เร่งออกกฎประเมินคงอยู่ในวิทยฐานะ



เร่งออกกฎประเมินคงอยู่ในวิทยฐานะ

ก.ค.ศ.นัดถกคุรุสภาวิเคราะห์ตัวชี้วัดประเมินการคงอยู่ในวิทยฐานะ เผยเกณฑ์เบื้องต้นหากไม่ผ่านต้องพัฒนาภายใน 1 ปี และหากไม่ผ่านอีกอาจต้องเปลี่ยนตำแหน่ง ขณะที่การขอมีผู้แทนครู กศน.ในบอร์ด ก.ค.ศ.นั้น ยันขณะนี้ยังทำไม่ได้

วันนี้ (21 เม.ย.) นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่บอร์ด ก.ค.ศ.ได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ.มาปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นระยะๆ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความชำนาญการ หรือ ความเชี่ยวชาญ ในตำแหน่งและวิทยฐานะที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง ตามมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 หรือ การคงอยู่ในวิทยฐานะนั้น ในเร็วๆนี้ ตน จะเชิญคุรุสภาที่ประเมินใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทุกๆ 5 ปี มาหารือถึงตัวชี้วัดที่จะใช้ในการประเมิน ว่าสอดคล้องกับสิ่งที่คุรุสภาใช้ในการประเมินครูอยู่หรือไม่ ขณะเดียวกันจะวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้าราชการพลเรือนประเภทอื่นๆที่ได้รับค่าตำแหน่งไปแล้ว ว่ายังต้องประเมินกันอีกหรือไม่อย่างไร ซึ่งตนจะเร่งทำเรื่องนี้โดยด่วนเพราะมีผู้สอบถามเข้ามามาก เนื่องจากเป็นเรื่องค้างมานานแล้ว

“ร่างหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อการคงอยู่ในวิทยฐานะนั้น มีหลักการว่าจะมีการประเมินผู้ที่มีวิทยฐานะแล้ว ถ้าประเมินแล้วไม่ผ่านจะต้องเข้ารับการพัฒนา 2 ครั้งภายใน 1 ปี หากไปพัฒนาแล้วยังไม่ผ่านการประเมินอีก ให้งดเงินวิทยฐานะ และไปพัฒนาอีกครั้ง แต่หากยังไม่ผ่านอีกก็จะถือว่าผู้นั้นไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพได้ ก็จะให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎ ก.ค.ศ. คือ อาจจะให้เปลี่ยนตำแหน่งจากตำแหน่งที่มีวิทยฐานะเป็นตำแหน่งที่ไม่มีวิทยฐานะอื่นๆ” นางศิริพร กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอต่อที่ประชุม ก.ค.ศ.ต่อไป

เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเรียกร้องของกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(บอร์ด กศน.) ที่เสนอขอมีสัดส่วนผู้แทนครู กศน. ในบอร์ด ก.ค.ศ.นั้น คงยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ เนื่องจากต้องไปแก้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ และต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร.

 

ที่มา เดลินิวส์ วันจันทร์ 21 เมษายน 2557

โพสต์เมื่อ 21 เม.ย. 2557 อ่าน 14672 | 8 ความเห็น

ความคิดเห็นที่ 1 | โดย คุณพันธ์ (โพสต์เมื่อ 21 เม.ย. 2557 เวลา 19:27 น.)
ต้องประเมินทั้งระบบที่เป็นข้าราชการไม่ว่ากระทรวง หรือหน่วยงานใดๆก็ตามที่กินเงินวิทยฐานะเหมือนกัน ไม่ใช่จะประเมินแต่ครูแล้วหน่วยงานอื่นๆไม่ประเมิน แบบนี้ไม่เป็นธรรมกับครู ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน ครูเราไม่ยอมแน่นอน
ความคิดเห็นที่ 2 | โดย คุณครูจิตร (โพสต์เมื่อ 21 เม.ย. 2557 เวลา 20:55 น.)
ผมว่าพวกท่านเอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่ามานั่งประเมินครู เพราะครูมีงานสอนเป็นหลักทั้งงานพิเศษ มากมาย เอาเวลาไปคิดถึงเด็กดีกว่า ยิ่งทำอย่างนี้ครูที่อายุมากๆ ท่านจะไม่พอใจเอานะครับ เพราะว่าครูที่ท่านมีวิทยะฐานะสูงแต่เพราะความแก่ ชรา อายุ ก็มีผลบ้างต่อความสามารถ และพวกท่านประเมินแล้วไม่ผ่าน ไม่ให้มีวิทยฐานะอีกก็จะทำให้ คุณครูทั้งหลายเดือดร้อนนะครับ ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายครูแต่ละท่านก็มากมายผมคงไม่เอ่ยว่ามีหนี้อะไรบ้างรู้กันนะครับ ท่านผู้ใหญ่ทั้งหลาย
ความคิดเห็นที่ 3 | โดย คุณtao (โพสต์เมื่อ 22 เม.ย. 2557 เวลา 08:50 น.)
ตกเบิกยังไม่ได้ จะต้องถูกประเมินแล้ว...ขออนุญาต "เซ็งจุง"
ความคิดเห็นที่ 4 | โดย คุณเอื้องเหนือ (โพสต์เมื่อ 22 เม.ย. 2557 เวลา 17:03 น.)
ข้าราชกรครูกว่าจะได้วิทยฐานะก็ต้องประเมิน แตกต่างจากบางสังกัดก่อนจะคิดประเมินขอให้ท่านคิดถึงภาระหน้าที่ของครูพอย่างก้าวเเข้าไป ใน โรงเรียนก็แบกภาระที่แสนหนัก
ความคิดเห็นที่ 5 | โดย คุณครูแถวสอง (โพสต์เมื่อ 23 เม.ย. 2557 เวลา 21:17 น.)
เห็น พูดมานานแล้ว เรื่องนี้แต่ก็เงียบไป ขอให้ออกมาจริงๆ ประเมินอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ให้จริงจัง อย่า โม้อยู่เลย เด้กไทยกำลังรอการพัฒนา ผมเชื่อว่า ถ้าประเมินจริง ครูไม่ผ่าน ร้อยละ ๔๐ ครับ อย่าให้ผู้บริหารประเมิน ต้องประเมินจาก
๑. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
๒. การพัฒนาของครู
๓. สื่อการสอนที่ทำจริง (ส่งผลต่อข้อ ๑)
๔. ไม่ต้องอ้างว่างานมากล้นมือ คนเป็นครูต้องมีหน้าที่พัฒนาผู้เรียน ไม่ใช่ทำหน้าที่อื่นเพื่อหวังขั้น แล้วโยนความผิด (เห็นบางคนบอกว่า คนที่พัฒนาการเรียนการสอน ผลสัมฤทธฺิ์ของนักเรียนดี ยังมีหน้าบอกว่า สอนอย่างเดียว ใครก้ทำได้ ไปโน้นเลย นี่หละคำแก้ตัวของครูไม่ทำหน้าที่ของตนเองแต่ดันยื่นหน้าทำหน้าที่อื่น)
ความคิดเห็นที่ 6 | โดย คุณดอน (โพสต์เมื่อ 24 เม.ย. 2557 เวลา 20:25 น.)
ข้อสังเกตุ
1.หากประเมินคงวิทยฐานะครู ก็ต้องประเมินคงวิทยฐานะข้าราชการอื่นที่รับเงินวิทยฐานะ และเงินตอบแทนในลักษณะเดียวกัน (เพื่อความยุติธรรม)
2.หากมีการประเมินคงวิทยฐานะจริง ต้องพิจารณาให้ครอบคลุม 1.ด้านภาระงาน งานการสอน+งานพิเศษ 2.ผลที่เกิดกับผู้เรียน เช่น ผลสัมฤทธิ์ รางวัล การชมเชย คุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน เป็นต้น
3. หากประเมินไม่ผ่านครั้งที่ 1 อาจตัดเงินตอบแทน ประเมินครั้งที่ 2 ไม่ผ่านตัดเงินวิทยฐานะ
4.ไม่เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนตำแหน่ง เพราะตำแหน่งได้มาเพราะการสอบ วิทยะฐานะได้มาจากการประเมิน หากประเมินคงวิทยฐานะไม่ผ่านก็ควรสิ้นสุดที่เรื่องวิทยะฐานะเท่านั้น
ความคิดเห็นที่ 7 | โดย คุณปลาตะเพียน31 (โพสต์เมื่อ 28 เม.ย. 2557 เวลา 05:03 น.)
ดีครับ...เศรษฐกิจจะได้คล่องตัวดีขึ้นมาหน่อย..เพราะเห็นส่วนมากหรือบางส่วนการทำผลงานเพื่อให้ได้เงินวิทยะฐานะ ก็ยังเห็นคัดลอกมาแบบไม่มีจรรยาบรรณเอาซะเลย..แก้ไขหน้าด้าน ๆคัดลอกมาเป็นของตัวเอง..ก่อนที่จะมีเกณฑ์การคงออกมา ให้แต่มหาวิทยาลัยลองซุ่มตรวจดูหน่อยไหมครับว่าลิขสิทธิ์วิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยของท่าน...มี ครูวิทยาะฐานะชำนาญการพิเศษ คนไหนคัดลอกทั้งเล่มไปบ้าง....ในส่วนตัวของผมอยากให้มีเกณฑ์ออกมาโดยเร็ว..เพราะยังมีครูส่วนหนึ่งมาโรงเรียนแต่ละวันไม่ยอมสอนทั้งทอดทิ้งและละทิ้งราชการเฉย เลยแล้วอย่างนี้ประเทศจะเจริญไปได้ยังไงครับ
ความคิดเห็นที่ 8 | โดย คุณรองฯน้อย (โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2557 เวลา 15:03 น.)
อ้างถึงข้อความของ พันธ์ - 21 เม.ย. 2557 เวลา 19:27 น.
ต้องประเมินทั้งระบบที่เป็นข้าราชการไม่ว่ากระทรวง หรือหน่วยงานใดๆก็ตามที่กินเงินวิทยฐานะเหมือนกัน ไม่ใช่จะประเมินแต่ครูแล้วหน่วยงานอื่นๆไม่ประเมิน แบบนี้ไม่เป็นธรรมกับครู ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน ครูเราไม่ยอมแน่นอน

เห็นด้วยกับการประเมินทุกกระทรววงครับ
ครูเองยิ่งต้องประเมิน ผมว่ามันไม่คุ้มค้า เป็นอัตราเงินเดือนที่แปรผกผันอย่างรุนแรง คนเงินเดือนน้อยทำงานหนัก คนเงินเดือนมากทำงานน้อย แต่ก็ไม่ทุกคนหรอกนะครับ

·····

เรื่องอื่นๆ


บอร์ด ก.ค.ศ. เห็นชอบปรับอัตราเงินเดือนครูตามมติ ครม. เดือนเม.ย.รู้ตัวเลขแน่นอน [อ่าน 1140]
ครม.ไฟเขียวตั้งบุรีรัมย์เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดที่ 20 [อ่าน 364]
ด่วน! สทศ.ประกาศผลสอบโอเน็ต ปีการศึกษา 2566 แล้ว [อ่าน 3502]
ด่วนที่สุด การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2567 [อ่าน 5350]
ด่วนที่สุด การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2567 [อ่าน 6783]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)