สถานี ก.ค.ศ.: การสอบบรรจุครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ



คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: การสอบบรรจุครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ


ศรีชัย พรประชาธรรม
ผู้อำนวยการภารกิจนโยบายและระบบบริหารงานบุคคล

ตามที่ สพฐ.จะเปิดสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ซึ่งเป็นการสอบคัดเลือกจากกลุ่ม ครูอัตราจ้าง หรือลูกจ้างชั่วคราวจากเงินงบประมาณ หรือเงินรายได้ของสถานศึกษา ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ พนักงานจ้างเหมาบริการ ครูสอนศาสนาอิสลาม หรือวิทยากรอิสลาม ทั้งในเขตพื้นที่ปกติและในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ สะบ้าย้อย เทพา และนาทวี) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอนตามคำสั่ง หรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยกำหนดประกาศปฏิทินการสรรหาปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ และคาดว่าจะมีอัตราเปิดสอบประมาณ 2,140 อัตรา นั้น

เพื่อเป็นการชี้แจงทำความเข้าใจมายังกลุ่มผู้มีสิทธิสมัครสอบ ให้มีความชัดเจนในเรื่องคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบในครั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ขอนำตัวอย่างข้อหารือที่พบบ่อยๆ ในการสอบคัดเลือกฯ กรณีนี้มานำเสนอเป็นตัวอย่าง ดังนี้

1.กรณีสถานศึกษาไม่ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณเป็นค่าตอบแทนจ้างครูเป็นรายเดือน แต่ใช้เงินงบประมาณประเภทอื่น เช่น เงินค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เงินอุดหนุนรายหัว) มาดำเนินการจ้างครูรายเดือน จะนับเป็นครูอัตราจ้างจากเงินงบประมาณได้หรือไม่

ตอบ ครูอัตราจ้างจากเงินอุดหนุนรายหัว หากจ้างจากเงินงบประมาณหรือเงินรายได้ของสถานศึกษาและได้ปฏิบัติงานตามคำสั่งหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย นับเป็นครูอัตราจ้างจากเงินงบประมาณ เป็นผู้มีคุณสมบัติสมัครเข้ารับการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด

2.กรณี อบจ.จ้างครูอัตราจ้างมาปฏิบัติงานในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ถือว่าเป็นครูอัตราจ้างตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนดหรือไม่

ตอบ ครูอัตราจ้าง ที่จ้างจากเงินงบประมาณของ อบจ. หรือส่วนราชการอื่นที่ไม่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่มาปฏิบัติงานในสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ถือเป็นครูอัตราจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกที่ ก.ค.ศ. กำหนด

3.คำว่า "มีผลการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 3 ปี" ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรณีนี้ หมายถึงผลการปฏิบัติงานสอนใช่หรือไม่ และผลการปฏิบัติงานนั้นเว้นวรรคได้หรือต้องติดต่อกัน

ตอบ ผลการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 3 ปี หมายถึงผลการปฏิบัติงานสอน ซึ่งนับระยะเวลาติดต่อกันหรือไม่ติดต่อกันก็ได้
คำถามทั้ง 3 ข้อที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างดังกล่าว เป็นคำถามที่พบบ่อย และมีการนำเสนอ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับนโยบายและระบบบริหารงานบุคคล ซึ่งทำการแทน ก.ค.ศ. พิจารณาและมีมติแล้ว หวังว่าจะเป็นแนวปฏิบัติให้เขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในกลุ่มดังกล่าวข้างต้น นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อไป

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

โพสต์เมื่อ 26 พ.ย. 2555 อ่าน 22777 | 1 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


การขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1018]
โครงการพัฒนาโภชนาการเด็ก FOOD FOR GOOD "โภชนาการที่ดี คือรากฐานของการเจริญเติบโต" [อ่าน 166]
อำนาจในการอนุมัติจ่ายเงินเพื่อประโยชน์การศึกษา [อ่าน 355]
สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 6990]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 513]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)