"กมล" ประกาศ "4 นโยบาย" สนอง คสช.



“กมล”ประกาศ 4นโยบายสนอง คสช.

“กมล”เร่งเดินหน้า 4 นโยบายขับเคลื่อนงาน สพฐ. เล็งติดตั้งอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมครบทุกโรง เฉลิมพระเกียรติในหลวง 5 ธ.ค.57 พร้อมสานต่องานบริหารบุคคลที่ “อภิชาติ”

วันนี้ (30 มิ.ย.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้วางทิศทางการทำงานของ สพฐ. ให้สอดคล้องกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมี 4 นโยบายสำคัญ ได้แก่

1.ปรับปรุง และพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อสร้างคนไทยในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นความรักชาติ และสามัคคี

2.การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ซึ่งขณะนี้ได้เปลี่ยนแปลงโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน เป็นการจัดทำห้องเรียนอัจฉริยะ หรือ ห้องเรียนสมาร์ทคลาสรูมแทน โดย สพฐ.กำลังจัดทำเรื่องไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณปี 2556-2557 มาใช้ในการจัดทำห้องสมาร์ทคลาสรูม เบื้องต้นจะได้ประมาณ 15,000-18,000 ห้องเรียน รวมทั้งขอเปลี่ยนชื่อโครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ สพฐ.ได้จัดทำรายละเอียดของโครงการดังกล่าวเสนอให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช.พิจารณาแล้ว

“สพฐ.จะสานต่อโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โรงเรียนวังไกลกังวล เพื่อให้เด็กในสังกัด สพฐ.ได้รับชมรายการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอย่างสมบูรณ์ 100% โดยติดตั้งจานดาวเทียม และชุดรับสัญญาณให้ครบทุกโรงเรียนก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2557 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพราะโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นโครงการในพระราชดำริของพระองค์ที่ทรงทำมานานแต่ยังกระจายไปไม่ทั่วถึง และขณะนี้เหลือโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ไม่มาก โดยตั้งใจว่าในวันที่ 5 ธันวาคมปีนี้ นักเรียนทุกคนจะได้สัมผัสเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมาร์ทคลาสรูม ห้องคอมพิวเตอร์และการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ดร.กมล กล่าวต่อไปว่า

นโยบายที่ 3 การลดความเหลื่อมล้ำทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพการศึกษา ซึ่ง คสช.เน้นย้ำว่าจะต้องไม่เป็นการสร้างโอกาสเพียงแค่ให้เด็กทุกคนได้เข้าเรียนเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงมิติในเชิงคุณภาพด้วย สพฐ. จึงต้องเดินหน้ายกระดับทุกโรงเรียนให้มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ขจัดปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ และการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ของการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ และ

4.พัฒนาระบบบริหารจัดการในด้านต่างๆ อาทิ ปรับปรุงระบบการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว ทั้งนี้นโยบายต่างๆ เหล่านี้เป็นภารกิจเฉพาะหน้า แต่ภารกิจระยะยาวของ สพฐ.คือตั้งกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อจัดทำพิมพ์เขียวการศึกษาชาติควบคู่ไปกับคณะกรรมการระดับชาติของ ศธ. อย่างไรก็ตามนายอภิชาติ จีระวุฒิ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการ กพฐ. ได้ฝากให้ตนสานงานต่อในเรื่องการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ รวมทั้งการยกระดับคุณภาพการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา รวมทั้งให้ระมัดระวังเรื่องการจัดสอบบรรรจุข้าราชการครูเข้าสู่ตำแหน่งต่าง ๆ เพราะสพฐ.เป็นองค์กรใหญ่ เมื่อมีการจัดสอบอะไรจะกระทบกับคนจำนวนมาก.

 

 

ที่มา เดลินิวส์ วันจันทร์ 30 มิถุนายน 2557 เวลา

โพสต์เมื่อ 1 ก.ค. 2557 อ่าน 24368 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 230]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 753]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 5836]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 679]
ว 11/2567 หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2561]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)