การดำเนินการทางวินัย กับการดำเนินคดีอาญา คนละเรื่องเดียวกันหรือไม่



สวัสดีค่ะเพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน สถานี ก.ค.ศ. ในวันนี้จะขอนำเสนอเรื่องที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงต่อ ก.ค.ศ. และในขณะเดียวกันก็ถูกดำเนินคดีอาญาด้วย โดยอุทธรณ์ขอให้รอคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาให้ถึงที่สุดเสียก่อน กรณีนี้หลายคนอาจสงสัยว่าจำต้องรอผลคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาให้ถึงที่สุดเสียก่อนจึงจะลงโทษทางวินัย หรือพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยได้ใช่หรือไม่

ซึ่งเรื่องนี้ได้มีแนววินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 142/2549 และที่ อ. 463/2551 และการกำหนดแนวปฏิบัติตามหนังสือ สำนักงาน ก.พ. ที่ สร 0904/ว 4 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2509 ว่าการดำเนินคดีอาญาและการดำเนินการทางวินัยเป็นการดำเนินการตามกฎหมายคนละฉบับ มีกระบวนการพิจารณา จุดประสงค์ และการรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน กล่าวคือ การดำเนินคดีอาญานั้นมุ่งประสงค์ควบคุมการกระทำของบุคคลในสังคมมิให้กระทำการที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดอาญา เพื่อคุ้มครองสังคมโดยรวมให้มีความสงบสุข ส่วนการดำเนินการทางวินัยเป็นมาตรการในการรักษาวินัยของข้าราชการที่มุ่งปราบปรามข้าราชการที่กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ กำหนดโดยใช้วิธีการลงโทษทางวินัย ซึ่งมีผลเป็นการปรามไม่ให้ข้าราชการอื่นกระทำผิดวินัยเพราะเกรงกลัวการลงโทษด้วย อีกทั้งการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อจะลงโทษทางวินัยของผู้บังคับบัญชาก็แตกต่างจากการรับฟังพยานหลักฐาน เพื่อลงโทษคดีอาญาของศาล โดยคดีอาญาศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัย ส่วนการลงโทษทางวินัยผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลพินิจสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนโดยไม่จำต้องปรากฏพยานหลักฐานชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีอาญา ดังนั้น การดำเนินการทางวินัยหรือการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยจึงไม่จำต้องรอฟังผลคดีอาญา ทั้งผลของคดีอาญาจะเป็นประการใดไม่ผูกมัดผู้ดำเนินการทางวินัยที่จะเห็นแตกต่างได้ หากได้กระทำไปโดยสุจริตและเป็นไปตามกฎหมายแล้ว กล่าวโดยสรุป การดำเนินการทางวินัยหรือการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยกรณีผู้ถูกกล่าวหาถูกดำเนินคดีอาญาด้วยจึงไม่จำเป็นต้องรอผลคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาให้ถึงที่สุดก่อนแต่อย่างใด

เป็นอย่างไรบ้างคะ สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้นำเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงต่อ ก.ค.ศ. ในขณะเดียวกันก็ถูกดำเนินคดีอาญาด้วย เพื่อนครูคงจะได้รับรู้รับทราบรายละเอียดเนื้อหา และแนวทางปฏิบัติ เพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์และป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีเดียวกันนี้ ซึ่งหวังว่าคงจะไม่เกิดเรื่องทำนองดังกล่าวนี้กับเพื่อนครูอย่างแน่นอน หากท่านได้ประพฤติปฏิบัติตนตามแบบแผนของการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ดี แล้วพบกันใหม่ในวันจันทร์หน้าค่ะ

ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.


ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

โพสต์เมื่อ 31 ม.ค. 2557 อ่าน 10750 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


การขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ปีการศึกษา 2567 [อ่าน 356]
โครงการพัฒนาโภชนาการเด็ก FOOD FOR GOOD "โภชนาการที่ดี คือรากฐานของการเจริญเติบโต" [อ่าน 87]
อำนาจในการอนุมัติจ่ายเงินเพื่อประโยชน์การศึกษา [อ่าน 234]
สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 6447]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 488]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)