ปลูกมะเขือเปราะกี่วันเก็บได้

การปลูกเพื่อการบริโภค

การปลูกและการดูแลรักษามะเขือเปราะ

 

การเพาะกล้ามะเขือเปราะ

1.ให้เตรียมดินละเอียดพร้อมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในอัตรา 2:1 และใส่ดินผสมดังกล่าวลงในถาด พลาสติกเพาะกล้า

2.ใช้เศษไม้เล็กๆ (ขนาดเท่าไม้จิ้มผลไม้) กดลงไปในดินที่บรรจุอยู่ในถาดพลาสติกเพาะกล้า ขนาดความลึก 0.5 ซม.

3.นำเมล็ดมะเขือเปราะหยอดลงในหลุมปลูก หลุมละ 1-2 เมล็ด

4.กลบดินผิวหน้าเมล็ดไปจากถาดพลาสติกเพาะกล้า

5.หลังเพาะนาน 7-10 วัน มะเขือเปราะเริ่มงอก หมั่นรดน้ำต้นกล้ามะเขือเปราะทุกวันๆ ละ 1-2 ครั้ง ในช่วงเข้าและเย็นจนกระทั่งต้นกล้ามะเขือเปราะมีอายุ 25-30 วัน จึงย้ายกล้ามะเขือเปราะลงปลูกในกระถางหรือแปลงปลูก

การเตรียมดินและการปลูก

ปลูกในแปลง

ควรเตรียมดินปลูก โดยใช้จอบขุดย่อยดิน หน้าดินลึก 15-20 ซม. และย่อยดินให้ละเอียด ใส่ปุ๋ยคอกหรือใส่ปุ๋ยหมัก หว่านและคลุกเคล้าให้เข้ากับดินในแปลง ขุดหลุมลึกประมาณ 15 – 20 ซม. ระยะปลูก 50 X 50 ซม. ย้ายกล้าที่มีอายุ 1 เดือน ลงหลุมปลูก กลบดินให้พูนสูง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

ปลูกในกระถาง

ผสมดินปลูกในกระถาง โดยใช้ดินร่วนละเอียดผสมกับปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2:1 ย้ายกล้าที่มีอายุ 1 เดือน ลงกระถางปลูก กลบดินให้แน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา

1.รดน้ำทุกวัน และในช่วงการติดผลต้องระมัดระวังในน้ำอย่างสม่ำเสมอ
2.หลังย้ายปลูกแล้ว 7-10 วัน ให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตราต้นละ 1/4 ช้อนชา ควรโรยปุ๋ยห่างโคนต้นประมาณ 2-3 เซนติเมตรและรดน้ำทันที
3.ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตราต้นละ 1/4 ช้อนชาทุกๆ 15 วัน
4.หลังย้ายปลูกนาน 45-60 วัน มะเขือเปราะเริ่มทยอยผลผลิต สามารถเก็บผลผลิตไปบริโภคได้
5.หลังจากที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมะเขือเปราะไปแล้วประมาณ 2 เดือน ควรตัดแต่งกิ่งออกบ้าง เพื่อทำให้ลำต้นมะเขือเปราะเจริญเติบโตแตกกิ่งก้านใหม่ที่มีความแข็งแรง จะให้ผลผลิตรุ่นใหม่ได้อีก

ปลูกมะเขือเปราะ ประมาณ 45-60 วันจะเริ่มทยอยเก็บได้

ศัตรูที่สำคัญของมะเขือเปราะ

แมลงศัตรู

1.เพลี้ยไฟ
ศัตรูชนิดนี้มีตัวอ่อน ลำตัวยาวสีเหลืองเคลื่อนไหวเร็วอยู่ตามยอด ซอกใบ และใต้ใบ ตัวแก่สีดำบินเร็ว เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของมะเขือ ระบาดได้รวดเร็วมาก โดยจะดูดน้ำจากใบ
ทำให้ใบเหลือง แข็ง กรอบ ผิวใบอาจฉีกขาด ยอดมีสีน้ำตาล ไม่ค่อยเจริญเติบโต และต้นทรุดโทรมเร็ว ระบาดมากช่วงฤดูหนาว
การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ เช่น คาร์โบซัลแฟน ,ฟิโปรนิล ,อะบาแมคติน เป็นต้น

2.เพลี้ยแป้ง
ทำให้เกิดใบหยิกหด ใบและยอดอ่อนหยิกและหด ข้อสั้นและอวบหญ่มีสีเขียวเข้มไม่เจริญต่อไป เพราะมีศัตรูที่มีแป้งสีขาวเกาะติดอยู่เป็นกระจุก
การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วยยาป้องกันกำจัดประเภทดูดซึม เช่นเดียวกับการกำจัดเพลี้ยไฟ

 

โรคที่สำคัญ

1.โรคผลเน่า
เกิดจากเชื้อรา อาการของผลและกิ่งจะปรากฏสีน้ำตาลแล้วลามเข้าไปทั้งผล และกิ่งจนแห้งตาย บน กิ่ง แห้งพบเมล็ดราสีดำ ขนาดเล็กกว่าเข็มหมุดขึ้นตรงกลางแผลสีน้ำตาล
การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งเป็นโรคและผลเน่าออกจากแปลง ฉีดพ่นด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อรา

2.โรคโคนเน่า
เกิดจากเชื้อรา อาการที่พบคือต้นเหี่ยวเฉาตาย เมื่อถอนต้นขึ้นมาตรวจพบเชื้อรา เป็นเส้นใยสีขาวโคนต้นระดับดิน ทำให้โคนต้นแห้งเป็นสีน้ำตาล เชื้อราสร้างเส้นใยและมีเม็ดราเป็นสีขาวและดำเท่ากับเมล็ดผักกาด แทรกอยู่ระหว่างก้อนดินโคนต้น

การป้องกันกำจัด ถอนต้นที่เป็นโรคเผาไฟรวมทั้งดินโคนด้วยใส่ปูนขาวในหลุมที่เป็นโรค หรือละลายปูนขาวกับน้ำรดโคนต้น หรือยากำจัดเชื้อรา รดโคนต้นเมื่อปลูกใหม่ ควรปรับดิน
ด้วยปูนขาวและใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ให้มาก ควรปลูกพืชอื่นหมุนเวียนในแหล่งที่มีโรคระบาดมาก 

 

ที่มา กรมวิชาการเกษตร

โพสต์เมื่อ 22 ก.ย. 2566 อ่าน 2,660 ครั้ง

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)

ดูในหน้าเว็บปกติ