แนะครูยึดหลัก "เอ๊ะ อ้อ อ้าว" สอนภาษาไทยยุคดิจิทัล



แนะครูยึดหลัก'เอ๊ะ อ้อ อ้าว'สอนภาษาไทยยุคดิจิทัล
สุพินดา ณ มหาไชยรายงาน

#showpic

วันภาษาไทยแห่งชาติ เวียนมาถึงอีกครั้งในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักภาษาพูดถึงกันมากในช่วงนี้ก็คือ การสอนภาษาไทย ในโลกยุคดิจิทัล เพราะอินเทอร์เน็ตที่มาพร้อมกับโซเชียลมีเดีย ทำให้วัฒนธรรมการสื่อสารและใช้ภาษาไทยเปลี่ยนไป ซึ่งรวมถึงการใช้ภาษาของเยาวชนด้วย ครูภาษาไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้ให้ได้

ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ประธานอนุกรรมการกำหนดกรอบแผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายภาษาแห่งชาติภาคีสมาชิก ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาภาษาไทย ราชบัณฑิตยสภา กล่าวในการสัมมนาวิชาการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา “สมเด็จเจ้าฟ้าในดวงใจ ภาษาไทย ภาษาชาติ” ว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน มี 3 เรื่อง 1.การเปลี่ยนแปลงทางภาษา ภาษาทุกภาษาในโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในแง่นักภาษาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ครูภาษาไทยต้องสอนให้เด็กรู้จักเลือกใช้ภาษาให้ถูกต้องตามกาลเทศะ ภาษาจะมีกลุ่มการใช้งาน เช่น ภาษาที่ใช้ทางการ ภาษาที่ใช้ในกลุ่มเพื่อน คนที่เก่งคือผู้ที่สามารถใช้ภาษาได้ทุกรูปแบบโดยถูกต้องตามกาลเทศะ
2.ครูภาษาไทย ครูที่สอนวิชานี้บางส่วนไม่ใช้ผู้รู้ที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าคนที่รู้ภาษาไทยทุกคนจะสอนภาษาไทยได้ ต้องมีความรู้ทางภาษาศาสตร์และรู้วิธีสอน และ 3.เด็กไทยส่วนใหญ่ไม่ตั้งใจเรียนวิชานี้ เด็กไทยเรียนเพราะต้องการแค่ตั๋ว 1 ใบเพื่อเบิกทางสู่การเรียนต่อหรือการสมัครงาน และโลกปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น ถ้าไม่รู้จริง จะแข่งกับคนอื่นไม่ได้ เด็กไทยเรารู้แค่ภาษาเดียว แต่เด็กประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในไทยนั้น พูดได้ 3 ภาษา คือ อังกฤษ ไทย และภาษาประจำชาติของเขา

พร้อมพนิต เกตุทิพย์ ครูภาษาไทย โรงเรียนตะพานหิน จ.พิจิตร บอกว่า จากประสบการณ์สอน 7 ปี ปัจจัยและบริบทที่มีผลต่อการเรียนรู้ภาษาไทยนั้น นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางภาษาแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางสื่อและสิ่งแวดล้อม ประเพณี วัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ภาษาไทยของเด็กด้วย

"ปัจจุบัน โลกไม่ได้มีแค่ใบเดียว แต่มีโลกจริงและโลกเสมือน เด็กบางคนผู้ปกครองให้อิสระมาก เด็กก็จะอยู่ในโลกเสมือนมากกว่าโลกจริง ซึ่งก็คือโลกในอินเทอร์เน็ตหรือเกม และในโลกเสมือนนั้น วัฒนธรรมไทยที่เคยยึดถือกันอยู่ จะถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมต่างชาติที่ไหลบ่าเข้ามา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภาษา อีกทั้งพฤติกรรมผู้เรียนก็จะเปลี่ยนไปด้วย เด็กเข้ามาในห้องเรียนพร้อมโทรศัพท์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา นั่นหมายถึงความรู้ลอยอยู่รอบๆ ตัวเขา เด็กจะไม่สนใจครูอีกต่อไปเพราะคิดว่าเขาสามารถหาความรู้เอาเองได้ เพราะฉะนั้น ครูจะต้องปรับตัว ปรับห้องเรียนเสียใหม่"

พร้อมพนิต บอกต่อว่า ที่มาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต คือ ค่านิยมและความคิดที่เปลี่ยนไป เด็กสมัยนี้โตด้วยความคิดว่า โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เป็นคนในวัฒนธรรมดิจิทัล เสพข้อมูลดิจิทัลตลอดเวลา เชื่อว่า ทุกอย่างต้องรวดเร็ว อะไรช้า ไม่ทันใจ ก็จะไม่เรียน ถ้าวันนี้ ครูภาษาไทยยังเดินเข้ามาในห้องเรียน แล้วค่อยๆ พูดช้าๆ เหมือนเดิมๆ นักเรียนจะปฏิเสธห้องเรียนทันที

เพราะฉะนั้น ความท้าทายอยู่ที่ว่า ครูในศตวรรษที่ 21 จะทำอย่างไรให้นักเรียนที่นับถือวัฒนธรรมดิจิทัล มีวิธีคิดแบบเรา ให้วรรณคดีไทยใกล้ตัวเขา ให้เห็นว่า ภาษาไทยมีคุณค่าประโยชน์ต่อเขา โดยส่วนตัวเห็นว่า ต้องมีการปรับการสอนให้น่าสนใจ อย่างจะสอนเรื่องวรรณคดีไทย แทนที่จะเปิดหนังสือสอนเด็ก ก็จะเปลี่ยนเป็นสอนวรรณคดีโดยกระบวนการละครแทน ทำให้เด็กสนใจมากขึ้น

ศ.อัจฉรา ชีวพันธ์ อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า การสอนภาษาไทยยุคนี้ ครูต้องปรับเทคนิคการสอนด้วย สร้างเทคนิคการสอนที่ดึงความสนใจจากนักเรียนได้ ยึดหลัก “เอ๊ะ อ้อ อ้าว” หมายถึง พลิกแพลงหาวิธีสอนใหม่ๆ ให้นักเรียนตื่นเต้น สนใจการเรียนการสอน นอกจากนั้น ครูต้องส่งเสริมต้องให้ผู้เรียนมีการสื่อสารด้วยกระบวนการคิด

“บทบาทครูต้องเปลี่ยน ครูไม่ใช่พระเอก นางเอก หรือผู้กำกับอีกต่อไป แต่ครูต้องเล่นบทดาวยั่ว ไม่ใช่หมายถึงมานุ่งกระโปรงสั้นแต่งตัวโป๊ แต่ครูต้องรู้จักยั่วยุให้เด็กเกิดการคิด คิดรูปแบบการสอนที่ฝึกให้เด็กคิดและเรียนรู้การสื่อสารด้วยกระบวนการคิด ครูต้องก้าวให้ทันยุคโซเชียลมีเดียด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กอยู่กับข้อมูลในอินเทอร์เน็ตซึ่งไม่สามารถการันตีได้ว่า ถูกต้องหรือเป็นความจริงหรือไม่ นอกจากนั้น ครูจะต้องแก้ไขการใช้ภาษาไทยที่ผิดให้เด็กด้วย เพราะปัจจุบันมีการใช้ภาษาไทยผิดเพี้ยนกันมาก ครูไม่ได้สอนแต่หลักภาษา ต้องสอนการนำไปใช้ด้วย" ขณะที่ ศศิธร พิทยรัตน์เสถียร ครูสอนการออกเสียงให้แก่ดารานักแสดง กล่าวในการสัมมนาเด็กและเยาวชน “ภาษาไทยกับวัยรุ่น” ว่า การสื่อสารในโลกโซเชียลมีเดียนั้น มีแนมโน้มว่า ผู้เขียนไม่ได้สนใจสะกดคำให้ถูกต้อง ส่วนผู้อ่านก็ไม่ได้ทักท้วง ทำให้เกิดการจำผิดและใช้ภาษาผิดตามๆ กัน นอกจากนั้น การสื่อสารไลน์ปัจจุบัน นิยมใช้สติกเกอร์ หรือ อิโมจิ แสดงอารมณ์ของผู้พูดกันมากโดยเฉพาะในวัยรุ่น แต่การใช้สติกเกอร์มีแนวโน้มทำให้เราดราม่า แสดงอารมณ์ใหญ่เกินจริงไปตามอารมณ์ของสติกเกอร์ ถ้าไม่ระวังให้ดี อาจทำให้เกิดการแสดงอารมณ์มากเกินไปจนผิดกาลเทศะ การเอาแต่ใช้สติกเกอร์สื่อสารแทนคำพูดนั้น อาจทำให้เราอยู่ในภาวะอับจนถ้อยคำ ไม่สามารถจะหาคำพูดมาอธิบายในสิ่งที่ตัวเองต้องการสื่อได้

 

ที่มา คมชัดลึก วันที่ 28 กรกฎาคม 2558

 

โพสต์เมื่อ 30 ก.ค. 2558 อ่าน 10156 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.แจ้งประชุมการเตรียมความพร้อม และมอบนโยบายก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 [อ่าน 824]
ด่วน! สพฐ.ประกาศสอบบรรจุ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี พ.ศ. 2567 รอบทั่วไป [อ่าน 1161]
สพฐ.ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งเพื่อบรรจุฯ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38ค. (2) [อ่าน 872]
ก.ค.ศ. จับมือ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ ใช้ระบบอักขราวิสุทธิ์ตรวจสอบผลงานวิชาการครูขอเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 326]
สพฐ. แจงชัดให้อิสระโรงเรียนซื้อหนังสือ เน้นย้ำดำเนินการตามแนวทางการจัดซื้ออย่างเคร่งครัด [อ่าน 694]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)