เด็กไทย เลือกชมทีวีอย่างไร ในสถานการณ์คอนเทนต์คับจอ



การเปลี่ยนแปลงธุรกิจสื่อหลังการประมูลช่อง “ทีวีดิจิตอล” ทำให้พฤติกรรมการเสพสื่อของประชาชนเปลี่ยนไปจากเดิมมีฟรีทีวี 6 ช่อง กลายเป็น 24 ช่อง และยังมีดาวเทียมอีกหลายช่องให้เลือกชม

ทำให้การช่วงชิงพื้นที่การแข่งขันเรตติ้งทวีความรุนแรง เพราะวันนี้ “รีโมตคอนโทรล” เป็นอาวุธที่สำคัญในการท้าชิง หลายช่องผลิต Content เพื่อดึงดูดผู้ชม จนบางครั้งขาดการขัดเกลาเนื้อหาที่นำเสนอ ส่งผลกระทบต่อเยาวชนไทยบางกลุ่มที่เสพสื่อโดยไม่ใช้วิจารณญาณขาดเกราะป้องกันในการเลือกรับชม

 

อสมท จึงจัด โครงการ “ปันความรู้ สื่อสร้างสรรค์ สู่โรงเรียน” ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่จะสร้างเยาวชนไทยรุ่นใหม่ ให้ไม่ตกเป็นทาสในสถานการณ์คอนเทนต์คับจอ

“ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์” กรรมการ บมจ. อสมท กล่าวว่า การแข่งขันทางด้าน Content เป็นกลไกในโลกของธุรกิจโทรทัศน์ ที่ผู้ผลิต ทุกรายต้องแข่งขัน ตราบใดที่เรตติ้งเป็นสิ่งที่สะท้อนระดับความนิยม และเป็นตัวสร้างเม็ดเงินจากเอเจนซี่ รายการที่เกิดขึ้นในสังคม ก็ยังต้องตกอยู่ภายใต้ธุรกิจ มากกว่าจะมีรายการคุณภาพแต่ไม่โดนตลาด

ทั้งนี้ การที่ อสมท ได้ให้ความรู้ในการเลือกรับสื่อแก่เยาวชน เพื่อสร้างเกราะป้องกันในการเลือกดู เลือกเชื่อ และเลือกตัดสินใจ

ในสภาวะสงครามทีวีดิจิตอล ซึ่งเปรียบเสมือนสมรภูมิที่แข่งขันด้านการผลิต Content อย่างดุเดือด ซึ่งบางครั้งขาดการกลั่นกรองคุณภาพรายการ รวมถึงการนำโฆษณาขายสินค้ามาสอดแทรกผ่านพิธีกรในรายการ ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยให้รายการได้รับเม็ดเงินโฆษณาจากผู้สนับสนุน

ทั้งนี้ น้อง ๆ ที่ผ่านการอบรมในหลักสูตร ก้าวทันสื่อ ได้สะท้อนมุมมองของ Content สื่อในปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ น้องออมสิน “ปวีณ์นุช สอนเตจา” นักเรียนโรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า จ. เชียงราย เล่าให้ฟังว่า การที่ช่องโทรทัศน์ดิจิตอลมีจำนวนเพิ่มขึ้น ไม่รู้ว่าช่องไหนนำเสนอเรื่องจริง หรือเรื่องเท็จ ดังนั้นต้องใช้วิจารณญาณในการรับเลือกรับชม โดยการนำข้อมูลหลายด้านมาประกอบกัน

“ความรู้ที่ได้รับจากการอบรม สามารถนำมาเป็นองค์ประกอบในการเลือกช่องรายการได้ ทั้งนี้ ก่อนการอบรม ตนเคยหลงเชื่อคำเชิญชวนโฆษณา จากพิธีกร รายการหนึ่ง แต่เมื่อซื้อสินค้ามาทดลองใช้กลับกลายเป็นสินค้าที่ไม่ได้มามาตรฐาน ซึ่งการอบรม ทำให้ตนเห็นความเป็นจริงของสื่อมากขึ้น”

ด้าน น้องนพ “สุเมธ ขำใจ” นักเรียนโรงเรียนคีรีมาศพิทยาคม จ.สุโขทัย แสดงความเห็นว่า ตนจะเลือกดูรายการที่มีประโยชน์ มากกว่า ละคร เพราะการเสพสื่อที่มีประโยชน์ เป็นการเพิ่มความรู้ให้ตนทั้งด้านการเรียน และการดำเนินชีวิต

อย่างเช่น อสมท มีรายการ คนค้นฅน ที่ออกอากาศในช่วงเวลาเดียวกับละครหลังข่าว ซึ่งตนมองว่า เป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นการเพิ่มทางเลือกสื่อที่มีประโยชน์ให้กับเยาวชน ซึ่งจากนี้ต่อไปตนจะนำความรู้จากการอบรมไปปรับใช้ในการบริโภคสื่อ”

นอกจากนี้ น้องนิดา “นิดา บุญศรี” นักเรียนโรงเรียนเชียงรายวิทยาคม จ. เชียงราย ได้เสนอความคิด ว่า ทุกช่องต่างใช้ละคร ในการเพิ่มกลุ่มผู้ชมจนละเลย ความสำคัญของคุณภาพรายการ แม้ว่าปัจจุบันจะมีช่องทีวีเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้มองเห็นว่าจะมีรายการที่โดดเด่นสักเท่าไหร่
“ในทางกลับกัน ตนต้องใช้การวิเคราะห์สื่อ เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะรายการมีคุณภาพลดลง”

ซึ่งความสำคัญของการเพิ่มเรตติ้งยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในการคงอยู่ สวนทางกลับคุณภาพรายการที่ลดลงไปอย่างต่อเนื่อง การก้าวทันสื่อ จึงเป็นอีกภารกิจหนึ่งขององค์กรสื่อที่สำคัญในการให้เยาวชนซึ่งเป็นรากฐานของสังคม ได้ตระหนักและเรียนรู้ สื่อ ให้เท่าทัน กับการเปลี่ยนแปลง

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 

โพสต์เมื่อ 1 ก.ค. 2558 อ่าน 4216 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 4635]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 418]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1078]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 18370]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 947]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)