ระหว่างการเจริญเติบโตไม่มีดอกและเมล็ด เมื่อปลูก 1 หัว จะแตกกอให้หัวประมาณ 5-8 หัว อายุเมื่อหัวแก่เต็มที่ในฤดูหนาว 90 วัน และฤดูฝน 45 วัน ผลผลิตที่ได้ประมาณ 2000-3000 กิโลกรัม/ไร่ ขึ้นอยู่กับฤดูปลูกและการดูแลรักษา คุณภาพในการเก็บรักษาไม่ค่อยดี เพราะมีเปอร์เซ็นต์แห้งฝ่อ และเน่าเสียหายมากถึง 60%

2. หอมแดงพันธุ์บางช้าง หรือหอมแดงศรีสะเกษ เป็นหอมแดง ที่มีเปลือกนอกสีม่วงปนแดง เปลือกหนาและเหนียว ขนาดหัวใหญ่ สม่ำเสมอ หัวมีลักษณะกลมใน 1 หัว มี 1-2 กลีบ กลิ่นฉุนจัด มีรสหวาน ระหว่างการเจริญเติบโตจะสร้างดอกและเมล็ดมาก ซึ่งจะต้องหมั่นตรวจดูและเด็ดทิ้งให้หมด มิฉะนั้นจะทำให้ได้ขนาดหัวเล็กและจำนวนหัวน้อย โดยทั่วไปเมื่อปลูก 1 หัวจะแตกกอให้หัวประมาณ 8-10 หัว การแตกกอและลงหัวช้ากว่าหอมบั่วเล็กน้อย มีอายุเมื่อหัวแก่เต็มที่ให้ฤดูหนาว 100 วันขึ้นไป และฤดูฝน 45 วัน ให้ผลผลิตแตกต่างกันไปตามฤดูปลูกและการดูแลรักษาได้ประมาณ 1000-5000 กิโลกรัม/ไร่ คุณภาพในการเก็บรักษาดีกว่าหอมบั่ว

 

การเพาะปลูก 

การเตรียมดิน
หอมแดงมีระบบรากตื้น ชอบดินร่วน มีการระบายน้ำดี แปลงปลูกควรไถพรวนหรือขุดด้วยจอบพลิกดินตากแดดไว้ก่อน 2-3 วัน แล้วย่อยดินให้เป็นก้อนเล็ก อย่าให้ละเอียดมากเพราะจะทำให้ดินแน่น หอมลงหัวยากควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยมูลสัตว์ลงไปคลุกเคล้าให้ทั่ว เก็บเศษวัชพืช หรือรากหญ้าอื่นๆ ออกให้หมดแล้วรองพื้นก่อนปลูกด้วยปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตร 15-15-15 ในปริมาณ 20-50 กิโลกรัม/ไร่

การเตรียมพันธุ์หอม
หัวหอมพันธุ์ที่จะใช้ปลูกควรเตรียมไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน เพราะหัวหอมที่จะใช้ปลูกควรมีระยะพักตัวอยู่สักระยะหนึ่ง แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน เพราะระยะนี้หอมจะเริ่มแดงยอดอ่อนสีเขียวพ้นหัวเก่ามาแล้ว ให้นำหัวหอมพันธุ์มาตัดแต่งทำความสะอาด ตัดเล็มรากเก่า และใบแห้งทิ้งให้หมด หากเห็นว่ายอดอ่อนยาวอาจตัดทิ้งเสียสัก 1 ใน 10 เพื่อเร่งให้งอกไวเมื่อปลูกแล้ว ในพื้นที่ปลู 1 ไร่จะใช้หัวหอมพันธุ์ประมาณ 200 กิโลกรัม ก่อนปลูกหากเห็นว่าหัวหอมพันธุ์เป็นโรคราดำ หรือมีเน่าปะปนมา ต้องฉีดพ่นหรือจุ่มน้ำสารละลายป้องกันกำจัดเชื้อราจำพวกมาเนบ หรือซีเนบ ตามอัตราที่กำหนดในฉลาก และผึ่งลมให้แห้งก่อนนำไปปลูก

ระยะปลูก
นิยมปลูกเป็นแปลงขนาดกว้าง 1-1.5 เมตร ความยาวของแปลง เป็นไปตามความสะดวกในการปฏิบัติงานควรปลูกเป็นแถว ระยะปลูก 15-20 ซม.หรือ 20-20 ซม.

การปลูก
ก่อนปลูกควรรดน้ำแปลงปลูกให้ดินชุ่มชื้นไว้ล่วงหน้า นำหัวหอมพันธุ์มาปลูกลงในแปลง โดยเอาส่วนโคนหรือที่เคยเป็นที่ออกรากเก่าจิ้มลงไปในดินประมาณครึ่งหัว ระวังอย่ากดแรงนักจะทำให้ลำต้นหรือหัวช้ำทำให้ไม่งอก หรืองอกรากช้า เมื่อปลูกทั่วทั้งแปลงให้คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งหรือแกลบหนาพอสมควรเป็นการรักษาความชุ่มชื้นและคุมวัชพืช จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม ต้นหอมจะงอกออกมาภายใน 7-10 วัน หากหัวใดไม่ลอกให้ทำการปลูกซ่อมทันที


การดูแลรักษา

การให้น้ำ หอมแดงต้องการน้ำมากและสม่ำเสมอในระยะเจริญเติบโตและแตกกอ หากปลูกในที่ ๆ มีอากาศแห้งและลมแรง อาจต้องคอยให้น้ำบ่อย ๆ เช่น ภาคอีสาน ช่วงอากาศแห้งมาก ๆระยะแรกอาจให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น ในภาคเหนือเกษตรกรจะให้น้ำประมาณ 3-7 วันต่อครั้ง

การให้ปุ๋ย
- เมื่ออายุ 14 วันหลังปลูก ควรใส่ปุ๋ยยูเรียหรือแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่
- เมื่ออายุ 35-40 วัน ให้ใส่ปุ๋ย 15-15-15 ในอัตรา 20-50 กิโลกรัม/ไร่
การใส่ปุ๋ยใช้วิธีโรยห่างๆ ต้นห่างจากต้นราว 7 ซม. หรือใช้วิธีโรยให้ทั่วแปลงก็ได้ หลังจากให้ปุ๋ยให้รดน้ำหรือเอาน้ำเข้าแปลงให้ชุ่ม

การกำจัดวัชพืช
ควรกำจัดวัชพืชบ่อย ๆ เมื่อวัชพืชยังเล็ก หากโตแล้วจะทำการกำจัดยากและจะกระทบกระเทือนรากหอมแดงได้มาก ปัจจุบันนิยมใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมากขึ้นเพราะประหยัดแรงงานกว่า ตัวอย่างสารเคมีที่ใช้กำจัดวัชพืชในแปลงหอมแดงได้แก่ อลาคลอร์ อัตราการใช้ให้ใช้ตามที่ระบุในฉลากยา

การเก็บเกี่ยวหอมแดง 
โดยปกติหอมแดงที่ปลูกในฤดูหนาว จะแก่จัดเมื่ออายุ 70-110 วัน ถ้าปลูกในฤดูฝนจะสามารถเก็บได้เมื่ออายุประมาณ 45 วัน แต่ผลผลิตของหอมแดงทั้ง 2 ฤดูแตกต่างกัน คือในฤดูหนาวจะให้ผลผลิตมากเป็น 2-3 เท่าของในฤดูฝน จึงเป็นเหตุให้หอมแดงในฤดูฝนมีราคาสูงกว่า

หอมแดงที่เริ่มแก่แล้วจะสามารถสังเกตได้จากสีของใบจะเขียวจางลง ปลายใบเริ่มเหลืองและใบมักจะถ่างออก เอนล้มลงมากขึ้น ถ้าบีบส่วนคอ คือบริเวณโคนใบต่อกับหัวหอมจะอ่อนนิ่ม ไม่แน่นแข็ง แสดงว่าหอมแก่แล้ว

หลังจากเก็บเกี่ยว มีการปฏิบัติคล้ายกระเทียม คือหอมแดงที่ถอนแล้วต้องนำมาผึ่งลมในที่ร่มให้ใบเหี่ยวแห้งจากนั้นก็มัดเป็นจุก คัดขนาดและทำความสะอาด คัดพันธุ์แล้วนำไปแขวนไว้ในที่ร่ม เช่นใต้ถุนบ้าน ให้มีลมโกรก เพื่อระบายความชื้นจากหัวและใบหอม ไม่ให้ถูกแดด ฝนหรือน้ำค้าง หอมแดงหากเก็บไว้ในอากาศอบอ้าวจะเกิดโรคราสีดำ และเน่าเสียหายเช่นเดียวกับกระเทียม


การเก็บหอมแดงไว้ทำพันธุ์
หอมแดงที่แก่จัดหากเก็บรักษาดีจะฝ่อแห้งเสียหาย เพียง 35-40% ควรคัดเลือกหอมแดงที่จะใช้ทำพันธุ์ แยกออกมาต่างหากจากส่วนที่จะขาย และฉีดพ่นยากันรา เช่น เบนเลท ให้ทั่ว และนำไปผึ่งลมจนแห้งสนิทจึงนำไปเก็บรักษาไว้ทำพันธุ์ (ไม่ควรนำมารับประทาน) จะช่วยป้องกันไม่ให้หอมแดงเน่าเสียหายง่าย

ขอบคุณที่มาจาก กรมส่งเสริมการเกษตร

 

โพสต์เมื่อ 9 เม.ย. 2566 อ่าน 3,718 ครั้ง

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)

ดูในหน้าเว็บปกติ