มติ สปท. เห็นชอบรายงานปฏิรูปด้านการศึกษาที่เสนอแผนบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการควบรวม



#showpic

16 พ.ค. 59 - มติ สปท. 161 ต่อ 6 เสียง เห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่เสนอบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการควบรวมโรงเรียน มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีครูครบชั้นเรียน ภายใต้การคำนึงถึงสภาพภูมิศาสตร์ ความพร้อม และความต้องการชุมชนเป็นฐาน

การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทีมี นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณารายที่คณะกรรมาธิการฯ ด้านการศึกษาเสนอ เรื่องการบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก โดย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานคณะกรรมาธิการ และ พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการจัดการศึกษา ระบุว่า จากปัญหาอัตราการเกิดของประชากรต่ำลง ประกอบกับการพัฒนาด้านคมนาคม ส่งผลให้มีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งหมายถึงมีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน เพิ่มมากขึ้น และขณะนี้มีจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนโรงเรียนทั้งหมด ต้องเกิดปัญหาโดยเฉพาะนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน ต้นทุนการเรียนการสอนสูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนไม่มีผู้บริหาร ขาดครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ดังนั้น จึงต้องมีการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการ ควบรวมโรงเรียน โดยให้โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่มาบริหารจัดการร่วมกัน จึงยืนยันไม่ใช่การยุบรวม สำหรับการควบรวมจะทำให้มีครูครบชั้น มีจำนวนนักเรียนที่เหมาะสม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาที่ประหยัดคุ้มค่า และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ มีโรงเรียนขนาดเล็กที่ควบรวมแล้วจำนวน 4,642 โรง

ขณะที่ สมาชิก สปท. ส่วนใหญ่อภิปรายแสดงความเห็นด้วยพร้อมมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม อาทิ นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ ที่ขอให้การดำเนินการเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป รอบคอบ และนุ่มนวล เพราะมีผลกับคนจำนวนมากทั้งครูและนักเรียน รวมถึงต้องคำนึงเรื่องการเดินทางของนักเรียนที่จะต้องเดินทางไกลขึ้นด้วย ส่วน นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา มองว่าปัญหาการศึกษาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน ขาดผู้บริหารที่ต้องการเข้ามาทำหน้าที่อย่างแท้จริง เพราะต่างต้องการทำหน้าที่ที่โรงเรียนขนาดใหญ่ พร้อมเสนอสร้างขวัญกำลังใจเพิ่มเพื่อให้ครูเก่งได้ทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ มองว่าการใช้คำว่าควบรวมจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ แต่ควรใช้เป็น การบริหารจัดการนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้สอดคล้องคำว่าการจัดการศึกษาสำหรับทุกคน (education for all) หรือ นางถวิลวดี บุรีกุล ที่ขอให้มองประเด็นสิทธิมนุษยชน คำนึงคนด้อยโอกาสซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลด้วย ขณะที่ นายกษิต ภิรมย์ มองการควบรวมไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะเด็กไม่ควรจะต้องเดินทางไกลไปโรงเรียน ในขณะที่รัฐเองมีหน้าที่ต้องจัดการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วถึง ต้องการให้เกิดการกระจายอำนาจ

ด้าน พล.อ.พลพล ชี้แจงว่า ความมุ่งหมายในการเสนอแผนปฏิรูปครั้งนี้ เพราะต้องการให้มีครูครบชั้นเป็นประการสำคัญเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ส่วนโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ได้ระบุอยู่แล้วว่าการควบรวมให้คำนึงถึงสภาพภูมิศาสตร์ ใช้สภาพบริบทความพร้อม และความต้องการชุมชนเป็นฐาน เช่นเดียวกับ นายวิวัฒน์ ที่ยืนยันว่า การเสนอปฏิรูปการศึกษานับเป็นเรื่องยาก เพราะมีผลกับคนจำนวนมาก จึงตั้งใจฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ขณะเดียวกัน การศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเสมอภาคได้ ทั้งนี้ วางแผนแล้วว่าการดำเนินงานจะต้องทำร่วมกับระดับจังหวัด

หลังฟังคำชี้แจงแล้ว ที่ประชุม สปท.มีมติเห็นชอบกับรายงาน การบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ด้านการศึกษา สปท. เสนอ ด้วยเสียง 161 ต่อ 6 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 172 คน โดยจากนี้ คณะกรรมาธิการ จะปรับปรุงรายงาน เพื่อเสนอประธาน สปท. นำส่งคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

ลักขณา เทียกทอง ข่าว/เรียบเรียง

ที่มา สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เวลา 12.08 น.

โพสต์เมื่อ 17 พ.ค. 2559 อ่าน 16457 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 4234]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 411]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1053]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 18197]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 929]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)