อาจารย์มหาวิทยาลัย บุคลากรชั้นสองในกระทรวงศึกษาธิการ โดย สุรศักดิ์ อมรรัตนศักดิ์



วันนี้มีเรื่องตลกในวงการศึกษาไทยมาเล่าให้ฟัง คือผู้เขียนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในปี 2530 ผู้เขียนได้ซี 9 ในขณะที่เพื่อนๆ และน้องๆ หลายคนที่เป็นครูประถม/มัธยมยังได้เพียงแค่ซี 6 แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันเพื่อนๆ และน้องๆ ที่เป็นครูประถม/มัธยมได้เงินเดือนแซงผู้เขียนไปเรียบร้อยแล้ว

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ มิใช่เป็นเพราะผู้เขียนเป็นคนขี้เกียจ หรือถูกลงโทษ เนื่องจากความบกพร่องในหน้าที่การงาน เงินเดือนจึงตามเพื่อนๆ ที่เป็นครูประถม/มัธยมไม่ทัน

แต่ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะเงินเดือนของผู้เขียนตันในแท่งรองศาสตราจารย์มานานแล้ว แต่เพื่อนที่เป็นครูประถม/มัธยมเมื่อเงินเดือนตันในแท่ง คศ.4 ก็สามารถไหลเลื่อนข้ามแท่งไป คศ.5 ได้โดยอัตโนมัติ

ไม่น่าเชื่อว่าผู้บริหารประเทศปล่อยให้เรื่องตลกแบบนี้เกิดขึ้นในวงการศึกษาของไทยมานานหลายปีแล้วได้อย่างไร

ท่านทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันครูประถม/มัธยม มีเงินเดือนมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย 8% ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 เป็นต้นมา

และยังมีความก้าวหน้าในการเลื่อนขั้นเงินเดือนดีกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย นั่นคือ ครูประถม/มัธยม ที่มีเงินเดือนตันสามารถไหลเลื่อนข้ามแท่งจาก คศ.2 เป็น คศ.3 และจาก คศ.3 เป็น คศ.4 โดยอัตโนมัติ

ในขณะที่เงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยยังไม่สามารถไหลเลื่อนข้ามแท่งได้ เช่นเงินเดือนตันในแท่งผู้ช่วยศาสตราจารย์จะไม่สามารถไหลเลื่อนไปรับเงินเดือนในแท่งรองศาสตราจารย์ได้ ไม่ว่าเงินเดือนจะตันมาแล้วกี่สิบปี

ถามว่าแล้วที่ผ่านมา 4 ปี อาจารย์มหาวิทยาลัยมัวไปทำอะไรกันอยู่ ทำไมไม่ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องนี้

จริงๆ แล้วต้องขอเรียนว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นข้าราชการและได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ (ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20,000 คน) ได้ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

เพียงแต่ผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมืองไม่เคยใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว ผู้บริหารอาจมองว่าการเรียกร้องของอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นเพียงเสียงนก เสียงกา

 

การเรียกร้องที่ผ่านมาของอาจารย์มหาวิทยาลัยมีทั้งในรูปแบบการเผยแพร่บทความในหนังสือพิมพ์ การยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ สกอ.และการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ผู้เขียนเองได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องนี้หลายครั้งตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เช่น ยุคตกต่ำสุดสุด ของอาจารย์มหาวิทยาลัย จะปล่อยให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีเงินเดือนน้อยกว่าครูประถมไปอีกนานแค่ไหน และอาจารย์มหาวิทยาลัย:ลูกเมียน้อยในกระทรวงศึกษาธิการ

และได้รวมกลุ่มคณาจารย์ที่ได้รับผลกระทบเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอความเป็นธรรมถึง 3 ท่าน ทุกท่านต่างก็รับปากว่าจะดูแลแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้เป็นอย่างดี แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีอะไรในกอไผ่

จริงๆ แล้วเรื่องการไหลเลื่อนข้ามแท่งของอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น ครม.ยุคคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เคยมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว ตามที่ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้ไขถ้อยคำไปแล้วในการประชุมครั้งที่ 5/2556 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556

เรื่องไหลเลื่อนข้ามแท่งของอาจารย์มหาวิทยาลัยตอนนี้ยังไปไม่ถึงไหน ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ ครม.มีมติอนุมัติมาปีกว่าแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยยังคงรับเงินเดือนแท่งใคร แท่งมัน ไม่สามารถไหลเลื่อนข้ามแท่งได้เหมือนกับครูประถม/มัธยม

ส่วนเรื่องการปรับเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ซึ่งมีคุณจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบในการปรับปรุงอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เพิ่มขึ้น 8% โดยให้นำเรื่องนี้เสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป

แต่ยังไม่ทันเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ คุณยิ่งลักษณ์ก็มีอันต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผลให้ ครม.ทั้งคณะต้องสิ้นสภาพตามไปด้วย

และเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เสนอเรื่องการปรับปรุงอัตราเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 8% ให้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา 19,696 คน จำนวนเงิน 2,332,990,173.35 บาท โดยปรับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 เช่นเดียวกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับไปแล้วไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นี่ก็ผ่านมากว่า 4 ปีแล้วที่อาจารย์มหาวิทยาลัยยังได้รับเงินเดือนน้อยกว่าครูประถม/มัธยม 8% แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาเลยแม้แต่น้อย

 

เรื่องนี้กลับทำท่าจะซ้ำร้ายลงไปกว่าเดิม เมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.เงินเดือน วิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ฉบับที่...พ.ศ....เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 (บุคลากรทางการศึกษาตาม พ.ร.บ.นี้ไม่ครอบคลุมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย)

หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านวาระ 3 จะมีผลทำให้ฐานเงินเดือนของครูประถม/มัธยม ยิ่งสูงกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยมากขึ้นไปอีก โดยเงินเดือนสูงสุดของ คศ.4 คือ 76,800 บาท (รวมข้ามแท่งแล้ว) ในขณะที่เงินเดือนสูงสุดของรองศาสตราจารย์อยู่แค่ 69,040 บาท ซึ่งแตกต่างกันถึง 7,760 บาท

คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เคยทำอะไรเพื่อพิทักษ์สิทธิของอาจารย์มหาวิทยาลัยบ้างพวกท่านไม่รู้สึกอายคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) บ้างเหรอที่พวกเขาทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อพิทักษ์สิทธิประโยชน์ในกับครูสังกัด สพฐ.

โดยความเป็นจริงแล้วสถาบันอุดมศึกษาควรเป็นผู้นำในเรื่องนี้เสียด้วยซ้ำ แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่าสถาบันอุดมศึกษาจะต้องคอยวิ่งไล่ตามก้นครูประถมอยู่ร่ำไป แล้ววิ่งตามอย่างไรก็ไม่เคยวิ่งตามทันสักที

แล้วต่อไปคนเก่งที่ไหนจะอยากมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หากคนเก่งไม่ยอมมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เชื่อว่าทุกคนคงคาดเดาได้ไม่ยาก

ที่ผ่านมามีอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งลาออกไปสมัครสอบเป็นครูในระดับประถม/มัธยม ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย

การศึกษาของไทยจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ หากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองยังไม่คิดจะแก้ไขปัญหานี้ แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะปล่อยให้เกิดสองมาตรฐานในกระทรวงศึกษาธิการไปอีกนานแค่ไหน

คสช.และรัฐบาลไม่คิดจะคืนความสุขให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยบ้างหรือ หรือจะต้องรอให้การศึกษาของไทยรั้งท้ายอาเซียนเสียก่อน จึงค่อยคิดแก้ไข เมื่อถึงเวลานั้น หากคิดได้ก็สายเกินไปแล้ว


(มติชนรายวัน 6 ก.พ.2558)

 

โพสต์เมื่อ 7 ก.พ. 2558 อ่าน 12152 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 2918]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 389]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 966]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 17592]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 857]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)