โพลล์ระบุ มีผู้ปกครองไม่ถึงครึ่งเห็นด้วย นำระบบเรียน "ซ้ำชั้น" กลับมาใช้ใหม่



เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2558 ได้ปรากฎข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีการพูดถึงแนวคิดการพิจารณานำเอาระบบซ้ำชั้นของเด็กนักเรียนกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพของเด็กนักเรียนที่จบการศึกษาให้สูงขึ้น รวมถึงแก้ปัญหาเด็กนักเรียนที่ยังไม่มีความพร้อมในการเข้าศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ ในอดีตเคยมีการใช้ระบบซ้ำชั้นในกรณีที่เด็กนักเรียนมีผลการเรียนไม่ผ่านตามที่กำหนดหรือนักเรียนยังไม่มีความพร้อมในการเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น

สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต่อนโยบายการนำเอาระบบซ้ำชั้นของเด็กนักเรียนกลับมาใช้ โดยได้ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 17-21 มกราคม 2559 กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,125 คน สามารถสรุปผลได้ดังนี้

ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับแนวคิดการพิจารณานำเอาระบบซ้ำชั้นกลับมาใช้กับเด็กนักเรียน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.27 ทราบ/ได้ยินข่าวเกี่ยวกับการมีแนวคิดที่จะพิจารณานำเอาระบบซ้ำชั้น กลับมาใช้กับเด็กนักเรียนอีกครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 43.73 ไม่ทราบ/ไม่เคยได้ยินข่าว ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.13 ระบุว่า ในอดีตตนเองไม่เคย/ไม่มีเพื่อนหรือคนรู้จักที่เคยถูกพิจารณาให้ต้องซ้ำชั้นในการเรียน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.87 ยอมรับว่าตนเองเคยหรือมีเพื่อน/คนรู้จักเคยถูกพิจารณาให้ซ้ำชั้นในการเรียน

ส่วนความคิดเห็นต่อการนำเอาระบบซ้ำชั้นกลับมาใช้นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46.22 เห็นด้วยที่จะนำเอาระบบซ้ำชั้นกลับมาใช้กับเด็กนักเรียนในกรณีที่นักเรียนผู้นั้นยังไม่มีความพร้อมที่จะเข้าเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นต่อไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.69 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.09 ไม่แน่ใจ หากนำเอาระบบซ้ำชั้นกลับมาใช้ใหม่

นอกจากนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 44.07 มีความคิดเห็นว่าโรงเรียนควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สอบซ่อมในวิชาที่มีผลการเรียนตกก่อน 1 ครั้งจึงจะพิจารณาให้ซ้ำชั้น รองลงมาควรเปิดโอกาสให้สอบซ่อม 2 ครั้งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30.4 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.87 มีความคิดเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้สอบซ่อม 3 ครั้ง กระนั้น มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.02 มีความคิดเห็นว่าไม่จำเป็นต้องให้สอบซ่อมเลย

ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.78 มีความคิดเห็นว่าการนำเอาระบบซ้ำชั้นกลับมาใช้จะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพของเด็กนักเรียนที่จบการศึกษาในระดับภาคบังคับให้สูงขึ้นได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51.38 มีความคิดเห็นว่าการนำเอาระบบซ้ำชั้นกลับมาใช้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เด็กนักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนเพิ่มมากขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.6 มีความคิดเห็นว่าการที่เด็กนักเรียนถูกซ้ำชั้นจะมีส่วนทำให้เด็กนักเรียนผู้นั้นเกิดความเครียดในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.58 มีความคิดเห็นว่าหากเด็กนักเรียนต้องถูกซ้ำชั้นจะส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 มกราคม 2559 

โพสต์เมื่อ 23 ม.ค. 2559 อ่าน 6271 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 5484]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 447]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1187]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 18805]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 993]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)