ตจว.ค้านเปลี่ยนเครื่องแบบอาชีวะ



ชี้ปัญหาวิวาทแค่ส่วนน้อยเกาให้ถูกที่/รัฐและเอกชนหารือสัปดาห์หน้าฟันธง!

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยถึงมาตรการการป้องกันนักศึกษาอาชีวศีกษา ก่อเหตุทะเลาะวิวาทตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีว่า ในสัปดาห์หน้าจะเชิญคณะทำงานและผู้บริหารโรงเรียนในสังกัดอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด มาพิจารณาระเบียบว่าด้วยการแต่งกายของนักเรียนนักศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สมัยนายศรีเมือง เจริญศิริ อดีตรมว.ศึกษาธิการ ได้ลงนาม ซึ่งมีระเบียบการแต่งกายของนักศึกษา ระดับ ปวช. เปิดช่องไว้ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา กรรมการสถานศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น จะมาประชุมกันว่าจะแก้ปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะกันอย่างไร โดยจะแยกการแต่งกายของระดับ ปวช.และ ปวส. ออกจากกัน

"การแต่งเครื่องแบบนักศึกษาระดับ ปวช.จะเหมือนกันทั้งประเทศหรือไม่นั้น ต้องมาหารือกันอีกครั้ง เนื่องจากวิทยาลัยในต่างจังหวัด จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการทะเลาะวิวาท แต่ที่แน่ๆ วิทยาลัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบแน่นอน ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุป" ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว

นายราเชนทร์ กาบคำ ผอ.วิทยาลัยเทคนิคน่าน กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยเพราะวิทยาลัยในต่างจังหวัดยังไม่ค่อยมีเรื่องทะเลาะวิวาทถึงขั้นฆ่ากันตาย แต่ถ้าจะเปลี่ยนก็น่าจะเปลี่ยนในเมืองใหญ่ๆที่มีปัญหามากกว่า ในต่างจังหวัดมองว่าเครื่องแบบเป็นชุดแห่งความศักดิ์สิทธิ์ใส่แล้วมีความภาคภูมิใจในสถาบัน ซึ่งคิดว่าการเปลี่ยนเครื่องแบบนักศึกษาเหมาะสมเฉพาะบางจุดเท่านั้น หากจะแก้ปัญหาภาพรวมทั้งหมดก็ไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษายังมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ และมีอะไรหลายๆอย่างที่บ่งบอกถึงความเป็นนักเรียนนักศึกษา

นายวิสุทธิ์ ชินนาพันธ์ ผอ.วิทยาลัยเทคนิคลำปาง กล่าวว่า ปกตินักศึกษาใส่เครื่องแบบก็ดีอยู่แล้วไม่น่าจะเอาปัญหาของคนในกรุงเทพฯ ซึ่งมีน้อยมากมาแก้ปัญหาของคนทั้งประเทศที่เรามีวัฒนธรรมการแต่งกายเหมือนกันอยู่แล้วตนคิดว่ามันไม่ถูกต้อง เด็กเรียนสายสามัญใส่เสื้อขาวกางเกงสีกลมท่ามาเรียนเป็นปกติอยู่แล้ว พอเด็กจะเข้าปฏิบัติงานก็มาเปลี่ยนใส่ชุดช็อปก็เป็นวัฒนธรรมของเราแล้วใครเห็นก็รู้ว่าเด็กเรียนเทคนิค เรียนอาชีวะ หรือเรียนการอาชีพ

"ผมอยากถามว่ามีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกันจนเสียชีวิตเกิดขึ้นในต่างจังหวัดหรือไม่ ซึ่งแทบจะไม่มี มีก็แต่กรุงเทพฯ ปริมณฑลก็ต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด เรื่องนี้ผมไม่เห็นด้วยและจะแก้ปัญหาโดยให้เด็กแต่งชุดไปรเวทก็จะไม่มีระเบียบ และต้องมากำหนดค่าใช้จ่ายกันใหม่ ซึ่งไม่ใช่น้อยๆมีปัญหาตรงไหนแก้ตรงนั้นจะดีกว่า"นายวิสุทธิ์ กล่าว 

 

ที่มา สยามรัฐ วันที่ 6 ก.ค.2558

โพสต์เมื่อ 7 ก.ค. 2558 อ่าน 5876 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ "เยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง" ปีที่ 18 ปีการศึกษา 2566 (ระดับประเทศ) [อ่าน 124]
การปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการจัดประชุมราชการ [อ่าน 149]
แนวทางการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ประเภทเงินเพื่อประโยชน์การศึกษา โครงการ "สุขาดี มีความสุข" [อ่าน 526]
แนวทางปฏิบัติการจัดทำหนังสือราชการ (เรียนดี มีความสุข) [อ่าน 1334]
ปฏิทินการจ้างและการประเมินนักการภารโรง ระยะเวลา 5 เดือน (พฤษภาคม – กันยายน 2567) [อ่าน 2191]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)