ทบทวนเลิกใช้โอเน็ตในแอดมิชชั่น



#showpic

"กำจร"เผยผิดเจตนาวัดมาตรฐานการศึกษา

"กำจร" เผยกำลังพิจารณาว่าจะใช้คะแนนโอเน็ตประกอบแอดมิชชั่นหรือไม่ ชี้เจตนารมณ์สอบโอเน็ตหวังแค่วัดผลผู้เรียนผ่านมาตรฐานการศึกษาหรือไม่เท่านั้น แต่ไม่ใช่การสอบแข่งขัน มองครั้งต่อไป สทศ.ควรเฉลยข้อสอบก่อนประกาศผลคะแนน เพื่อให้สังคมตรวจสอบความถูกต้องของข้อสอบอีกที ด้าน "รองประธาน ทปอ." ชี้ถ้า สทศ.ยอมรับข้อสอบผิดพลาดจริง ก็มีเพียง 5 ข้อ เฉลี่ยแล้วมีผลต่อแอดมิชชั่นแค่ 0.1% เผย ทปอ.เตรียมคุยเรื่องนี้ในการประชุมวันที่ 19 มิถุนายน

กรณีติวเตอร์ชื่อดังออกมาท้วงติงการออกข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ปีการศึกษา 2559 ที่ออกโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ว่าเฉลยไม่ถูกต้องในวิชาสังคมศึกษา การสอบโอเน็ตชั้น ม.6 และวิชาภาษาอังกฤษชั้น ม.3 ตลอดจนมีการรณรงค์ให้สำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ผู้ออกข้อสอบ ออกมายอมรับข้อสอบที่เฉลยผิดเพิ่มเติม รวมทั้งยังมีการเรียกร้องให้มีการประมวลผลคะแนนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชั่น ประจำปีการศึกษา 2559 ใหม่ จนส่งผลให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องสั่งการให้ สทศ.ไปดำเนินการตรวจข้อสอบใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง

ด้าน นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. กล่าวในเรื่องนี้ว่า ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเผยแพร่ข้อสอบโอเน็ตพร้อมเฉลยผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ สทศ.กล้าที่จะเปิดเผยข้อมูล ทำให้สังคมสามารถวิพากษ์ตัวข้อสอบ เข้ามาช่วยตรวจสอบได้ ไม่จำเป็นต้องเจาะข้อสอบเฉพาะบางข้อเหมือนในอดีต และยังทำให้เห็นแล้วว่าข้อสอบบางข้อยังผิดพลาดและต้องมีการแก้ไข โดยตนได้ให้นโยบายว่าครั้งต่อไป เมื่อสอบเสร็จแล้วอาจจะมีการเปิดเผยข้อสอบทันที ให้สังคมช่วยตรวจสอบก่อนที่จะมีการประกาศคะแนน เพราะข้อสอบทุกอย่างมีโอกาสที่จะผิดพลาดหมดไม่ว่าจะเป็นข้อสอบวัดผลในโรงเรียน หรือข้อสอบวัดมาตรฐานอย่างโอเน็ต

"ถ้าหากคะแนนผิดพลาดก็จะต้องทำให้ถูกต้อง และส่วนตัวผมคิดว่าการสอบโอเน็ตไม่ควรที่จะนำมาใช้ในการแข่งขัน เพราะเมื่อใช้ในการแข่งขันข้อสอบก็จำเป็นที่จะต้องออกในลักษณะการพลิกแพลง มีคำตอบลวง จึงทำให้เกิดปัญหา เพราะหากมีการผิดพลาดแม้แต่ข้อเดียวก็ส่งผลถึงคะแนนที่ใช้ในการแข่งขัน ดังนั้นผมคิดว่าในเรื่องของการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในอุดมศึกษาอาจจะต้องมีการมาดูกันใหม่ เพราะผมคิดว่าการสอบไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดในการคัดเลือกคน และการสอบโอเน็ตควรจะเป็นการสอบที่นำมาใช้ก็วัดผลว่าผ่านหรือไม่ผ่านมาตรฐานการศึกษาเท่านั้น" ปลัด ศธ.กล่าว

ด้านนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (รองประธาน ทปอ.) กล่าวว่า ทปอ.เองได้มีการสอบถามเรื่องดังกล่าวไปยัง สทศ.หลายครั้ง และทาง สทศ.ก็ยืนยันว่าข้อสอบที่ผิดพลาดมีการแก้ไขไปแล้ว ซึ่งแน่นอน ทปอ.มีความมั่นใจในกระบวนการออกข้อสอบของ สทศ. และหากมีการตรวจสอบใหม่แล้ว สทศ.ยืนยันมา ทปอ.ก็คงต้องยึดตามนั้น แต่ตอนนี้ยังไม่อยากให้มีการสรุปว่าข้อสอบผิด เพราะแม้ว่าจะผิดจริงตามที่มีติวเตอร์ชื่อดังออกมาวิเคราะห์ ก็มีเพียง 5 ข้อ และคะแนนโอเน็ตใช้เพียง 30% ของคะแนนแอดมิชชั่นเท่านั้น ดังนั้นเปอร์เซ็นต์ของแต่ละข้อ เมื่อเฉลี่ยออกมาแล้วไม่ถึง 0.1 อย่างไรก็ตาม ในอนาคตคงต้องมีการมาหารือเรื่องความรอบคอบของข้อสอบและเฉลยก่อนที่จะมีการประกาศคะแนน และในส่วนของ ทปอ.จะมีการพูดคุยเรื่องนี้ในการประชุม ทปอ. วันที่ 19 มิถุนายนนี้อย่างแน่นอน. 

 

ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 13 มิถุนายน 2559

โพสต์เมื่อ 13 มิ.ย. 2559 อ่าน 7353 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


อำนาจในการอนุมัติจ่ายเงินเพื่อประโยชน์การศึกษา [อ่าน 109]
สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 6160]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 469]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1239]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 19213]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)