ความคิดสร้างสรรค์ (1)



ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความคิดสร้างสรรค์ ศธ.

 

เรื่องราวของความคิดสร้างสรรค์เริ่มค้นพบเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้วครับ โดยศาสตราจารย์ Paul E. Torrance นักจิตวิทยา น่าจะนับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องนี้

ท่านได้คิดแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ เพื่อวัดความสามารถในการ คิดที่ต่างจากแบบทดสอบ IQ ซึ่งใช้วัด สติปัญญา ความฉลาด ที่ใช้กันอยู่อย่าง แพร่หลายจนปัจจุบัน

การวัดความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ที่สร้างขึ้น ถึงแม้จะได้รับการยอมรับไม่มากนักในวงการการศึกษาขณะนั้น แต่ต่อมา Dr.Gernet Miller เพื่อนร่วมงานของศาสตราจารย์ Torrance ได้ติดตามผลความสำเร็จของเด็ก ๆ ที่เคยทดสอบความคิดสร้างสรรค์ ปรากฏว่าเด็กที่ทำคะแนนความคิดสร้างสรรค์ได้สูง ล้วนแต่ประสบความสำเร็จ เป็นเจ้าของสิทธิบัตร เป็นผู้ก่อตั้งกิจการใหม่ ๆ เป็นนักโฆษณาที่มีชื่อเสียง เป็นผู้สร้างนวัตกรรมด้านคอมพิวเตอร์ และส่วนมากเป็นผู้นำองค์กรต่าง ๆ

และยังมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าเด็กที่มีผลคะแนนความคิดสร้างสรรค์สูง ต่อมาจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน สูงกว่าเด็กที่มีผลคะแนน IQ สูง เรื่องของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นทิศทางใหม่ที่นานาประเทศให้ความสนใจมากครับ

ความเป็นห่วงในเรื่องนี้ ทำให้นักการศึกษาอเมริกันทำการวิจัย และมีผลวิจัยที่น่าสนใจคือผลการทดสอบ IQ ของเด็กอเมริกัน โดยเฉลี่ยตั้งแต่ 50 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน พบว่าเด็กในแต่ละยุคจะมีคะแนน IQ สูงขึ้น เรื่อย ๆ สรุปง่าย ๆ คือเด็กยุคใหม่ฉลาดกว่าเด็กยุคเก่ามาตลอด

ในขณะที่ผลการทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของเด็กยุคใหม่โดยเฉลี่ย มีคะแนนน้อยกว่าเด็กในยุคเดิม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อครับ แต่มีการยืนยันโดย Dr.Kyung Hee Kim อาจารย์ที่ College of William & Mary Virginia, U.S.A. ได้รวบรวมผลการสอบความคิดสร้างสรรค์ที่เด็กและผู้ใหญ่ 300,000 คนได้เคยทำไว้ และพบว่าก่อนปี 1990 คะแนนของความคิดสร้างสรรค์ของคนยุคก่อนจะสู้คนที่เกิดมาทีหลังไม่ได้ (สอดคล้องกับผลการสอบ IQ)

แต่หลังจากปี 1990 คะแนนความคิดสร้างสรรค์กลับตรงกันข้ามครับ คือเด็กยุคใหม่มีคะแนนความคิดสร้างสรรค์น้อยลงเรื่อย ๆ และที่น่าตกใจคือเด็ก มีคะแนนความคิดสร้างสรรค์น้อยลงเมื่อเรียนชั้นสูงขึ้น (การวิจัยนี้ทำในกลุ่มเด็กชั้นประถมที่อเมริกา)

เราอยู่ในโลกที่ต้องการคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการแข่งขัน และความร่วมมือในสังคมยุคใหม่ ล้วนต้องการคนคิดสร้างสรรค์ครับ เมื่อก่อนความคิดสร้างสรรค์ถือเป็นของแถม แต่วันนี้ใครมีก็จะรุ่ง และเป็นที่ต้องการมาก

แต่ในอนาคต ความคิดสร้างสรรค์จะกลายเป็นเรื่องจำเป็น คือถ้าใครไม่มีก็แย่ ประเทศไหนไม่ค่อยมีคนคิดสร้างสรรค์ ประเทศนั้นก็จะลำบาก เพราะคิดอะไร ไม่เป็น ต้องรอลอกเขา ไร้ปัญญา และต้องขายทรัพยากรกินไปวัน ๆ

ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับ CEO 1,500 บริษัทที่สหรัฐอเมริกาสรุปว่า ความคิดสร้างสรรค์ คือคุณสมบัติสำคัญที่สุดในการเป็นผู้นำในยุคนี้และอนาคต แต่ปัญหาคือคนอเมริกันมีความคิดสร้างสรรค์น้อยลงมาตลอดในช่วง 20 ปี มานี้ และนี่คือสิ่งที่นักการศึกษาเรียกมันว่า วิกฤตทางการศึกษาครับ

สิ่งที่อเมริกาทำวันนี้ คือการคิดและวิจัยรูปแบบการสอน เพื่อให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ และเร่งปฏิรูปการสอนแบบดั้งเดิม สู่รูปแบบการสอนใหม่ ที่จะช่วยให้ ผู้เรียนมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และทักษะสำคัญที่สุด คือทักษะในการคิดสร้างสรรค์

ปัจจุบันนักการศึกษาทั่วโลกให้ความสนใจที่จะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ แบบวัดความคิดสร้างสรรค์ที่ศาสตราจารย์ Torrance ได้ทำขึ้น จนมีผู้สนใจและนำไปใช้ถึง 50 ภาษา

สหรัฐอเมริกายังช้ามากครับในเรื่องนี้ อาจารย์ส่วนใหญ่ยังใช้วิธีสอน และการสอบแบบดั้งเดิม ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ กำลังพยายามช่วยพัฒนาให้ครู อาจารย์เปลี่ยนแปลงการสอนจากเดิมสู่การสอน รูปแบบใหม่ แต่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการสอน กลับไปอยู่ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

เริ่มกันที่ยุโรป ซึ่งประเทศในแถบนี้ส่วนมากมีการปฏิรูปการศึกษาจริงจัง และทำให้ครูเปลี่ยนการสอนได้มากกว่าอเมริกาเยอะ

อังกฤษเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ ปี 2008 เลิกท่องจำ เน้นให้คิดทุกวิชา ทั้งวิชาภาษา สังคม คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีการทดลองนำแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์มาใช้วัดผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนในหลายโรงเรียน

ปี 2009 กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปกำหนดให้เป็นปีแห่งความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม The European Year of Creativity and Innovation มีการจัดงานประชุมวิชาการด้านความคิดสร้างสรรค์ จัดงบประมาณให้บุคลากรทางการศึกษา เรียนรู้เรื่องความคิดสร้างสรรค์ และ ส่งเสริมการเปลี่ยนการสอนแบบเลกเชอร์ ให้เป็นการสอนแบบเอาปัญหาเป็นฐาน Problem-based Learning และให้นำปัญหาโจทย์ในชีวิตจริงเข้าสู่ห้องเรียน

 

  

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 ต.ค. - 2 พ.ย. 2557--

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ความคิดสร้างสรรค์ (2)

 

 

 

ความคิดสร้างสรรค์ (จบ)

โพสต์เมื่อ 31 ต.ค. 2557 อ่าน 8362 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


ถอดความสำเร็จโครงการ Chevron Enjoy Science ที่ต่อเติมพื้นที่ให้สะเต็มศึกษาเป็นเรื่องสนุก พร้อมปูทางสู่อนาคตประเทศ [อ่าน 336]
คอร์รัปชันในระบบการศึกษา...ความท้าทายที่ต้องเดินหน้าสู้ [อ่าน 21406]
กระทรวงศึกษาธิการ ปลดล็อคการศึกษาไทย พลิกฟื้นวิกฤติด้วยนโยบาย "ซ่อม สร้าง ป้องกัน" [อ่าน 3189]
นัยสำคัญยุทธศาสตร์การศึกษาในพลวัตศตวรรษที่ 21 สู่การเป็นประชาคมอาเชียน อย่างยั่งยืนสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไทย [อ่าน 2843]
8 โรงเรียนนวัตกรรมโลกตามหลัก Education 4.0 : สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.3 [อ่าน 3897]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)