ราชภัฏ ไร้ตำแหน่ง "ศาสตราจารย์" ขณะที่ มทร.มีเพียงคนเดียว



ก.พ.อ.เผยข้อมูลตำแหน่งวิชาการบุคลากรในรั้วอุดมฯ ตะลึง! “ราชภัฏ” ไม่มี “ศ.” ในสังกัด ขณะที่ “ราชมงคล” มีแค่คนเดียว เผยเร่งกำหนดนโยบายพัฒนาบุคลากร พร้อมเล็งตัดสิทธิ์อาจารย์ประวัติฉาวเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ

นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ประจำปี 2558 จำนวน 78 แห่ง และยังไม่ได้เสนอข้อมูลอีก 1 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย โดยมีบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งหมดประมาณ 183,335 คน แบ่งเป็น ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา 29,466 คน คิดเป็น 16.07% พนักงานมหาวิทยาลัย 100,156 คน คิดเป็น 54.63% พนักงานราชการ 2,202 คน คิดเป็น 1.20% ลูกจ้างประจำ 13,809 คน คิดเป็น 7.53% ลูกจ้างชั่วคราว 35,179 คน คิดเป็น 19.19% และอื่น ๆ 2,523 คน คิดเป็น 1.38% เมื่อจำแนกประเภทเป็นบุคลากรและประเภทสายงาน พบว่ามีบุคลากรสายวิชาการ ประมาณ 60,060 คน คิดเป็น 33% บุคลากรสายสนับสนุน ประมาณ 123,275 คน คิดเป็น 67%

ขณะที่บุคลากรที่ตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งหมด 10,621 คน แบ่งเป็น ผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ 251 คน รองศาสตราจารย์ (รศ.) 3,325 คน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) 7,045 คน โดยอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐ 5,109 คน มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ 2,014 คน มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 2,156 คน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 1,709 คน โดยในมรภ.ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เลยสักคนเดียว ส่วน มทร.มีผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ (ศ.) เพียง 1 คน นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการร่างประกาศ ก.พ.อ.เรื่อง มาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตรจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.)และศาสตราจารย์(ศ.) พ.ศ.... เพื่อเปิดกว้างให้นักวิชาการสายรับใช้สังคม สายปฏิบัติการสอน และผู้ที่ทำงานวิจัยต่าง ๆ ได้มีช่องทางในการขอเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติเท่านั้น

“ที่ประชุมมีความเห็นว่า ก.พ.อ.ควรกำหนดนโยยบายในการเร่งรัดให้พัฒนาบุคลากรในสายงานวิชาการให้มีวุฒิระดับปริญญาเอกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาที่ขาดแคลน รวมถึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ไปดูรายละเอียดในข้อกฎหมายให้รอบด้าน ทั้งกระบวนการ และดูไปถึงความมีจริยธรรมของผู้ที่จะขอเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการด้วย โดยมีข้อเสนอว่า กรณีที่เคยมีประวัติล้วงละเมิดทางเพศ นักศึกษา หรือมีความประพฤติไม่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงาน ก็อาจจะถูกตัดสิทธิในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เป็นต้น รวมถึงขอให้แยกประเภทของบุคลากร และประเภทของสถาบันอุดมศึกษาให้ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลและสามารถพัฒนาคุณภาพได้ตรงตามเป้าหมาย”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

 

 

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 23 เมษายน 2558 

โพสต์เมื่อ 24 เม.ย. 2558 อ่าน 7364 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


อำนาจในการอนุมัติจ่ายเงินเพื่อประโยชน์การศึกษา [อ่าน 124]
สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 6170]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 470]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1242]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 19228]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)