ปฏิรูปการศึกษาปรับหลักสูตรตามท้องถิ่น ทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21



เมื่อไม่นานมานี้ “ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ” ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนกับพลังชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชนภายใต้การสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. จัดประชุมแนวทางการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นตำบลบ้านขาว ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านขาว ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดบ้านขาว ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดคูวา ครู คณะกรรมการสถานศึกษา และตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านขาว ที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขาว อ.ระโนด จ.สงขลา

"ศ.ดร.สมพงษ์" กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นตำบลบ้านขาว อาจเป็นโจทย์เล็กที่ท้าทายของตำบลบ้านขาว แต่เป็นโจทย์สำคัญของประเทศ เพราะเรื่องการทำหลักสูตรท้องถิ่นให้เข้าไปสู่ระบบโรงเรียนได้ ถ้าดำเนินการจนเกิดผลสำเร็จก็จะเป็นต้นแบบนำสู่การปฏิรูปการศึกษาของประเทศในอนาคต

เนื่องจากแนวโน้มการปฏิรูปการศึกษาหลังจากนี้ จะเน้นการวางรากฐานเรื่องการสร้างคนดี ไม่เน้นคนเก่ง อีกทั้งทิศทางการศึกษาทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องจิตสำนึก จิตวิญญาณ แต่การศึกษาในประเทศไทยกลับสวนทางให้ความสำคัญกับมาตรฐานและตัวบ่งชี้ ดังนั้น หากต้องการให้เด็กเป็นคนดี มีคุณธรรม ศีลธรรม ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้และเข้าไปสัมผัส เจาะลึกเรื่องศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญ

"ผมจะเดินหน้าทำเรื่องหลักสูตรท้องถิ่นอย่างจริงจังในระดับนโยบายส่วนกลาง ส่วนระดับท้องถิ่นได้กำหนดโครงสร้างหลักสูตร 60:40 ประกอบด้วย 1.หน่วยงานเรียนรู้ (Unit) ตามที่ออกแบบ 2.เรียนครึ่งวัน ทำกิจกรรมครึ่งวัน โดยเนื้อหาหลักสูตร 40 เกิดจากบริบทของท้องถิ่น รากเหง้า ประวัติศาสตร์ ซึ่งเด็กและเยาวชนในพื้นที่พัฒนาให้เป็นหลักสูตรเชิงบูรณาการในโรงเรียน ให้เด็กได้ออกจากระบบการศึกษาในรูปแบบเดิมที่เป็นลักษณะเรียนเพื่อไปแข่งขันกันสอบ แต่เด็กไม่มีราก ประวัติศาสตร์ ชุมชน ไม่คิดถึงบ้านไม่อยากกลับมาหาพ่อแม่ ดังนั้น ต้องทำให้เด็กกระหายการเรียนรู้ กระโจนเข้าหาข้อมูล ศึกษาค้นคว้า ตั้งโจทย์ได้ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21"

"เรากำลังทำสงครามกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ลูกหลานเราจะรอดกี่คน ดังนั้น ต้องนำหลักสูตรท้องถิ่นบูรณาการเข้าไปในโรงเรียนให้ได้พาเด็กออกสู่ชุมชน ครูจะไม่สอนหนังสือในห้อง แต่จะเป็นวิทยากรกระบวนการ ผู้นำการศึกษาก็ต้องฝังตัวอยู่ในชุมชน ทำให้โรงเรียนในชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งหลังจากที่ทดลองมา 3-4 ปี พบว่านี่คือโจทย์ของประเทศแต่จะทำอย่างไรกับระบบที่เป็นโครงสร้างเดิม ๆ เต็มไปด้วยตัวเลขข้อมูลและไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด ของแท้การศึกษามาแล้วแต่เราจะจัดการกับของปลอมทางการศึกษาอย่างไร และประเด็นสำคัญคือการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ช่วยกันพลิกโฉมการศึกษาไทย"

ขณะนี้ เด็กรอผู้ใหญ่จัดการทางความคิด เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นเรื่องที่ท้าทาย ถ้ามองเชิงนโยบายสำคัญ เรากำลังมองการเคลื่อนตัว แต่มาเจออุปสรรค แต่เชื่อว่าขณะนี้สิ่งที่พยายามทำมายาวนานจะประสบความสำเร็จ เพราะข้างบนกำลังเปลี่ยนวิธีการคิด จะได้เห็นการลงมือปฏิบัติเสียที เราจะไม่โลกสวยในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อลูกหลานต่อไป

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 2 กันยายน 2558 

โพสต์เมื่อ 4 ก.ย. 2558 อ่าน 10958 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


รายละเอียดการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2567 [อ่าน 291]
สพฐ.แจ้งการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2567 สมัครสอบทางออนไลน์เพียงรูปแบบเดียว [อ่าน 1133]
ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ "เยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง" ปีที่ 18 ปีการศึกษา 2566 (ระดับประเทศ) [อ่าน 535]
การปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการจัดประชุมราชการ [อ่าน 755]
แนวทางการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ประเภทเงินเพื่อประโยชน์การศึกษา โครงการ "สุขาดี มีความสุข" [อ่าน 951]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)