"ปลัด ศธ."โต้เพิ่งลดเรียน"สช.-ผอ.ร.ร."ชี้เด็กพอใจขอ"เสริมสวย-ทำอาหาร"



#showpic

ปลัด ศธ.โต้ข้อมูลผู้ตรวจราชการฯที่ระบุกิจกรรม ลดเวลาเรียนฯ ของ'ดาว์พงษ์' ไม่เวิร์กในพื้นที่ภาคอีสาน ย้ำยังเป็นช่วงแรกของนำร่อง จัดส่งทีมสมาร์ท เทรนเนอร์เข้าช่วยแล้ว

กรณีโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เกือบ 4,000 โรงเรียน นำร่องกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ตามนโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. โดยดีเดย์ไปเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 และผลการติดตามกิจกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของผู้ตรวจราชการ ศธ.พบว่า ครูส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและไม่ถนัดการออกแบบกิจกรรมที่เชื่อมโยงหลักสูตรสู่การปฏิบัติในช่วงเพิ่มเวลารู้ ทำให้กิจกรรมยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่หวังให้เด็กคิดวิเคราะห์ได้ อีกทั้งครูมองว่าเพิ่มภาระงาน ขณะที่ผู้ปกครองหวั่นว่าเด็กเรียนไม่ครบหลักสูตร ส่วนโรงเรียน ขยายโอกาส เด็กมาเรียนไม่ทันเพราะโรงเรียนจัดตารางเรียนเร็วขึ้น และโรงเรียน ขนาดเล็กขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ในการจัดกิจกรรม จนต้องขอรับการสนับสนุนจาก ผู้ปกครอง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และชุมชนนั้น

เมื่อวันที่ 3 มกราคม นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงแรกของการนำร่อง ปัญหาการดำเนินงานจึงอาจมีอยู่บ้าง เพราะบางโรงเรียนยังไม่เข้าใจแนวทางการปฏิบัติตามนโยบาย จึงมีปัญหาเรื่องการจัดกิจกรรมให้กับนักเรียน เช่น การเปิดเพลงให้เด็กฟังหรือให้เด็กเล่นกีฬาเพียงอย่างเดียว ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ศธ.ได้ส่งทีมสมาร์ทเทรนเนอร์เข้าไปช่วยแก้ปัญหา ปรับกิจกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน

"ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำร่อง หากหวังจะเห็นผลทันทีคงยังไม่ชัดเพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ที่ผ่านมามีการทยอยรายงานผลและเก็บข้อมูลมาโดยตลอด ผลตอบรับส่วนใหญ่ค่อนข้างดี เด็กมีความสุขในการเรียนเพิ่มมากขึ้น ครู ผู้ปกครองและชุมชนก็มีความสุขไปด้วย นอกจากนี้ยังมีองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนสนใจเข้าร่วมจัดกิจกรรม บางกิจกรรมเด็กยังสามารถนำไปต่อยอดในชีวิตประจำวันได้ อาทิ งานฝีมือ หัตถกรรม ทั้งนี้ จะสรุปผลและปรับกิจกรรมใหม่ ในช่วงปิดเทอมที่กำลังจะมาถึง โดยปีการศึกษา 2559 ศธ.ตั้งใจจะขยายผลโรงเรียนนำร่องเพิ่มเป็น 60% ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วย" ปลัด ศธ. กล่าว

นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ในส่วนของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้นำร่องโครงการนี้ 216 โรง โดย สช.ได้ให้แต่ละโรงเรียนเป็นผู้กำหนดกิจกรรมเองตามความเหมาะสมของบริบทโรงเรียน แต่จะต้องเป็นไปตามหลัก 4H ได้แก่ Head (สมอง) Heart (จิตใจ) Hands (การปฏิบัติ) Health (สุขภาพ) และหลักพหุปัญญา จากการประเมินผลการดำเนินงานผ่านระบบออนไลน์และการลงไปประเมินผลในพื้นที่จริง พบว่าผลตอบรับเป็นที่น่าพึงพอใจ นักเรียนมีความสุขกับการเรียนเพิ่มมากขึ้น ผู้ปกครองเองก็มีความสุขที่เห็นบุตรหลานมีความสุขในการเรียน ได้เรียนรู้ทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น

นายอดินันท์กล่าวต่อว่า ในภาคเรียนที่ 1/2559 สช.จะขยายผลนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ไปยังทุกโรงเรียนในสังกัด สช. ทั่วประเทศ ให้ได้ 100% หรือเกือบ 4,000 โรงเรียน เริ่มดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในโรงเรียนที่มีความพร้อมก่อน ยังได้ทำคู่มือกิจกรรมเพื่อช่วยให้แต่ละโรงเรียนออกแบบกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม คาดว่าจะจัดส่งคู่มือไปทุกโรงเรียนในสังกัด สช.ประมาณช่วงกลางเดือนมกราคม นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ผู้ปกครอง สถานประกอบการ หรือโรงเรียนนอกระบบที่มีการเรียนการสอนวิชาชีพต่างๆ อาทิ สอนเสริมสวย งานช่าง การทำขนม ภาษาต่างประเทศ เป็นต้น เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมให้กับเด็กได้ เป็นภารกิจของโรงเรียนที่จะต้องดึงหน่วยงานเหล่านี้เข้ามาร่วมทำงาน แต่จะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง

นางอรรัมภา โพธิ์แดง ผู้อำนวยการโรงเรียนบางบัว (เพ่งตั้งตรงจิตรวิทยาคาร) กรุงเทพฯ สังกัด สพฐ. กล่าวว่า โรงเรียนได้เริ่มนโยบายนี้ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/2558 ได้ผลตอบรับที่ดี เด็กชอบและสนุกกับการทำกิจกรรม มีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโรงเรียนใช้กิจกรรมที่ง่ายและเด็กสนใจมากระตุ้นในการเรียนรู้ อาทิ เด็กสนใจอยากเรียนเสริมสวย โรงเรียนก็ได้เชิญวิทยากรท้องถิ่นเข้ามาสอน ทำให้เด็กได้รับความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้อีก ทั้งนี้ สพฐ. ได้ติดตามผลการดำเนินงานมาโดยตลอด ทางโรงเรียนก็ประเมินผลงานและความพึงใจเด็กกับครูเป็นระยะๆ โดยในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ จะมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานจากกิจกรรมที่ทำในช่วงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อประเมินความพึงพอใจจากผู้ปกครองอีกด้วย

นางอรรัมภากล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาที่พบ คือเด็กบางส่วนยังไม่คุ้นชินกับการเรียนการสอนแบบใหม่ อาจเพราะเป็นช่วงเริ่มต้น ภาคเรียนต่อไปเด็กน่าจะปรับตัวและสามารถพัฒนาได้ตามลำดับ ส่วนที่ว่าบางโรงเรียนยังไม่สามารถจัดกิจกรรมได้เหมาะสมนั้น คิดว่าขึ้นอยู่กับการดำเนินงาน บางโรงเรียนที่ยังไม่เข้าใจ ก็จะจัดกิจกรรมชุมนุมหรือให้งานเด็กไปทำ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่โรงเรียนบางบัวฯทำเรื่องนี้มาโดยตลอด เดินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด อีกทั้งมีสมาร์ทเทรนเนอร์เข้ามาช่วยคิดและตรวจสอบรูปแบบกิจกรรม นอกจากนี้ ผู้บริหาร ครูและทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรมีความเข้าใจ การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ถึงจะไปรอดและพัฒนาเด็กได้อย่างแท้จริง

 

ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 5 ม.ค. 2559 (กรอบบ่าย)

 

โพสต์เมื่อ 4 ม.ค. 2559 อ่าน 4751 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


อำนาจในการอนุมัติจ่ายเงินเพื่อประโยชน์การศึกษา [อ่าน 128]
สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 6187]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 470]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1244]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 19243]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)