ครูช่วยครูหรือครูโกงครู



ครูช่วยครูหรือครูโกงครู

เมื่อสัปดาห์ก่อน ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมด้วยตัวแทนครู- อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้นำเอกสารและพยานหลักฐานพร้อมหนังสือร้องเรียนจำนวนกว่า 5,000 ฉบับ ยื่นเรื่องร้องต่อพ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. เพื่อขอให้สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบกับต้นสังกัดของโครงการกู้เงินโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.)

เรื่องนี้มีมูล เพราะ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า โครงการที่ผู้เสียหายมาร้องเรียนให้สำนักงาน ปปง.ตรวจสอบนั้น เป็นโครงการกู้เงินโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ร่วมกับธนาคารในการกำกับของรัฐและบริษัทประกันภัยในการกำกับของรัฐ ได้ปล่อยสินเชื่อการกู้เงิน โดยบังคับให้ทำประกันชีวิตวงเงินสินเชื่อเป็นเวลา 9-10 ปี โดยหักเงินจากยอดเงินกู้ พร้อมคิดดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นประโยชน์หากผู้กู้เสียชีวิตทางบริษัทประกันภัย จะชดใช้หนี้คืนให้ทั้งหมด ทั้งนี้ จากการตรวจสอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กลับได้รับแจ้งว่าทางธนาคารและบริษัทประกันภัยดังกล่าวได้ทำประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ ไม่ใช่ประกันชีวิตอย่างที่แจ้งกับครูผู้กู้ อีกทั้งไม่ได้ให้กรมธรรม์ประกันภัยใดๆแก่ครูผู้เอาประกันภัย ซึ่งมีผู้ร่วมโครงการกว่า 150,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 5,000 ล้านบาท ดังนั้น สำนักงาน ปปง. จะรับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบข้อมูลและพยานหลักฐานต่างๆว่าสถาบันการเงินดังกล่าวรับเงินแล้วไปดำเนินการอย่างไร

อันที่จริงโครงการ ช.พ.ค 5 มีปัญหาซับซ้อนไม่น่าโปร่งใสมาตั้งแต่เริ่มต้น พ.ศ 2552 เมื่อ สกสค. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ช.พ.ค. (โครงการ 5) โดยให้สมาชิก ช.พ.ค.ที่มีอายุการเป็นสมาชิกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป กู้เงินได้ในวงเงินสูงสุดถึง 600,000 บาท/คน และบังคับให้ผู้กู้ทุกรายต้องทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทประกันภัยในอัตราค่าเบี้ยประกันต่อคนต่อ 10 ปี ตั้งแต่ 6,200-37,200 บาท ขึ้นอยู่กับวงเงินกู้ยืม

นำไปสู่ข้อร้องเรียนว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนไม่น้อยต้องได้รับความเดือดร้อนจากโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. โดยเฉพาะกรณีที่ถูกบังคับให้ทำประกันชีวิตผู้กู้รายใหม่ แต่ธนาคารกลับจ่ายเงินสนับสนุนพิเศษให้สำนักงาน สกสค. โดยที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่ได้รับประโยชน์ โดยส่วนใหญ่เห็นว่า การบังคับให้สมาชิกช.พ.ค.ที่จะขอกู้ในโครงการ 5 ทำประกันชีวิต ควรจะต้องทบทวน เพราะเบี้ยประกัน 10 ปี ค่อนข้างสูงหากเปรียบกับการประกันของครูทั่วไป เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด ที่มีสมาชิกประมาณ 18,000 คน เก็บเบี้ยประกันเดือนละประมาณ 120 บาท หรือปีละ 2,400 บาท ได้รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต 600,000 บาท ในขณะที่โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.โครงการ 5 มีผู้กู้หลายแสนคน ดังนั้นเบี้ยประกันน่าจะถูกกว่านี้

การร้องเรียนในอดีต เรื่องเงียบไป มาถึงขณะนี้ ข้อมูลเผยว่า เรื่องการทำประกันชีวิตก็ไม่ขริง เป็นแค่กาประกันอุบติเหตุและสุขภาพ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องจริงก็เท่ากับต้มตุ๋นเงินจากครูคนต้นเรื่องทำก็เป็นครู คนถูกหลอกก็เป็นครู "แม่พิมพ์ของชาติ" ! แถมต้องมีสถาบันการเงินร่วมทำกันเป็นทีม หวังว่า ปปง. ยุคนี้ จะทำงานโปร่งใส ไม่อย่างนั้นคงหยุดครูโกงผลิตนักเรียนโกงไม่ได้

 

 

ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 2 มิถุนายน 2558

 

โพสต์เมื่อ 3 มิ.ย. 2558 อ่าน 4228 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 2016]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 360]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 920]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 16837]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 813]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)