สานพลังประชารัฐ - การศึกษาพื้นฐานและพัฒนาผู้นำ รวมทั้งการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการสานพลังประชารัฐ ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2559 ณ ห้องประชุมบอลรูม โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง อธิบดี ตัวแทนนักธุรกิจภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุม

 

ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (Public-Private Steering Committee) หรือ "คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ" ทั้ง 12 คณะ ซึ่งได้มารายงานผลความก้าวหน้าโดยจัดกลุ่มนำเสนอเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 การยกระดับนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์การปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ ควรพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการดึงดูดการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
กลุ่มที่ 2 การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ
กลุ่มที่ 3 การส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมล์ การสร้างรายได้ และการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ
กลุ่มที่ 4 การศึกษาพื้นฐานและพัฒนาผู้นำ รวมทั้งการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ
กลุ่มที่ 5 การส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมกลุ่ม SMEs และผู้ประกอบการใหม่ (Start Up)

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการในกลุ่มที่ 4 คือ คณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ และคณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ซึ่งมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ โดยมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชนด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ และนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชนด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ

1.  ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ได้นำเสนอรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ โดยสรุปดังนี้

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา 10 ด้าน ได้แก่

- ความโปร่งใส คือ การใช้จ่ายงบประมาณของโรงเรียนต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เนื่องจากความโปร่งใสของข้อมูลจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบและแข่งขัน

- การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อทำให้โรงเรียนก้าวเข้าสู่โรงเรียนอัจฉริยะ (Smart School)

- กลไกตลาด กองทุน การเชื่อมโยงกลไกตลาด คือ การให้ผู้ปกครอง ชุมชน ตลอดจนภาคเอกชนทั้งในท้องที่และในระดับประเทศ เข้าถึงกองทุนโรงเรียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียน

- วิธีเรียนโต๊ะกลม (Roundtable Study) เปลี่ยนระบบการเรียนการสอนจากครูเป็นศูนย์กลางเป็นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง โดยครูและนักเรียนได้ทำกิจกรรมที่กระตุ้นการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อดึงศักยภาพและพัฒนาทักษะด้านความคิดริเริ่มและความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ซึ่งครูจะต้องมีความสามารถด้านจิตวิทยาเด็กมากขึ้น

- พัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพผู้นำของโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งจะเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงให้โรงเรียน

- สุขภาพและศีลธรรม (Health and Heart) เป็นยุทธศาสตร์ของการทำให้นักเรียนมีสุขภาพแข็งแรง รวมทั้งการมีจิตสาธารณะผ่านชั่วโมงการทำงานด้านสังคม (Community Service)

- ครูชาวต่างชาติ เสริมสร้างบุคลากรในประเทศและการดึงบุคลากรที่มีศักยภาพจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญ ครู หรือแม้กระทั่งผู้อำนวยการโรงเรียน

- ภาษาอังกฤษ ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเสนอให้การจัดการเรียนการสอนในบางวิชาอาจจะต้องทำการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ หรือใช้หนังสือเรียน (Textbook) เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเด็กพัฒนาได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีแรกของการศึกษา

- ศูนย์กลางด้านการศึกษา (Educational Hub) พัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

- การพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ (Young Leadership) การให้ทุนศึกษาต่อกับเด็กมีความเป็นผู้นำและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมสูง เพื่อเสริมสร้างวิสัยทัศน์ของการเป็นผู้นำและกลับมาเป็นผู้นำที่ดีภายหลังสำเร็จการศึกษา

จากแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 10 ด้านดังกล่าว ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 โครงการ คือ

- โครงการปฏิรูปการศึกษา 10 ด้าน โดยจะดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในโรงเรียน 7,424 แห่ง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการในการจัดหาโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในระยะแรก 3,342 แห่ง ทั้งนี้ ภาคเอกชนจะช่วยส่งเสริมงบประมาณให้แก่โรงเรียน ๆ ละ 500,000-1,000,000 บาทต่อปี

- โครงการพัฒนาผู้นำด้านการศึกษาที่ยั่งยืน โดยการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่จากภาคเอกชนกว่า 1,000 คน รวมทั้งพัฒนาผู้นำในโรงเรียน 3,342 ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะส่งผลถึงการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา 3,342 คน ครู 36,026 คน และนักเรียน 768,178 คน

- โครงการศูนย์กลางทางการศึกษา ซึ่งจะพัฒนาเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ Biotechnology, Nanotechnology, Robotics และ Digital technology โดยคาดว่าภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมทุนกันประมาณ 20,000 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในระยะเวลา 5 ปี

ผู้เกี่ยวข้องได้อะไรจากโครงการประชารัฐ

- โรงเรียน ได้รับการเติมเต็มจากภาคเอกชนในส่วนที่ต้องการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาศักยภาพครู การพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนการสอน การพัฒนาสื่อ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน

- ผู้ปกครอง/ชุมชน ผู้ปกครอง ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการจัดและสนับสนุนการจัดการศึกษา

- ครู ได้ความรู้ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลสูงสุดกับตัวผู้เรียน รวมทั้งได้รับการพัฒนาศักยภาพทั้งด้านระบบคิด และทักษะต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับวิชาชีพ

- ผู้บริหารสถานศึกษา ได้รับการพัฒนาให้มีคุณสมบัติและสมรรถนะในความเป็นผู้นำในการบริหารสถานศึกษาทั้งด้านคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา

 

2.  ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ได้นำเสนอรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ โดยสรุปดังนี้

ผลการดำเนินงานของคณะทำงาน 4 กลุ่มย่อย

- Re-branding ได้กำหนดให้ใช้สโลแกนหลัก คือ “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” กับทุกโครงการ และจัดทำ Infographic เพื่อจูงใจนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สนใจเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น อีกทั้งได้บริหารจัดการสื่อและโครงการต่าง ๆ ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีอยู่ เพื่อนำมาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการเผยแพร่และสร้างแรงจูงใจให้เด็กเห็นความสำคัญของการเรียนอาชีวศึกษา

- Excellence Model School กำหนดความหมายและขอบเขตของสถานศึกษาต้นแบบที่ดี (Excellence Model School) และกำหนดแผนงานด้วยการเริ่มจากสถานศึกษาทวิภาคีในกลุ่มบริษัทของคณะทำงานฯ ก่อน จากนั้นขยายความร่วมมือสู่บริษัทเครือข่ายและสู่กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อเป็น Excellence Model School อย่างแท้จริง โดยตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนนักเรียนอาชีวศึกษาจาก 6,000 คน เป็น 13,000 คน ครอบคลุมสถานศึกษาอาชีวศึกษากว่า 177 แห่ง

- Database (Demand and Supply) จับคู่ความต้องการกำลังคนของภาคอุตสาหกรรม 18 กลุ่ม กับปริมาณการผลิตกำลังคนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รวมทั้งจัดทำ Web Based Survey เพื่อสำรวจความต้องการกำลังคนของสภาหอการค้าและสภาการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งในภาพรวมการดำเนินการดังกล่าวมีความก้าวหน้าประมาณร้อยละ 60 และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2559

- Standard and Certification Center จัดทำและหาทางเลือกที่เหมาะสมร่วมกันในการสร้างมาตรฐานวิชาชีพอาชีวศึกษาให้เป็นที่ยอมรับ และนำไปใช้อย่างทั่วถึงทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมทั้งส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพอาชีวศึกษาให้เป็นบรรทัดฐานในการจ่ายค่าตอบแทน ที่สอดคล้องกับความสามารถของแรงงาน

 

 

ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 19 เมษายน 2559

 

โพสต์เมื่อ 19 เม.ย. 2559 อ่าน 6372 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 4169]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 409]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1047]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 18177]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 925]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)