เปิดผลสำรวจ“ต้นทุนชีวิตเยาวชนต่อการสอบเข้าอุดมศึกษาไทย”



#showpic

ตอบโจทย์ “ดาว์พงษ์” ใช้ผลวิจัยยันต้นทุนชีวิตเยาวชนต่อการสอบเข้าอุดมศึกษาไทย เสียงสะท้อนชีวิตม.ปลาย “เหนื่อย เรียนหนัก จะสอบมากไปไหน” เผยต้นทุนทางการศึกษาตลอดชั้นม.ปลายเฉลี่ยคนละ 61,199 บาท พบรายจ่ายแฝงทางการศึกษา “การสมัครสอบ-เรียนพิเศษ” ส่งผลรายจ่ายครัวเรือนรวย-จน ต่างกันเพียง 500 บาท แต่ภาระรายจ่ายต่างกันถึง 5 เท่า ขณะที่เด็กม.ปลายต้องเผชิญสนามสอบเฉลี่ย 6-7 สนาม ด้านผู้ปกครองพร้อมทุ่มทุนแม้ต้องกู้เงินเรียน ชี้กองทุนการศึกษาช่วยปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสเด็กจนเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษาถึง 22% แนะมหาวิทยาลัยลดการสอบตรงผ่านระบบรับสมัครรวมเพื่อลดรายจ่าย

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดผลสำรวจ“ต้นทุนชีวิตเยาวชนต่อการสอบเข้าอุดมศึกษาไทย” ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการสสค. กล่าวว่า สืบเนื่องจากได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) โดยได้รับโจทย์ว่า อยากให้เด็กและเยาวชน เรียนอย่างมีความสุข ลดการกวดวิชา ทำกิจกรรมให้มากขึ้น และประเด็นสำคัญคือต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา วันนี้คือการตอบโจทย์ซึ่งมีผลการวิจัยยืนยันชัดเจน โดยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียน-ผู้ปกครองต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อศึกษาต่ออุดมศึกษา จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นม.ปลาย จำนวน 1,564 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นม.ปลาย จำนวน 511 คน ในเขตอ.เมืองและนอกเขตอ.เมือง พื้นที่กทม.และ 4 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี นครราชสีมา และ สงขลา ระหว่างเดือนมี.ค. – เม.ย. 2559 โดยศึกษาถึงชีวิตในวัยเรียนของนักเรียนในระดับชั้นม.ปลาย ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนพิเศษ การลงทุนเพื่อการศึกษาในระดับชั้นม.ปลายเพื่อศึกษาต่ออุดมศึกษา ความคิดเห็นต่อระบบแอดมิชชั่น และข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอนและการสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า จากการสำรวจการใช้ชีวิตของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย พบว่า นักเรียนชั้นม.ปลายเกือบ 50% ใช้เวลาไปกับการเล่นโซเชียล/อินเทอร์เน็ตเป็นกิจกรรมพิเศษนอกเวลาเรียนปกติมากที่สุดในหนึ่งสัปดาห์ ในขณะที่ 11% ใช้เวลาไปกับการเรียนพิเศษ/กวดวิชาและดูโทรทัศน์/ฟังวิทยุ ในสัดส่วนที่เท่ากัน นอกจากนี้ 10% ใช้เวลาไปกับการพักผ่อนกับครอบครัว 9% ใช้เวลาไปกับการทำการบ้าน ทั้งนี้มีเพียง 7% ที่ใช้เวลาในหนึ่งสัปดาห์ไปกับการอ่านหนังสือเรียน ซึ่งความรู้สึกที่สะท้อนต่อชีวิตในวัยเรียนในระดับชั้นม.ปลายคือ “เหนื่อย เรียนหนัก จะสอบมากไปไหน” นั่นคือเหนื่อยกับการสอบต่างๆและการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย การเรียนและภาระงานในโรงเรียนที่หนัก และการสอบของประเทศหลายสนามที่มากเกินไป

ในส่วนของการเรียนพิเศษของนักเรียนม.ปลายพบว่า นักเรียนชั้นม.ปลาย 60% ที่เรียนพิเศษ ขณะที่อีก 40% ไม่ได้เรียนพิเศษ อย่างไรก็ตามหากจำแนกตามสถานะทางเศรษฐกิจ พบว่า นักเรียน ม.ปลายในกลุ่มรายได้ปานกลางและค่อนข้างมีฐานะมากกว่าครึ่งที่เรียนพิเศษ โดย 5 สาเหตุหลักที่ต้องไปเรียนพิเศษ คือ อยากได้เทคนิคการทำข้อสอบ 36% อยากได้เกรดดีๆเพื่อเรียนต่อ 36% เรียนที่โรงเรียนไม่เข้าใจ/ไม่รู้เรื่องต้องเรียนเพิ่มเติม กลัวสอบตก 33% ต้องเตรียมตัวสอบหลายอย่างเพื่อสอบเรียนต่อ เรียนที่โรงเรียนอย่าง 29% และบางวิชาที่โรงเรียนไม่ได้สอนแต่ต้องใช้ในการสอบเพื่อเรียนต่อ เช่น ความถนัดทาง สถาปัตย์ วิศวะ เป็นต้น 16% ซึ่งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนพิเศษ นักเรียนชั้นม.ปลายในแต่ละระดับชั้น ม.4-ม.6 มีการลงเรียนพิเศษ/กวดวิชาเฉลี่ย 2-3 วิชาต่อปีการศึกษา มีค่าใช้จ่ายจากการเรียนพิเศษตลอดช่วงชั้นม.ปลาย (ม.4-6) เฉลี่ยคนละ 19,748.43 บาท โดยพบว่าในแต่ละระดับชั้นมีการลงเรียนพิเศษสูงสุดถึง 7 วิชา และต่ำสุด 1 วิชา

“ ใน 1 คน จะมีรายจ่ายตลอดการเรียนชั้นม.4-6 ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อศึกษาต่ออุดมศึกษา เฉลี่ยคนละ 61,199 บาท คิดเป็น 6% ของได้ในครัวเรือน ประกอบด้วย รายจ่ายในโรงเรียน (ค่าเทอม/ค่ารถ/ค่าอาหารกลางวัน) 17,823 บาท รายจ่ายในการเรียนพิเศษ (ค่าเรียนพิเศษ/ค่ารถ/ค่าที่พัก) 22,592 บาท รายจ่ายในการสมัครสอบ (ค่าสมัครสอบ/ค่ามัดจำเพื่อรักษาสิทธิ์/ค่ารถ/ที่พัก) 20,040 บาท นอกจากนี้ยังพบค่ามัดจำเพื่อรักษาสิทธิ์เฉลี่ยอยู่ที่ 10,610 บาท โดยพบว่ามีการจ่ายเงินค่ามัดจำสูงถึง 91,000 บาท ขณะที่ความพร้อมของผู้ปกครองในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายพบว่า ไม่ว่าผู้ปกครองจะฐานะใดล้วนมีความพร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อให้บุตรหลานได้เรียนต่ออุดมศึกษา แม้ว่าจะต้องไปกู้เงินหรือไม่ก็ตาม โดยพบสัดส่วนการกู้ยืมเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาในครัวเรือนยากจน 52% ฐานะปานกลาง 27% และค่อนข้างมีฐานะ 19%” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

แม้ว่าจะมีนโยบายเรียนฟรีในระดับม.ปลาย โดยรัฐอุดหนุนค่าเทอมและค่าหนังสือตำราเรียน แต่ยังมีรายจ่างแฝงอยู่ โดยพบว่า นักเรียนชั้นม.ปลายที่มีฐานะยากจนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนใกล้เคียงกับนักเรียนชั้นม.ปลายที่มีฐานปานกลางและกลุ่มที่พอจะมีฐานะ โดยค่าใช้จ่ายต่อเดือนของกลุ่มนร.ที่มีฐานะยากจนอยู่ที่ 2,359 บาท/เดือน ขณะที่ค่าใช้จ่ายของกลุ่มที่พอจะมีฐานะอยู่ที่ 2,886 บาท/เดือน ซึ่งต่างกันเพียง 500 บาทเท่านั้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะใกล้เคียงกันแต่ภาระต่างกันเมื่อเทียบกับสัดส่วนของรายได้ในครัวเรือน โดยรายจ่ายของครัวเรือนยากจนคิดเป็น 26% ของรายได้ครัวเรือน ขณะที่ครัวเรือนที่ค่อนข้างมีฐานะคิดเป็น 5% เท่านั้น ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ต่างกันถึง 5 เท่า โดยค่าใช้จ่ายในกลุ่มที่มีฐานะปานกลางและค่อนข้างมีฐานะส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาต่ออุดมศึกษา เช่น ค่าเรียนพิเศษและค่าสมัครสอบ ขณะที่รายจ่ายในกลุ่มที่ฐานะยากจนเป็นค่าใช้จ่ายที่เลี่ยงไม่ได้ เช่น ค่าอาหารกลางวัน 89% ตามด้วยค่ารถไปร.ร. 65% และค่าสมัครสอบ 46%

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการสอบเข้าอุดมศึกษาของนักเรียนม.ปลายในปัจจุบันพบว่า นักเรียนในระดับชั้นม.6 เฉลี่ยต้องสอบทั้งสิ้น 6 -7 สนาม ประกอบด้วย การสอบวัดผลของโรงเรียน การสอบ O-NET การสอบ GAT/PAT การสอบวิชาสามัญ 9 วิชา การสอบโควตาของมหาวิทยาลัย สอบตรงของมหาวิทยาลัย สอบแอดมิชชั่น ตามลำดับ โดยพบว่ามีการสมัครสอบตรงเฉลี่ย 2 คณะ การสอบตรงสูงสุด 6 คณะ ต่ำสุด 1 คณะ โดยนักเรียนในระดับชั้นม.ปลายส่วนใหญ่ 64% สะท้อนตรงกันว่า กรณีการรับตรงของสถาบันอุดมศึกษา/มหาวิทยาลัยทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กที่ครอบครัวมีฐานะทางการเงินดีและไม่ดี ซึ่งเสียงสะท้อนต่อระบบแอดมิชชั่นของนักเรียนม.ปลายคือ การสอบสอบหลายอย่างมากเกินไป 71% ข้อสอบยากเกินไป ทำให้ต้องเรียนพิเศษเพิ่ม 57% ช่วงเวลาการสอบตรงกัน ทำให้มีทางเลือกในการสอบสอบไม่กี่แห่ง 46% สนามสอบอยู่ไกล เสียค่าใช้จ่ายมาก 36% และค่าสมัครแพงมาก 35%

“หากไม่เปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมาก เนื่องจากประเด็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมที่พูดกันมาอีก 10 ปีก็ทำไม่ได้ ดังนั้นผลการวิจัยที่ได้ทำการสำรวจมีข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐดำเนินการ คือ 1.เรื่องการกวดวิชา รัฐต้องมีนโยบายที่จริงจังถ้าต้องการให้ลดต้องลดจริง 2.เรื่องหลักสูตร ข้อสอบยากเกินไป การเรียนรู้ในรร.ไม่สามารถช่วยให้เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ทำอย่างไรให้ครูสอนได้เต็มที่ ดังนั้นนโยบายการคืนครูสู่ห้องเรียน กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ทำได้จริงแค่ไหน 3.การจัดตั้งกองทุน เพื่อช่วยเหลือค่าเดินทาง ค่าสมัครสอบ ค่าอาหาร ค่าที่พัก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศได้มีความสุขมากขึ้น เมื่อลูกหลานเรียน ม.4 ผู้ปกครองต้องรับกรรมกับค่าใช้จ่ายมหาศาล ตรงนี้คือคอขวดสำคัญกับระบบการศึกษา รัฐควรควบคุมค่าสมัครสอบโดยการกำหนดให้เป็นมาตรฐานเพื่อลดค่าใช้จ่าย และลดจำนวนการสอบเข้าเรียนต่อในอุดมศึกษา” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากที่ได้วิจัยเรื่อง“ผลลัพธ์จากการให้ทุนการศึกษากรณีศึกษานักเรียนหญิงมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีฐานะยากจน” ร่วมกับดร. เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บข้อมูลเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 3 ปีพบว่า นักเรียนที่มีฐานะยากจนที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นม.ปลายจะได้รับโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยสูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้รับทุนการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า เมื่อให้ทุนการศึกษาจะเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าเรียนต่ออุดมศึกษาในกลุ่มเด็กยากจนถึง 22% ดังนั้นช่วงรอยต่อระหว่างมัธยมเข้าสู่อุดมศึกษาที่มีรายจ่ายแฝงอยู่จำนวนมาก การมีกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทางทุนทรัพย์ของรัฐบาลจะมีส่วนสำคัญที่จะปิดช่องว่างทางการศึกษา

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ ประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กทม. กล่าวว่า การสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัย ข้อดีคือเด็กมีตัวเลือกมากขึ้น แต่ข้อเสียคือการสร้างความเหลื่อมล้ำ ครอบครัวที่มีรายได้มากกว่าก็สามารถตระเวนสอบได้มากกว่า กรณีเด็กเรียนสายอาชีพมีบางส่วนก็อยากเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยแต่เด็กอาชีวะไม่สามารถสู้กับสายสามัญได้เลย เพราะวิชาที่เรียนในสายอาชีพแตกต่างจากวิชาที่สอบในสายสามัญ ทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องไปเรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้าอุดมศึกษา อย่างไรก็ตามการปฏิรูปการศึกษาไม่ได้อยู่ฝั่งรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่อยู่ที่ฝั่งผู้ปกครองด้วย ถ้าเด็กมีเป้าหมายที่ชัดเจนมีครูแนะแนวที่เป็นครูแนะแนวจริงคอยให้คำปรึกษา เด็กจะรู้จักตนเองตั้งแต่แรกก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย รวมทั้งกำหนดมาตรการกับสถาบันกวดวิชา การเปิดต้นทุนต่ำมาก แต่เก็บค่ากวดวิชาแพงมาก และการสอบตรงถ้านำตารางการสอบของแต่ละมหาวิทยาลัยมากาง จะเห็นชัดเจนว่ามีการพูดคุยกันมาแล้ว ทำให้เด็กต้องไปเสียค่าสมัครสอบหลายที่สอบไม่ตรงกัน แต่ประกาศตรงกัน เรียงลำดับความดังของมหาวิทยาลัย

นายอิทธิพล ฉิมงาม ร.ร.สมุทรสาครวิทยาลัย จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า พ่อต้องขับมอเตอร์ไซต์รับจ้างเป็นอาชีพเสริม เพื่อเตรียมเงินให้ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายทั้งค่ากวดวิชา ค่ารถ ค่าสมัครสอบ ค่าสนามสอบ 7-8 แห่ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมากแต่ละวิชาต้องเรียนถึง 3 รอบ เพราะข้อสอบคนละแบบกันทั้ง GAT PAT 1 PAT 2 เนื้อหาเยอะมาก ข้อสอบยากจนเอื้อมไม่ถึง ปัจจุบันข้อสอบ โจทย์ 1 หน้า ตัวเลือก 1 หน้า ถ้าไม่เรียนพิเศษใครจะทำได้ กลายเป็นเด็กถูกมองว่าเด็กขี้เกียจ ไม่ตั้งใจเรียน โง่ ไม่เอาไหน ไม่เอาถ่าน เก่งก็ต้องเก่งให้ถึงที่สุด ขณะนี้ ผมสอบเข้าจุฬาได้ก็จริง แต่อาจจะโง่กว่าคนอื่นก็ได้

ผมไปสมัครสอบตรงโดยคะแนนยังไม่ออกเลยแต่ก็ต้องไป เราไม่ได้ต้องการจะกั๊กที่นั่ง แต่มหาวิทยาลัยเปิดรับตรง โดยไม่รอผลคะแนน เมื่อคะแนนออกปรากฏคะแนนไม่ถึง แต่ถ้ารอคะแนนออกก่อนก็ไม่ต้องไปไม่ต้องเสียค่าจ่าย ทำให้เด็กต้องเลือกที่นั่งเผื่อ เมื่อประกาศผลได้ที่นั่ง 3 มหาวิทยาลัยก็ต้องสละที่นั่ง บางคนสอบเพื่อเอาศักดิ์ศรี วัดบารมีให้ตนเอง” นายอิทธิพล กล่าว

นายพงศธร นามพิลา ร.ร.โซ่พิสัยพิทยาคม จ.บึงกาฬ กล่าวว่า ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ เรียนมหาวิทยาลัยเปิดก็ได้ ถึงแม้จะอยากเรียนกวดวิชา แต่ต้นทุนเศรษฐกิจฐานะครอบครัวไม่ดีมีหนี้สิน และบึงกาฬไม่มีสถาบันกวดวิชา ถ้าจะเรียนต้องไปเรียนข้ามจังหวัด ทุกวันนี้ได้เงินไป รร.วันละ 40 บาท พ่อแม่จะปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กไม่ต้องเก่งมาก เรียนติดศูนย์บ้างก็ได้จะได้มีประสบการณ์และรู้ว่าจะแก้ไขตนเองอย่างไร คาดหวังแค่ให้เป็นคนดีของสังคมก็เพียงพอแล้ว

“ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน เป็นลูกเกษตรกร ชาวนา ทำไร้ ทำสวน แค่มีเงินมา รร.แต่ละวันก็ยังยาก การจะไปแข่งขันจึงต้องใช้ความพยายามมาก ไม่มีเงินรองรับ ดังนั้น ไม่ต้องพูดถึงระดับอุดมศึกษา อยากให้แก้ไขที่ระบบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในเรื่องการเรียนรู้ เนื้อหา สอดคล้องกับสิ่งที่จะนำไปใช้ได้จริงและเป็นเนื้อหาที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จะได้ไม่ต้องไปเรียนกวดวิชา แค่ตั้งใจเรียนในห้องเรียนก็พอแล้ว การจะให้ไปสอบรับตรงผมก็คงสู้ไม่ได้ จึงอยากให้เปิดโอกาสให้เด็กชนบท ยากจน ไม่มีทุน บางคนเรียนเก่ง แต่ขาดโอกาสบ้าง รวมทั้ง อยากให้มีครูแนะแนวมีหลักสูตรชัดเจนจริงจัง เพื่อเด็กจะได้รู้จักตัวตนของตนเองไม่ต้องหว่านแห่ แต่มุ่งตรงไปยังเป้าหมายของตนเองเลย” นายพงศธร

นายวิทยา สอนเสนา ร.ร.ขุนตาลวิทยาคม จ.เชียงราย กล่าวว่า การศึกษาในปัจจุบันคือธุรกิจการศึกษา จึงอยากจะถามมหาวิทยาลัยว่าต้องการหานักศึกษาหรือหา survivor ค่าใช้จ่ายในการสอบเยอะมาก บางแห่งเปิดรับตรง 3 รอบๆละ 300 บาท และยังมีค่าธรรมเนียม ค่าเดินทาง ค่าที่พัก มหาวิทยาลัยลัยรับคนไม่ถึง 10% บางแห่งรับ 120 คน คนสอบ 2,000 คน สงสารแม่สอบไม่ติดก็ต้องไปบอกแม่เสียดายเงิน พลาดแล้วพลาดอีก ซึ่งตนสอบมา 7-8 สนามสอบแล้ว เป็นเด็กแอดมิดชั่นปี 2559 แต่ยังไม่มีที่เรียน และเวลาสมัครสอบรับตรง เป็นเทอม 2 ของ ม.6 ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อต้องเตรียมสอบ กลางภาค ปลายภาค เก็บคะแนนแต่ละวิชา กีฬาสี กิจกรรมวันสำคัญอีก ข้อสอบเข้ามหาลัยก็ยากมาก ไปเอาข้อสอบ รร.กวดวิชามากออกสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย แล้วเด็ก รร.รัฐบาลทั่วไปจะทำอย่างไร เหมือนเป็นการทดสอบสถาบันกวดวิชาว่าเด็กที่มาเรียนในสถาบันกวดวิชาแต่ละแห่งนั้นใครสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยลัยไหนได้บ้าง 

 

ชมคลิปเสียงสะท้อนจากเยาวขนได้ ที่นี่
 

โพสต์เมื่อ 29 เม.ย. 2559 อ่าน 6398 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 3347]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 402]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 999]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 17914]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 899]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)