ปล่อยกู้แก้หนี้ครู 4 แสนคน ทั่วปท. 4.7 แสนล.เฉพาะที่ออมสินใช้วิธีรีไฟแนนซ์นำบำเหน็จมาค้ำคิดดอก 4%-20 ปี



#showpic

ปล่อยกู้ช่วยครู 4 แสนคนทั่วประเทศ เร่งแก้หนี้กว่า 4.7 แสนล้านบาท หลังครม.เห็นชอบตามที่คลังเสนอมา โดยให้แบงก์ออมสินปล่อยกู้ใหม่ ด้วยการนำเงินอนาคตของครู ทั้งเงินบำเหน็จ-เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ มาหักจากยอดหนี้ที่ติดอยู่ พร้อมลดดอกเบี้ยเหลือ 4 เปอร์เซ็นต์ คงที่เป็นเวลา 20 ปี ช่วยลดภาระหนี้ได้ 2,000-4,000 บาทต่อเดือน เป้าหมายเป็นครูอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือรับราชการไม่น้อยกว่า 20 ปี เป็นโครงการภาคสมัครใจ ลงทะเบียนได้ที่แบงก์ออมสินทุกสาขา

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังรายงานให้ทราบถึงมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษาของธนาคารออมสิน ซึ่งตอนนี้มีหนี้สินครูกว่า 4 แสนราย เป็นวงเงินที่ปล่อยกู้ให้ครู 4.7 แสนล้านบาท

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการแก้ไขหนี้ครู ธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ใหม่ให้ไปชำระหนี้เดิม โดยจะปล่อยหนี้ใหม่เท่ากับสิทธิที่ธนาคารออมสินจะเรียกร้องจากครูในอนาคต เช่น เงินบำเหน็จบำนาญของครูที่ได้ตอนเกษียณในอัตราดอกเบี้ย 4 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลานาน 20 ปี จะทำให้ภาระการผ่อนของครูลดลง 2,000-4,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากปัจจุบันครูเสียอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์กว่า

นายกฤษฎากล่าวด้วยว่า การปล่อยหนี้ให้ครูจะต้องมาใช้หนี้เดิมเท่านั้น โดยการดำเนินการไม่ยาก เพราะครูเป็นหนี้อยู่กับธนาคารออมสินอยู่แล้ว เมื่อมากู้สามารถหักลบกลบหนี้ได้ทันที ป้องกันครูนำเงินไปใช้อย่างอื่นโดยไม่มาชำระหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ครม.ให้ความเป็นห่วงในเรื่องนี้มาก โดยคาดว่าครูที่เป็นหนี้กับธนาคารออมสินทั้งหมดจะมาเข้ามาตรการนี้ เนื่องจากลดภาระการเป็นหนี้ลงได้มาก โดยโครงการนี้เป็นมาตรการที่ธนาคารออมสินดำเนินการเอง ไม่ต้องขอเงินชดเชยจากรัฐบาล

ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผอ.ธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงโครงการลดภาระหนี้ครูว่า เป้าหมายปล่อยสินเชื่อในโครงการนี้ เพื่อนำมาใช้หนี้เก่าครูเท่านั้น และจะลดดอกเบี้ยให้เหลือ 4 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 20 ปี จากดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 6-6.5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อช่วยลดภาระค่างวดให้กับครู โดยให้เป็นมาตรการภาคสมัครใจไม่บังคับ ซึ่งสามารถเลือกใช้หลักประกันเป็นเงินที่ทายาทจะได้รับในอนาคตได้ 2 ทางคือ เงินจากโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งจะเรียกเก็บเงินจากสมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่ศพละ 1 บาท หากเสียชีวิตจะได้เงินค่าทำศพรวมกว่า 9 แสนบาท ส่วนอีกทางคือเงินบำเหน็จตกทอด ซึ่งกรณีบำเหน็จตกทอดต้องการแก้กฎหมายให้สามารถใช้เงินนี้ได้ก่อนที่จะเสียชีวิต โดยข้าราชการครูที่สนใจเข้าโครงการสามารถมายื่นขอลงทะเบียนได้ที่ออมสินทุกสาขาทันที

นายชาติชายกล่าวอีกว่า ปัจจุบันธนาคารออมสินมีหนี้สินครูกว่า 4 แสนราย คิดเป็นวงเงินที่ปล่อยกู้ให้ครู 4.7 แสนล้านบาท มีหนี้เสียอยู่ราว 2,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.29 เปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อรวม ส่วนเป้าหมายของโครงการนี้คือ ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากต้องเป็นผู้ที่รับราชการมาไม่น้อยกว่า 20 ปีถึงจะได้สิทธิเหล่านี้ โดยมีจำนวนราว 3 แสนราย หากมีครูสมัครใจเข้าโครงการนี้ราว 2.5 แสนราย เฉลี่ยวงเงินกู้ที่ 3 แสนบาทต่อราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 7.5 หมื่นล้านบาทที่จะได้รับการปรับลดดอกเบี้ย ส่งผลดีช่วยลดภาระหนี้ได้ 2,000-4,000 บาทต่อเดือน

"แนวคิดโครงการนี้คือการเอารายได้ตัวเอง ในอนาคตมาใช้หนี้ตัวเอง ยกตัวอย่างคนมี เงินกู้เดิม 6 แสนบาทต้องเสียดอกเบี้ย 6 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามาเข้าโครงการนี้โดยการยอมให้หักเงินช.พ.ค. ที่จะได้ตอนเสียชีวิตราว 9 แสนบาท ธนาคารจะแบ่งเงินเป็น 3 กองคือ กองแรกให้ค่าทำศพ 2 แสนบาท ที่เหลือ 3 แสนบาท จะกันไว้จ่ายหนี้ที่กู้ใหม่ ที่เหลืออีก 3-4 แสนบาท เอาไว้เฉลี่ยจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยรายเดือนอีก 20 ปี เพราะขยายเวลาให้ชำระหนี้ได้ถึง 75 ปี ซึ่งเท่ากับว่าเงินกู้ 6 แสนบาทจะแบ่งเป็น 2 กอง กองแรกที่เอาช.พ.ค.ค้ำ 3 แสนบาท ดอกเบี้ย 4 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องจ่ายรายเดือนแล้ว แต่จะเหลือหนี้อีก 3 แสนบาท ดอกเบี้ย 6 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังต้องจ่ายต่อไป แต่ก็ถือว่าผ่อนภาระไปได้ครึ่งหนึ่ง" นายชาติชายกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยนำเงินช.พ.ค.ของสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่ใช้ค้ำประกันเงินกู้มาตั้งวงเงินรีไฟแนนซ์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้ครูที่เป็นหนี้และเข้าร่วมโครงการนี้ได้รับการปรับลดเงินต้นลงประมาณ 3-4 แสนบาท ซึ่งแนวทางที่ครม.เห็นชอบนี้ไม่ใช่การลดหนี้ให้ครู แต่เป็นการที่ครูนำเงินอนาคตของตนเองมาชดใช้หนี้


ที่มา ข่าวสด ฉบับวันที่ 12 ก.พ. 2559 (กรอบบ่าย) 

โพสต์เมื่อ 11 ก.พ. 2559 อ่าน 11776 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


ก.ค.ศ. อนุมัติให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญ จำนวน 19 ราย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 [อ่าน 6610]
รายละเอียดการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2567 [อ่าน 818]
สพฐ.แจ้งการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2567 สมัครสอบทางออนไลน์เพียงรูปแบบเดียว [อ่าน 1373]
ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ "เยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง" ปีที่ 18 ปีการศึกษา 2566 (ระดับประเทศ) [อ่าน 740]
การปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการจัดประชุมราชการ [อ่าน 1848]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)