ลุ้น สนช.แก้กฎหมาย 5 ฉบับ จ่าย 2.29 หมื่นล้าน ขึ้นเงินเดือน ขรก.



ความเป็น "รัฐราชการ" กำลังถูกออกแบบผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ข้าราชการ-อดีตข้าราชการ เป็นองค์ประกอบสำคัญในโครงสร้างอำนาจ ทั้งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

 

เพราะทั้งข้าราชการพลเรือน 1.98 ล้านคน และพนักงานรัฐวิสาหกิจอีก 2.68 แสนคน เป็นทั้งภาระและพลังในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะเวลาที่การบริหารราชการแผ่นดินอยู่ภายใต้อำนาจพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทุกจังหวะก้าวของข้าราชการ 18 กระทรวง กับ 2 สำนัก และรัฐวิสาหกิจ 56 องค์กร ล้วนมีผลต่อการอยู่-ไปของคณะรัฐบาล การบริหารค่าตอบแทน เพิ่มค่าจ้าง สวัสดิการ จึงเป็นพันธะหนึ่งของรัฐบาล 

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ข้าราชการจึงได้รับผลจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ขึ้นเงินเดือน-ค่าจ้าง มาแล้ว 5 กลุ่ม และพนักงานรัฐวิสาหกิจได้รับปรับค่าจ้างแล้ว 1 ครั้ง 

 

 


กลุ่มแรก มีผล 10 ก.ค. 2557 โดย คสช.อนุมัติเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ชคบ.) สำหรับผู้ที่ได้รับต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท โดยปรับเพิ่มให้ครบ 9,000 บาท มีข้าราชการได้รับสิทธิ์ 70,000 คน ใช้งบฯ เพิ่มปีละ 151 ล้านบาท 

กลุ่มที่สอง 1 ต.ค. 2557 ครม.อนุมัติเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวแก่ข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรม ใช้งบฯ 390 ล้านบาท 

กลุ่มที่สาม 
1 ต.ค. 2557 อนุมัติกระทรวงมหาดไทยปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนและค่าตอบแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. เทศบาล กว่า 1.62 แสนคนทั่วประเทศ 

กลุ่มที่สี่ 1 ต.ค. 2557 เพิ่มเงินค่าครองชีพข้าราชการและลูกจ้างชั้นผู้น้อยที่รายได้ต่อเดือนไม่ถึง 9,000 บาท เพิ่มเป็น 10,000 บาท ข้าราชการและลูกจ้างรายได้เกินกว่าเดือนละ 10,000 บาท เพิ่มให้ไม่เกินเดือนละ 13,285 บาท ใช้งบฯ 1,500 ล้านบาทต่อปี ครอบคลุมข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐชั้นผู้น้อย 380,000 คน

กลุ่มที่สี่ 
เดิมจะมีผล 1 เม.ย. 2558 และให้มีผลตกเบิกย้อนหลังถึง 1 ธ.ค. 2557 แต่ล่าสุดต้องเลื่อนออกไปจนกว่า พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. 9 ธ.ค. 2557 มีข้าราชการและพนักงานราชการได้รับสิทธิ์ 1.98 ล้านคน ใช้งบ ณ 22,900 ล้านบาท โดยปรับเพิ่มให้ 3 ขั้น หรือ 10% สำหรับบัญชีเงินเดือนแบบช่วง ข้าราชการอีก 6 ประเภท ได้ขึ้นเงินเดือนเพิ่มเติมอีก 1 ขั้น หรือ 4% รวมทั้งปรับเงินเดือนขั้นสูงของอันดับครูผู้ช่วยมากกว่าร้อยละ 10 ให้สอดคล้องกับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุวุฒิปริญญาเอก

กลุ่มที่ห้า อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อ 26 ม.ค. 2558 ให้ปรับปรุงอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ 35 แห่ง ที่ใช้บัญชีเงินเดือนค่าจ้าง 58 ขั้น ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยขั้นละ 6.5% จากเดิมอัตราจ้างขั้นต่ำ 5,780-9,040 บาท ปรับเป็น 9,040 บาท อัตราขั้นสูงสุดเดิม 113,520 บาท เพิ่มขั้นอีก 6.5% เป็น 142,830 บาท ทั้งหมดนี้ต้องเสนอ ครม.อีกครั้ง 

การปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการกลุ่มสี่ ครอบคลุมการปรับเงินเดือนให้ข้าราชการ 6 ประเภท (ดูตารางขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช. 5 ฉบับ คืือ 1.ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่..) พ.ศ. ...2.ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ฯ 3.ร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ ฯ 4.ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ฯ 5.ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา ฯ 

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเปิดเผยว่า ที่ ก.พ. มีหนังสือเวียนให้ชะลอการสั่งเลื่อนเงินเดือนตามการประเมินผลงานประจำปี ช่วงเดือน เม.ย. เพื่อรอให้ร่างกฎหมายมีผลใช้บังคับอาจทำให้ข้าราชการแตกตื่นบ้างแต่คงไม่ชะลอนาน

"ขึ้นเงินเดือน4%มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2557 แน่นอน ส่วนการปรับเงินเดือนจากผลงานที่ประเมินประจำปี วันที่ 1 เม.ย. คงไม่ทัน ก.พ.จึงออกหนังสือเวียน แต่ภายในเดือน เม.ย.น่าจะเสร็จ" 

นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ... กล่าวว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวใกล้เสร็จในชั้น กมธ.วิสามัญฯแล้ว เหลือการประชุม 2 ครั้ง จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. วาระ 2 พิจารณาเป็นรายมาตรา ตามกระบวนการจะผ่านวาระ 2 และ 3 วันเดียวกัน จากนั้นจะส่งให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่เกินกลางเดือน เม.ย. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

"การพิจารณาชั้น กมธ.วิสามัญฯ ไม่ได้พิจารณาเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ แต่มีทั้งหมด 5 ฉบับ ทั้ง 5 ฉบับจะผ่านการพิจารณาจาก สนช.พร้อมกัน เป็นประโยชน์ต่อข้าราชการ 2 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นช่วงสงกรานต์ จะตกเบิกย้อนหลังตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2557 ข้าราชการจะมีเงินจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น"

 



แจงเบรกขึ้นเงินเดือน


หลัง "ประชาชาติธุรกิจ"นำเสนอข่าว "เบรกเงินเดือนข้าราชการ-ไม่ทัน 1 เมษายน..." ปรากฏว่าข้าราชการทั่วประเทศตั้งคำถามมากมายว่าเพราะเหตุใดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่จึงล่าช้า "วิสูตร ประสิทธิ์ศิริวงศ์" รองเลขาธิการ ก.พ. แจงคำต่อคำเกี่ยวกับปัญหาและข้อสงสัยที่กำลังเกิดขึ้น


- ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนผ่าน สนช.เมื่อไหร่

คงขึ้นอยู่กับ สนช.เพราะวันนี้ (2 มี.ค. 2558) อยู่ในวาระ 2 แล้ว และจะประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพราะคณะกรรมาธิการชุดนี้ไปสัมมนาต่างจังหวัดกัน หลังวาระ 2 จะเป็นวาระ 3 ตอนนี้วาระ 2 เหลืองวดสุดท้ายแล้วเพราะกำลังรีวิวตัวอักษรกันอยู่ ส่วนวาระ 3 ขึ้นอยู่ว่าจะบรรจุเข้าสภาเมื่อไหร่ ถ้าบรรจุเร็วจะพิจารณาได้เร็ว สนช.พยายามอยู่

- ข่าวเบรกขึ้นเงินเดือนข้าราชการมีเสียงสะท้อนอย่างไรบ้าง

อาจเข้าใจผิด หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าจะไม่มีการปรับเงินเดือน จริง ๆ แล้วมีการปรับโดยใช้ฐานเงินเดือน 1 ธ.ค. 2557 และเวลาปรับฐานเงินเดือนจะปรับตามนั้น ปกติจะใช้ฐานเงินเดือน 1 มี.ค.เพื่อเตรียมปรับในเดือนเมษายนของทุกปี 

แต่ครั้งนี้เราให้หัวหน้าส่วนงานประเมินผลงานก่อน ที่มีข่าวสั่งชะลอการขึ้นเงินเดือน เพราะครั้งนี้นอกจากปรับเงินเดือนแล้ว ฐานเงินเดือนต้องเปลี่ยนด้วย ทำให้กระบวนการพิจารณาไม่ทันเดือนมีนาคม ปกติเดือนมีนาคมทุกปี แต่ละหน่วยงานจะเริ่มคำนวณเงินเดือนว่าแต่ละกรมจะมีตัวเลขเท่ากับเท่าไหร่ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ วงเงินต้องย้อนไป ถ้านานคือเดือนธันวาคม พูดง่าย ๆ คือข้าราชการระดับล่างทุกคนขึ้น 4% ก็ต้องไปคำนวณว่าถ้าเงินเดือนอยู่ในช่วงนี้ค่ากลางเท่ากับเท่าไหร่ ตรงนี้บัญชี ก.พ.มีอยู่แล้ว แต่ต้องรอกฎหมายแม่

- ข้าราชการที่ปรับเงินเดือนครั้งนี้อยู่ประมาณเท่าไหร่ 

ทั้งระบบ 1.98 ล้านคน แต่เป็นข้าราชการพลเรือน 3 แสน 7 หมื่นคน นอกนั้นเป็นทหาร, ตำรวจ, ข้าราชการรัฐสภา, ครูที่มีการปรับเงินเดือนใหม่ทั้งหมด ทหาร, ตำรวจไม่ยุ่งยาก เพราะเงินเดือนเขาเป็นแบบขั้น แต่พลเรือนจะคนละแบบ 

 

ดังนั้น กระบวนการพิจารณาจึงไม่น่าจะถึงเดือนมิถุนายน เพราะตอนนี้ สนช.กำลังเร่งพิจารณาอยู่ เบ็ดเสร็จถ้ามีการพิจารณาวาระ 3 รวดเดียว และบรรจุเข้าวาระ สนช.ภายในเดือนนี้ คาดว่าภายในเดือนมีนาคมทุกอย่างคงจบ 

แต่ถ้ามีกฎหมายสำคัญแทรกเข้ามาจนทำให้ต้องเลื่อนวาระ ก็อาจจะช้าไปบ้าง แต่คาดว่า สนช.คงอยากที่จะให้มีผลในเดือนเมษายน เพราะจะได้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ข้าราชการ

- ถ้ากฎหมายผ่าน เงินเดือนจะขยับเมื่อไหร่ 

กระบวนการพิจารณาของแต่ละหน่วยงานทำได้เลย เพราะ ก.พ.ให้ประเมินผลงานก่อนแล้ว เช่น ขึ้นเงินเดือน 3% จะรู้ว่าได้คะแนนเท่าไหร่ถึงได้ 3% ขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานจะประเมินช้าหรือเร็ว ถ้ากรมเล็กจะใช้เวลาสั้น แต่ถ้าเป็นหน่วยงานใหญ่อย่างกระทรวงสาธารณสุขที่มีข้าราชการราว 1 แสน 6 หมื่น-1 แสน 7 หมื่นคนจะใช้เวลามากหน่อย เหมือนกระทรวงมหาดไทยที่มีหน่วยงานกระจายอยู่ทั่วประเทศก็จะช้าหน่อย

 

 

 

ขอบคุณที่มาภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 05 มี.ค. 2558

 

โพสต์เมื่อ 6 มี.ค. 2558 อ่าน 14387 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.แจ้งการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2567 สมัครสอบทางออนไลน์เพียงรูปแบบเดียว [อ่าน 928]
ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ "เยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง" ปีที่ 18 ปีการศึกษา 2566 (ระดับประเทศ) [อ่าน 452]
การปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการจัดประชุมราชการ [อ่าน 587]
แนวทางการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ประเภทเงินเพื่อประโยชน์การศึกษา โครงการ "สุขาดี มีความสุข" [อ่าน 826]
แนวทางปฏิบัติการจัดทำหนังสือราชการ (เรียนดี มีความสุข) [อ่าน 1958]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)