คุรุทายาท หาช่องดันเด็กดอยเป็นครูคืนถิ่น



#showpic

สมเด็จพระเทพฯ ชื่นชมงานพัฒนาเด็กในถิ่นทุรกันดารขยายผลต่อเนื่อง

จากการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ปี 2559 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชดำรัส เปิดการประชุมว่า

"รู้สึกปลาบปลื้มที่ได้ชมงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งทำต่อเนื่องมาหลายปี ส่งผลให้มีการต่อยอดขยายผลก่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่ราษฎร ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล การสัญจรไปมาลำบาก ติดต่อกับโลกภายนอกได้ยาก เป็นเหตุให้ขาดโอกาสที่จะได้รับบริการที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต งานของโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ช่วยให้ราษฎรเหล่านี้มีโอกาสได้รับการบริการขั้นพื้นฐาน อาทิ การศึกษา การดูแลด้านสุขภาพอนามัยโภชนาการ อาชีพ อันเป็นหนึ่งปัจจัยให้สามารถปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ให้ดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารไม่อาจประสบผลสำเร็จได้ หากปราศจากความเห็นที่สอดคล้องต้องกันและความร่วมมืออย่างดีจากหลายฝ่าย ได้แก่ สำนักงาน กศน., สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) สถาบันวิจัยและพัฒนาบนพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ตลอดจนภาคเอกชนหลายแห่ง"

 


ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาล ได้จัดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงลงไปถึงโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร อีกประมาณ 900 แห่ง ในปีงบประมาณ 2560เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริ ทั้ง 5ด้าน คือ การส่งเสริมโภชนาการและสุขอนามัย การส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพตามบริบทของชุมชน การศึกษา การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชดำรัสให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ การสร้างอาชีพทั้งด้านเกษตรกรรม ศิลปกรรม ส่วนเรื่องการศึกษาไม่ได้เน้นแค่การอ่านออกเขียนได้ แต่ให้รวมถึงการสร้างจินตนาการผ่านงานศิลปะ รวมถึงโครงการที่มีความสำคัญสำหรับประเทศ คือ การปลูกป่าสร้างรายได้ ซึ่ง สำนักงา กศน.ดำเนินการมาหลายปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม พระองค์ท่านยังรับสั่งถามเด็กชาวเขาว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ซึ่งเด็กตอบว่าอยากเป็นครู แล้วทรงถามผู้บริหาร ศธ.ว่าทำได้หรือไม่ โดยตนกราบบังคมทูลว่า เด็กต้องเรียนให้จบ ม.6 ก่อนจากนั้นจะมีโครงการคุรุทายาทรองรับได้ ซึ่ง ศธ.จะกลับมาพิจารณาหลักเกณฑ์ เพื่อรองรับเด็กกลุ่มนี้มาเรียนครู แล้วกลับไปพัฒนาท้องถิ่นตัวเองได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก 

 

ที่มา สยามรัฐ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559

โพสต์เมื่อ 4 ก.พ. 2559 อ่าน 8206 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 5017]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 427]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1109]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 18549]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 964]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)