"ดาว์พงษ์”ลั่นใช้ปัญหาเด็กหลุดระบบประเมินผู้บริหาร



#showpic

รมว.ศึกษาธิการ รับนโยบาย “บิ๊กตู่” เดินหน้าช้อนเด็กเข้าระบบการศึกษา สั่งทุกองค์กรหลักใน ศธ.เก็บข้อมูลเด็กออกกลางคัน-ดึงกลับเข้าเรียน พร้อมใช้เป็นตัวชี้วัดประเมินผลการทำงานผู้บริหารทุกระดับ

วันนี้ (28 เม.ย.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้เร่งแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษา โดยตนได้หารือกับ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อดูการจัดการศึกษาของเด็กทั้งระบบ รวมถึงเด็กพิการ ที่อยู่ในความดูแลของ พม.ด้วย โดยทาง พม.จะจัดทำบัญชีเด็กพิการในแต่ละท้องถิ่น ส่งให้หน่วยงานของ ศธ.ที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น เพื่อดูว่าจะให้การศึกษาเด็กเหล่านี้อย่างไร ในส่วนของ ศธ.ตนได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทำฐานข้อมูลตัวเลขเด็กที่ออกกลางคันมาเสนอ เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)ใช้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหา และนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้

“นายกรัฐมนตรีและผมให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษา หรือเด็กออกกลางคันมาก ซึ่งจากนี้ทุกองค์กรหลักที่มีสถานศึกษาในสังกัดจะต้องให้ความสำคัญ พยายามลดปัญหาเด็กออกกลางคันลง และพยายามช้อนกลับมาให้มากที่สุด โดยเรื่องนี้จะใช้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานของผู้บริหารตั้งแต่เลขาธิการองค์กรหลัก จนถึงผู้บริหารในระดับพื้นที่ และผู้บริหารสถานศึกษา อย่างไรก็ตาม ผมมั่นใจว่า กศจ.จะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะในกศจ.มีกรรมการครบทุกองคาพยพ ทั้งภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ก็จะรู้ปัญหาในพื้นที่ดี”รมว.ศธ.กล่าวและว่า ต้องยอมรับว่าแม้จะมีการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งเด็กทุกคนต้องเข้าเรียนตามกฎหมาย แต่ละครอบครัวก็มีความจำเป็นที่ไม่เหมือนกัน เด็กบางคนต้องย้ายตามถิ่นฐานตามพ่อแม่ไปทำมาหากิน ซึ่งเราต้องช่วยเขาให้มากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือช่องทางอื่นๆ

พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวด้วยว่า ตนได้ให้การบ้าน องค์กรหลักที่มีสถานศึกษาในสังกัด ไปหาตัวเลขเด็กออกกลางคันมาให้ได้ โดยภายในเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 นี้จะต้องมีตัวเลขเด็กออกกลางคัน หรือตัวเลขเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาที่ชัดเจน เพื่อ เป็นข้อมูล และแก้ปัญหาร่วมกัน โดยจะประเมินการทำงานในทุกๆ ครึ่งปี ว่าแต่ละหน่วยงานสามารถแก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการทำงานจะต้องมอบความรับผิดชอบลงไปตามลำดับและมีการรายงานข้อมูลที่ชัดเจน ว่า เด็กที่เข้าเรียนในแต่ละปีหายไปหรือไม่และหายไปไหน เมื่อรู้แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการช่วยเหลือเด็กเหล่านั้น เพราะถ้าเราขาดการติดต่อแค่นิดเดียว ผู้ปกครองก็จะไม่กล้า นำลูกกลับเข้ามาเรียน ทำให้เด็กออกนอกระบบการศึกษาเลย ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้จะทำให้เราเห็นตัวเลขเด็กที่อยู่ในและนอกระบบการศึกษาทั้งหมดได้ชัดเจนขึ้น และยังส่งผลถึงการจัดสรรเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาที่จะไม่ซ้ำซ้อน และยังเปรียบเทียบกับข้อมูลของหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและการพัฒนา หรือ World Bank และ ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ ADB ที่ มาทำการสำรวจการจัดการศึกษาในไทยด้วย 

 

ที่มา เดลินิวส์ วันพฤหัสที่ 28 เมษายน 2559 เวลา 15:56 น.

โพสต์เมื่อ 29 เม.ย. 2559 อ่าน 12666 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 5034]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 427]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1111]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 18566]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 966]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)