"สอบบรรจุ" เดือนเม.ย.-พ.ค.แบ่ง 12 กลุ่ม-มหาลัยออกข้อสอบ-สมัครได้ที่เดียว



โยน129เขตพื้นที่ ตัดสินเลิก-ไม่เลิก ผลสอบ"ครูผู้ช่วย"

ศธ.เดินหน้าจัดสอบบรรจุครูผู้ช่วยกรณีทั่วไป ช่วง เม.ย.-พ.ค.นี้ แต่ปรับเกณฑ์ใหม่แบ่งเป็น 12 กลุ่ม ดึงมหา"ลัยออกข้อสอบ สมัครได้ที่เดียว

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้พิจารณากรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งผลสืบสวนกรณีทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 พบหลักฐานมีทุจริตจริงใน 4 เขตพื้นที่การศึกษา ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 3, สพป.อุดรธานี เขต 3, สพป.ยโสธร เขต 1 และ สพป.นครราชสีมา เขต 2 โดยเสนอให้ ศธ.พิจารณายกเลิการสอบ รวมทั้งกรณีการสอบที่ สพป.นครปฐม เขต 1 ที่ ศธ.นำเสนอให้พิจารณายกเลิกด้วย ซึ่งที่ประชุมพิจารณาข้อมูลทั้ง 5 เขตพื้นที่ฯดังกล่าวแล้ว พบว่ามี 4 เขตพื้นที่ฯที่พบการทุจริตเกิดขึ้น และผู้ควบคุมห้องสอบได้ให้ผู้ทุจริตออกจากห้องสอบและตัดสิทธิการสอบไปแล้ว

นายเสริมศักดิ์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีนายภานุวัฒน์ ไชยวงค์ ที่มีชื่อสอบติด 2 เขตพื้นที่ฯ โดยสอบติดลำดับที่ 1 ที่ สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูนั้น ที่ประชุมมีมติให้ส่งเรื่องที่เป็นข้อมูลหลักฐาน และผลการสอบต่างๆ ให้ผู้อำนวยการ สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 นำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ) เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อพิจารณาว่าจะต้องยกเลิกหรือไม่ หลังจากข้อมูลเบื้องต้นมีการชี้มูลว่ามีทุจริตในการสอบ ซึ่งจะต้องไปสอบต่อว่ามีทุจริตหรือไม่ อย่างไร ส่วนกรณีผู้ที่สอบได้ที่ สพป.นครปฐม เขต 1 ที่มีชื่อสมัครและเข้าสอบ 2 เขตพื้นที่ฯเช่นกัน แต่ได้รับการบรรจุรับราชการครูไปแล้วนั้น จะส่งเรื่องให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯพิจารณาการยกเลิกการบรรจุ เพราะกรณีนี้ ศธ.ได้ชี้มูลว่ามีทุจริตแล้ว โดยจะให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นายเสริมศักดิ์กล่าว

นายเสริมศักดิ์กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ก.ค.ศ.ยังมีมติให้แจ้งไปยัง 129 เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งรวมถึง 4 เขตพื้นที่ฯที่ดีเอสไอพบหลักฐานมีการทุจริตจริงดังกล่าว ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯต่างๆ ไปตรวจสอบว่ามีผู้ที่คะแนนสูงผิดปกติ 514 คน มีการทุจริตหรือไม่ โดยให้พิจารณาจากข้อมูลการสอบสวนทุจริตของดีเอสไอ และของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดของ ศธ. ที่จะส่งไปให้พร้อมกับข้อมูลคะแนนของผู้ที่สอบผ่านได้บรรจุจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งจะส่งข้อมูลไปยังเขตพื้นที่ฯภายใน 3 วัน และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน โดย ศธ.จะตั้งผู้ตรวจราชการ ศธ.ไปคอยติดตามและให้คำปรึกษาด้วย ทั้งนี้ อยากให้แต่ละเขตพื้นที่ฯดำเนินการให้เร็ว เพราะหากพิจารณาช้าจะมีผลกับบุคคลที่ทุจริตที่ได้บรรจุไปแล้วจะยังได้รับเงินเดือนตามปกติ ซึ่งหากยกเลิกจะมีประเด็นเรื่องของเงินเดือนด้วย และเรื่องนี้หากช้าอาจถูกมองว่าเป็นมวยล้มต้มคนดูได้

"ที่ประชุม ก.ค.ศ.ไม่มีอำนาจออกเป็นคำสั่งให้เขตพื้นที่ฯสั่งยกเลิกการสอบ เพราะเป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯจะไปพิจารณาดำเนินการ เนื่องจาก ก.ค.ศ.มีอำนาจเพียงกำกับดูแลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผมจะให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ศธ.ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลต่อไป หากพบข้อมูลอะไรเพิ่มเติมจะส่งเรื่องให้กับเขตพื้นที่ฯใช้พิจารณาต่อไป เพราะอาจจะมีกรณีอื่นๆ อีกก็ได้" รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯไปพิจารณาเรื่องดังกล่าวเอง จะมีความเที่ยงตรงหรือไม่ เนื่องจากดีเอสไอสรุปว่ามีผู้บริหารเขตพื้นที่ฯเกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วย นายเสริมศักดิ์กล่าวว่า เมื่อให้ใครไปทำหน้าที่แล้ว หากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือทำอะไรที่มิชอบ ก็จะมีความผิดเป็นสองเท่า

นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า หากข้อมูลการตรวจสอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯส่งมาให้ ก.ค.ศ.แล้วพบว่าขัดแย้งหรือไม่ตรงตามความเป็นจริงกับข้อมูลที่ ก.ค.ศ.ส่งไปให้ ก.ค.ศ.ก็มีอำนาจที่จะสั่งการให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯไปดำเนินการให้ถูกต้อง หากไม่ดำเนินการ ก.ค.ศ.ก็มีอำนาจถอดถอน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯได้ ซึ่งในกรณีที่ผู้แทนใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯเป็นข้าราชการครู นอกจากจะต้องถูกถอดถอนแล้ว จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยด้วย เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯซึ่งไม่ได้เป็นข้าราชการฯ ทาง ก.ค.ศ.ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ นอกจากการถอดถอน

นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ. กล่าวว่า สำหรับการจัดสอบบรรจุครูผู้ช่วยกรณีทั่วไป จะยังจัดสอบในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมเช่นเดิม แต่เปลี่ยนหลักเกณฑ์การจัดสอบใหม่ โดยให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯรวมกลุ่มกันจัดสอบ แบ่งเป็น 12 กลุ่มตามเขตตรวจราชการ และมีการสอบสัมภาษณ์ ส่วนข้อสอบให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อสอบ โดยแต่ละกลุ่มจะต้องเป็นผู้จัดหามหาวิทยาลัยที่จะมาออกข้อสอบเอง และให้สมัครสอบได้เพียงเขตพื้นที่ฯเดียว ไม่ให้สมัครสอบซ้ำ ส่วนที่เกรงว่ามาตรฐานของข้อสอบจะไม่เท่ากันนั้น ส่วนกลางคงต้องเข้าไปดูแลให้การออกข้อสอบได้มาตรฐาน

ด้านนายประเวศ รัตนะวงศ์ ผู้อำนวยการ สพป.อุดรธานี เขต 3 กล่าวถึงกรณีที่ดีเอสไอเสนอ ศธ.ให้ยกเลิกการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยที่ สพป.อุดรธานี เขต 3 รวมทั้ง สพฐ.จะตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยที่ สพป.อุดรธานี เขต 3 ด้วย ว่าขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งการอะไรมาจาก สพฐ. ข้อมูลที่ได้มาก็ติดตามจากข่าว อย่างไรก็ตาม ในการควบคุมการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมาของ สพป.อุดรธานี เขต 3 ได้ทำเต็มที่และรัดกุม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าที่ผู้ควบคุมห้องสอบสามารถจับกุมผู้เข้าสอบที่นำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบได้แล้ว จะไม่มีใครทุจริตอีก โดยเฉพาะการที่ สพฐ.ส่วนกลางส่งผลสอบมาให้เขตพื้นที่ฯประกาศรายชื่อผู้สอบผ่าน โดยที่เขตพื้นที่ฯไม่รู้ว่าคะแนนของผู้สอบผ่านแต่ละคนได้เท่าไหร่ และเป็นคะแนนที่อยู่ในกลุ่มสูงผิดปกติหรือไม่




(ที่มา:ข่าวหน้่า1 มติชนรายวัน 23 มีนาคม 2556)

โพสต์เมื่อ 25 มี.ค. 2556 อ่าน 22806 | 2 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 2728]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 382]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 957]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 17419]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 844]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)