องค์กรครูจี้ กก.สรรหาคุรุสภา รับผิดชอบถูกสอบเรียกเงิน



เมื่อวันที่ 29 มกราคม นายประวิทย์ บึงไสย์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) เปิดเผยว่า จากการประชุม ส.ค.ท. ประกอบด้วยองค์กรครู 4 ภูมิภาค เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือประเด็นการปฏิรูปการศึกษาโดยได้รวบรวมข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน และได้ข้อสรุปว่า ในการปฏิรูปการศึกษาจะต้องเน้นคุณภาพ ผู้เรียน โดยผลสำเร็จของผู้เรียนไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายหรือการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ และที่สำคัญควรต้องกำหนดให้มีหมวดที่ว่าด้วยการศึกษาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในด้านการศึกษา

"ที่ผ่านมายังไม่มีการนำเสนอที่ชัดเจนว่าควรกำหนดให้มีหมวดการศึกษาในรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้องค์กรครูได้รับฟังความเห็นจากครูและผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องกำหนดหมวดการศึกษาเป็นการเฉพาะ โดยเรื่องนี้ได้นำเสนอในเวทีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว ซึ่งเห็นด้วย และกำลังเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อไป" นายประวิทย์กล่าว และว่า ที่ประชุม ยังหารือถึงปัญหาการคัดเลือกผู้แทนคุรุสภา ในคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา 169 เขต ที่คณะกรรมการคุรุสภา แจ้งว่าพบข้อพิรุธในการสรรหา จึงมีมติเปลี่ยนคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการสรรหาใหม่ และตั้งคณะกรรมการประมวลจริยธรรม ผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องเรียกรับเงินนั้น ที่ประชุมได้มีมติมอบให้องค์กรครู 4 ภูมิภาคไปประสานกับผู้ถูกกล่าวหาให้แสดงความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรม ส่วนการจะกดดันให้ต้อง ลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น อาจจะเป็น การก้าวล่วงต่อบุคคลเกินไป ขณะเดียวกัน ก็อยากให้คนที่ออกมาพูดหรือกดดันหยุดทำร้ายคุรุสภาได้แล้ว

ด้านนายสนอง ทาหอม ที่ปรึกษา ส.ค.ท. กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ขออย่าแก้กฎหมายที่เป็นการปรับโครงสร้าง เพราะจะถอยหลังเข้าคลอง ควรพูดเรื่องคุณภาพที่ตกต่ำซึ่งเกิดจากปัญหาขาดแคลนครู ขาดงบประมาณ ไม่ใช่ขาดโครงสร้าง โรงเรียนขาดงบประมาณทำให้ต้องจัดผ้าป่าการศึกษาเพื่อขอรับความช่วยเหลือ นอกจากนี้สิ่งที่ทำลายคุณภาพการศึกษาและทำให้เด็กได้รับความเจ็บปวด คือ การที่ส่วนกลางแย่งกันจัดงาน การจัดประกวดหรือแข่งขันทักษะทางวิชาการต่างๆ ทำให้ครูทุ่มเทกับเด็กที่เป็นตัวแทนโรงเรียนเพียงไม่กี่คน ขณะที่เด็กส่วนใหญ่ถูกทอดทิ้ง ผลที่ออกมาคือคะแนนแบบทดสอบต่างๆ โดยเฉพาะแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ตกต่ำลง
 

 

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 31 ม.ค. 2558 (กรอบบ่าย)

 

โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2558 อ่าน 5566 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


ปฏิทินการจ้างและการประเมินนักการภารโรง ระยะเวลา 5 เดือน (พฤษภาคม – กันยายน 2567) [อ่าน 1608]
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด [อ่าน 484]
เล็งจัดงบฯ อาหารเช้าให้นักเรียน [อ่าน 444]
มาตรการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 [อ่าน 6310]
การย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัด สพฐ. (การย้ายกรณีปกติ) ประจำปี พ.ศ. 2567 [อ่าน 5484]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)