เปิดแนวคิดกระจายอำนาจ ยก รร.เล็กให้ท้องถิ่นดูแล



คณะอนุฯ กระจายอำนาจ ยำรวม แนวคิด คสช.-สนช.-สปช.-ศธ. คลอดกรอบขับเคลื่อนกระจายอำนาจ ต้องจัดการศึกษาแบบพึ่งพาท้องถิ่น ยกโรงเรียนเล็กให้ท้องถิ่นดูแล แปรสถานศึกษาเป็นนิติบุคคล ส่งเสริมกลไกจังหวัด สร้างความหลากหลาย เชื่อกระจายอำนาจแก้ปัญหาทุจริต

นายวรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการกระจายอำนาจ (ประธานคณะอนุฯ กระจายอำนาจ) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้วางกรอบร่างยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษาแบบเต็มรูปแบบ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะเลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ รวบรวมกรอบแนวคิดด้านการกระจาย อำนาจไปสู่สถานศึกษาที่มีอยู่แล้วจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และแนวคิดของ ศธ.เอง เพื่อนำมาประมวลสรุปและจัดทำกรอบขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจ

นายวรากรณ์กล่าวต่อว่า โดยร่างยุทธศาสตร์การ กระจายอำนาจจะมีใจความสำคัญทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่

1.การจัดการรูปแบบการศึกษา โดยองค์กรจากภาคส่วนอื่นในท้องถิ่นที่ไม่ใช่ภาครัฐ ภายใต้แนวคิดการศึกษาสมัยใหม่คือ การจัดการศึกษาไม่ใช่หน้าที่เฉพาะของรัฐเท่านั้น

2.แนวคิด การถ่ายโอนโรงเรียนขนาดเล็กให้กับท้องถิ่น จำนวน 15,000 โรง จากทั้งสิ้น 35,000 โรงทั่วประเทศ โดยต้องมองความพร้อมของท้องถิ่นที่รับโอนโรงเรียนไปด้วยว่ามีประสิทธิภาพในการจัดการศึกษามากน้อยเพียงใดด้วยทั้งนี้การถ่ายโอนโรงเรียนจำเป็นต้องได้รับความสมัครใจจากผู้บริหารและครูในโรงเรียนก่อนด้วย

3.ยกระดับให้โรงเรียนมีสถานะเป็น นิติบุคคล ที่สามารถบริหารจัดการโรงเรียนได้ด้วยตัวเอง มีอิสระที่จะบริหารได้ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน การวางกำลังคน และงบประมาณ

4.ต้องมีการส่งเสริมกลไกจังหวัด สร้างความหลากหลายของสถานศึกษา และสร้างการรวมตัวกันเองทุกภาคส่วนในท้องถิ่น เพื่อเข้ามาบริหารจัดการสถานศึกษาด้วยคนในท้องถิ่น เช่น หน่วยงานด้านวัฒนธรรม ด้านท่องเที่ยว เป็นต้น

"การรวมศูนย์อำนาจเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการคุณภาพทางการศึกษา ผมเชื่อได้ว่าหากมีการ กระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษาอย่างแท้จริงแล้ว คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาเอง จะช่วยให้เกิดการตรวจสอบกันเอง และแก้ปัญหาทุจริตในด้านต่างๆ ได้อย่างดีมากกว่ารอให้หน่วยราชการด้วยกันเองมาคอยติดตาม ว่าใครจะโกง ใครจะทุจริต" ประธานคณะอนุฯ กระจายอำนาจกล่าว.

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

โพสต์เมื่อ 7 ก.พ. 2558 อ่าน 14806 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 3402]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 405]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1000]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 17938]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 903]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)