"ปลัด ศธ."รับตำราหายจริง "บิ๊ก สพฐ."โต้ลือล็อกสเปก



ปลัด ศธ.รับตำรา 'คณิตวิทย์-ไทย' หายจริง ห่วงผู้เสียผลประโยชน์ 'ติดสินบนข่มขู่'

ปัญหาการบริหารงานภายในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) สร้างความเสียหายแก่องค์กร ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีข้อมูลหนังสือเรียนสูญหายจากคลังเก็บหนังสือขององค์การ สกสค.ตั้งแต่ปี 2556-2557 จำนวน 1,178,764 เล่ม คิดเป็นเงิน 68,597,656 บาท โดยหนังสือดังกล่าวได้เช่าเครื่องพิมพ์ของสำนักพิมพ์ "ศ" ในการจัดพิมพ์ เป็นหนังสือเรียนใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาไทย โดยพบว่าจำนวนหนังสือที่ส่งเข้าในคลังสินค้ากับจำนวนที่สั่งพิมพ์ไม่ตรงกัน ซึ่งนายสุเทพ ชิตยวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบปัญหาดังกล่าว

ความคืบหน้ากรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน แหล่งข่าวจาก ศธ.กล่าวว่า สาเหตุที่องค์การค้าฯจ้างสำนักพิมพ์ "ศ" เพียงแห่งเดียว ในการพิมพ์หนังสือเรียนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดให้กับองค์การค้าฯ เพราะในช่วง 1-2 ปีนี้ แท่นพิมพ์ที่องค์การค้าฯมีอยู่ล้าสมัย ไม่มีการซ่อมบำรุง และไม่มีการซื้อทดแทน เนื่องจากการบริหารงานขององค์การค้าฯในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีปัญหาหนี้สินประมาณ 4,000 ล้านบาท ทำให้ไม่มีงบประมาณ จึงทำสัญญาเช่ากับสำนักพิมพ์ "ศ" นำแท่นพิมพ์มาตั้งที่โรงพิมพ์องค์การค้าฯย่านลาดพร้าว โดยมีพนักงานสำนักพิมพ์ "ศ" เป็นผู้ควบคุมการพิมพ์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าฯ

ด้าน นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. กล่าวว่า จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีหนังสือเรียนใน 3 วิชา คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาไทย สูญหายจริง แต่จำนวนจะมากถึง 1.1 ล้านเล่มจริงหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ ต้องรอผลการตรวจสอบก่อน อย่างไรก็ตามในสมัยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เคยแต่งตั้งตนเป็นกรรมการสอบสอบข้อเท็จจริงนายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ซึ่งมีผู้ร้องเรียนว่ามีการเช่าแท่นพิมพ์เอกชนในราคาสูงกว่าราคากลาง และไม่เป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของกรมบัญชีกลาง ขณะนั้นนายสมมาตร์ให้เหตุผลว่าต้องจ้างแท่นพิมพ์เอกชนเพราะแท่นพิมพ์ขององค์การค้าฯไม่สามารถจัดพิมพ์หนังสือเรียนได้ทัน ผลการตรวจสอบเบื้องต้นมีมูลการทุจริตจริง แต่กระบวนการทั้งหมดต้องหยุดชะงักเพราะนายสมมาตร์ยื่นฟ้องคัดค้าน โดยระบุว่ารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไม่มีอำนาจสั่งการ เพราะองค์การค้าฯไม่ได้เป็นส่วนราชการ นายพงศ์เทพจึงส่งเรื่องสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงได้หรือไม่ และผลการตีความก็ยังไม่ออกมาจนถึงตอนนี้ สำหรับการตรวจสอบในขณะนี้คิดว่าไม่มีปัญหา เพราะรัฐมนตรีว่าการ ศธ.นั่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯด้วยตัวเองอยู่แล้ว จึงถือว่ามีอำนาจเต็มที่

"กรณีที่ผมมีข้อห่วงใยการทำงานนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. และนายสุเทพ ในการเข้ามาแก้ปัญหา เพราะปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นกับทั้งสององค์กรมีมูลค่าค่อนข้างมาก สิ่งที่ต้องระวังคือปัญหาการติดสินบน และผู้ที่เสียผลประโยชน์อาจจะใช้อิทธิพลมาข่มขู่ ผมก็ได้กำชับไปแล้วว่าถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นขอให้แจ้งทันที เพื่อจะขอกำลังทหารเข้าไปดูแล เช่นเดียวกันการตรวจนับจำนวนหนังสือที่สูญหายของนายสุเทพ ก็ขอความร่วมมือใช้กำลังทหารเข้าไปดูแลการตรวจนับเช่นกัน" นพ.กำจรกล่าว

ทนายความของนายสมมาตร์ ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ กล่าวว่า นายสมมาตร์ทราบเรื่องการตรวจสอบกรณีหนังสือเรียนหายแล้ว และได้ติดต่อตนเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลว่าหนังสือเรียนหายจริงไหม เพื่อชี้แจง ส่วนประเด็นอื่นๆ ยังขอไม่พูดถึงตอนนี้

ส่วนกรณีที่มีการส่งต่อข้อความทางแชตไลน์ เนื้อหาระบุว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ลงมติลับชี้มูลทุจริต นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และนายชินภัทร ภูมิรัตน อดีตเลขาธิการ กพฐ. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 กรณีล็อกสเปกห้องเรียน e-classroom ปีงบประมาณ 2555 และ 2556 นายกมลกล่าวยืนยันว่ายังไม่มีหนังสือใดๆ แจ้งมาจาก ป.ป.ท. สำหรับโครงการ e-classroom มีหลายโครงการ และหลายสำนักเสนอมายังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงไม่ทราบว่าโครงการที่ถูกกล่าวหาเป็นโครงการใด ถ้าพบว่าบกพร่องหรือละเลยยินดีรับผิดทุกประการ แต่ถ้าไม่ผิดก็พร้อมชี้แจงข้อมูลทุกเรื่อง อย่างไรก็ตามเท่าที่พยายามตรวจสอบยังไม่พบว่ามีการดำเนินการในเรื่องใดที่มีเจตนาในทางที่ผิด โดยระบบการตรวจสอบจะมีขั้นตอนตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่สำนัก หากไม่พบสิ่งผิดปกติตนก็ลงนามอนุมัติให้ตามที่เสนอ ยืนยันว่าการดำเนินการที่ผ่านมาไม่เคยมีการสั่งล็อกสเปกเพื่อให้ประโยชน์ใคร ดังนั้นคงไม่ไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตนเอง

"เรื่องนี้อาจเกี่ยวพันกับการแต่งตั้งโยกย้ายที่จะมีขึ้นในช่วงสิ้นปีงบประมาณนี้ ที่ผ่านมาผมอาจทำอะไรให้ใครไม่พอใจมากพอสมควร เช่น ย้ายบางคน บางกลุ่ม คนเหล่านี้อาจเคยได้ประโยชน์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจ มีอำนาจมีอิทธิพลอยู่ พอไปขยับหมุนเวียนหรือตัดตอนประโยชน์ที่เคยมี ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ทางราชการหรือทางธุรกิจ หรือแม้แต่การขอโครงการบางเรื่องที่ให้ไม่ได้ ก็อาจมีคนไม่พอใจ ผมจึงเริ่มทำโครงการ สพฐ.ใสสะอาด เพื่อให้การจัดสรรงบต่างๆ เป็นไปด้วยความโปร่งใส จากเดิมมักจะจัดงบซ้ำซ้อนไปยังโรงเรียนต่างๆ บางคนมีบริษัทอยู่ในมือ ก็ใช้เงินหลวงไปซื้อของบริษัทตัวเอง เป็นต้น" นายกมลกล่าว

นายกมลกล่าวอีกว่า การเผยแพร่ข้อความดังกล่าวถือว่าสร้างความเสียหาย แต่ไม่ได้รู้สึกทุกข์หรือกังวล โดยพยายามตรวจสอบว่ามีใครบ้างที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อมูล พบว่าผู้ที่เผยแพร่เรื่องนี้ล้วนเป็นคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งสิ้น ดังนั้นจึงได้ส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน เมื่อถึงเวลาอาจมีการฟ้องร้องตามกฎหมายต่อไป

 

ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 23 มิ.ย. 2558 (กรอบบ่าย) 

โพสต์เมื่อ 22 มิ.ย. 2558 อ่าน 4149 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 5690]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 450]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1203]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 18901]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 1001]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)