จะเพิ่มโทษทางวินัย ต้องดำเนินการอย่างไร



สวัสดีค่ะ เพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน วันนี้สถานี ก.ค.ศ.จะขอเสนอกรณีการเพิ่มโทษทางวินัยจำต้องแจ้งข้อกล่าวหา และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยมีข้อเท็จจริงขอยกเป็นตัวอย่าง ดังนี้

นาย ถ. ตำแหน่งครูโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับนางสาว น. นักเรียนในโรงเรียนถึงขั้นได้เสีย และทำร้ายร่างกายนางสาว น. ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง แจ้งข้อกล่าวหาตามแบบ สว.2 และสอบสวนแล้วแจ้งให้นาย ถ. ทราบ ตามแบบ สว.3 ว่า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานชี้ชัดว่ามีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับนางสาว น. แต่ประการใด แต่ทำร้ายร่างกายจริง พฤติการณ์เป็นเพียงความผิดวินัยไม่ร้ายแรงตามมาตรา 94 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2557 นาย ถ.รับทราบแล้วไม่ประสงค์จะแก้ข้อกล่าวหาแต่ประการใด คณะกรรมการสอบสวนเห็นสมควรลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น ผู้บังคับบัญชาเห็นชอบจึงสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือน นาย ถ. 1 ขั้น นาย ถ.ไม่อุทธรณ์คำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น

ในชั้นรายงานการดำเนินการทางวินัย มิได้ดำเนินการประการใดเพิ่มเติม แต่มีมติให้เพิ่มโทษนาย ถ. จากโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น เป็นโทษไล่ออกจากราชการ นาย ถ.อุทธรณ์คำสั่งเพิ่มโทษต่อ ก.ค.ศ.

มีปัญหาจำต้องวินิจฉัยว่าคำสั่งเพิ่มโทษนาย ถ.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก.ค.ศ.พิจารณาแล้วเห็นว่า กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2550 ข้อ 42 กำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่า "การพิจารณาพยานหลักฐานว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยหรือไม่ อย่างไร ให้พิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน และต้องเป็นพยานหลักฐานที่ได้สรุปแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้วเท่านั้น" จึงถือได้ว่ามิได้ดำเนินการอธิบายข้อกล่าวหา และแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในฐานความผิดตามมาตรา 94 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน กรณีกระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียนหรือนักศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่ ตามข้อ 24 ของกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2550 และขัดกับมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

กล่าวโดยสรุป การที่มิได้ดำเนินการดังกล่าวข้างต้นเสียก่อนที่จะมีคำสั่งเพิ่มโทษนาย ถ. ผู้อุทธรณ์ถือเป็นขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งบุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น ดังนั้น จึงเป็นกระบวนการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ที่บกพร่องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งเพิ่มโทษ ผู้อุทธรณ์จากโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น เป็นโทษไล่ออกจากราชการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีมติให้ผู้บังคับบัญชาเพิกถอนคำสั่งเพิ่มโทษ ผู้อุทธรณ์ และสั่งให้ผู้อุทธรณ์กลับเข้ารับราชการ แล้วให้ผู้บังคับบัญชาไปดำเนินการทางวินัยแก่ ผู้อุทธรณ์ตั้งแต่ขั้นอธิบายข้อกล่าวหาและแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา (สว.3) ในฐานความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 94 วรรคสาม และต้องให้โอกาสผู้อุทธรณ์ที่จะชี้แจงให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาตามที่กำหนดไว้ในข้อ 24 ของกฎ ก.ค.ศ.ดังกล่าว พร้อมทั้งสอบพยานและ รวบรวมพยานหลักฐานที่เห็นว่าจำเป็น (เพิ่มเติม) เพื่อที่จะพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้อุทธรณ์ให้แจ้งชัดโดยสิ้นกระแสความเสียใหม่ แล้วดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

สำหรับบทความวันนี้คงจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าวนะคะ แล้วพบกันใหม่วันจันทร์หน้าค่ะ

 

โดย ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.

 

ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

โพสต์เมื่อ 2 ต.ค. 2557 อ่าน 6127 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


ด่วนที่สุด สพฐ.แจ้งการกำหนดค่าธรรมเนียมการสมัครคัดเลือกครูผู้ช่วย-ผู้บริหารสถานศึกษา 500 บาท [อ่าน 222]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 [อ่าน 403]
บอร์ด ก.ค.ศ. เห็นชอบปรับอัตราเงินเดือนครูตามมติ ครม. เดือนเม.ย.รู้ตัวเลขแน่นอน [อ่าน 1399]
ครม.ไฟเขียวตั้งบุรีรัมย์เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดที่ 20 [อ่าน 415]
ด่วน! สทศ.ประกาศผลสอบโอเน็ต ปีการศึกษา 2566 แล้ว [อ่าน 3699]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)