"พลเอกสุรยุทธ์"เผยในหลวงทรงห่วงปัญหาหนี้สินครู



“พล.อ.สุรยุทธ์”ให้โอวาทนักศึกษาทุนพระราชทาน เน้นย้ำปฎิบัติตามพระราชดำรัสในหลวง “ เป็นคนดี” ยึด 3 ประการ ซื่อสัตย์ –ขยัน-อดทน ฝากดูแลตัวเอง เรื่องเพศสัมพันธ์วัยเรียน-ยาเสพติด เผย”ในหลวง”ทรงห่วงปัญหาหนี้สินครู

วันนี้( 1 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการกองทุนการศึกษา ได้มอบโอวาทให้แก่นักศึกษาทุนโครงการกองทุนการศึกษาระดับอุดมศึกษา ว่า นักศึกษาทุนทุกคนถือว่า เป็นผู้ได้รับโอกาสเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ดังนั้นอย่าให้โอกาสหลุดลอยไป และเห็นคุณค่าของเงินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง นอกจากนี้พระองค์มีพระราชดำรัสว่า คนดี มี 3 ประการ คือ ซื่อสัตย์ ขยันและอดทน ซึ่งทั้งหมดนี้พูดง่าย แต่ทำไม่ง่าย ซึ่งนักศึกษาทุนจะต้องทำให้ได้ และจากที่ตนดูแลมหาวิทยาลัยพบว่า มีปัญหาน่าห่วง 2 เรื่อง คือ เรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ระห่างวัยเรียน และปัญหายาเสพติด ซึ่งนักศึกษาทุนจะต้องระวัง และคิดอยู่เสมอจะต้องทำตามฝันให้ได้

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า โครงการกองทุนการศึกษา ดำเนินการมา 4 ปีแล้ว และองค์มนตรีได้ถวายรายงานความคืบหน้าของโครงการมาตลอด ซึ่งพระองค์ทรงเป็นห่วงเรื่องหนี้สินครู ว่า จะทำอย่างไรที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องช่วยกันดูแล ไม่ให้ครูเป็นหนี้สิ้น ทั้งนี้ครูเป็นหนี้ตั้งแต่เรียนที่มาจากการกู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) จบมาไปทำงานต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อีก แต่ปัญหาหนี้สินครูเป็นปัญหาของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตามตนเห็นว่า น่าจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินครูได้ และขณะนี้ได้มีการหารือร่วมกันของคณะกรรมการบริหารโครงการกองทุนการศึกษา ซึ่งมีอดีตผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นกรรมการฯ และรู้ถึงปัญหาหนี้สิ้นครู ดังนั้นจะมาช่วยกันดูว่าจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างไร และในอนาคตน่าจะเสนอแนวทางดังกล่าวต่อผู้บริหารของ ศธ.ได้

“จากการหารือเบื้องต้นคณะกรรมการบริหารโครงการฯ เห็นตรงกันว่า เงินกองทุนต่าง ๆ ที่ให้ครูกู้เวลานี้นั้น ปล่อยให้ครูกู้ได้ง่าย กำหนดวงเงินกู้ให้สูงมากบางแห่งปล่อยกู้ 1 ล้านบาท โดยไม่ได้ตรวจสอบความสามารถในการคืนเงิน ทำให้ครูอยากกู้มาก และเมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน ครูบางคนก็ทำได้ บางคนก็ทำไม่ได้ จนถูกฟ้องร้องล้มละลายก็มี แต่จากนี้ก่อนที่จะให้ครูกู้จะต้องมีการตรวจสอบให้มากขึ้น และ ดูว่าครูมีความจำเป็นในการกู้มากน้อยแค่ไหน และจากที่ได้คุยกับครูในโรงเรียนถามว่าครูสามารถใช้หนี้ได้หรือไม่ ถ้าสามารถแบกรับภาระได้ก็ถือว่าพอเพียง แต่ถ้าแบกรับภาระไม่ได้ ก็ไม่ควรสร้างหนี้ เพราะจะเกิดความไม่พอเพียง“ พล.อ.สุรยุทธ์

ด้าน น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างโครงการกองทุนการศึกษาและ สกอ.นั้น เป็นการดำเนินการโครงการกองทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (ปี 2560-2573) งบประมาณ 75.5 ล้านบาท โดยรับนักเรียนทุนจากโครงการทุนการศึกษา ซึ่งเป็นนักเรียนทุน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้มาต่อยอดในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา โดยปีนี้เป็นปีแรกมีนักศึกษาทุนเข้ามาเรียนในระดับอุดมศึกษา จำนวน 12 คน ซึ่งเป็นทุนให้เปล่า


ที่มา เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2559 เวลา 13.47 น.
 

โพสต์เมื่อ 1 ก.ค. 2559 อ่าน 13950 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


ปฏิทินการจ้างและการประเมินนักการภารโรง ระยะเวลา 5 เดือน (พฤษภาคม – กันยายน 2567) [อ่าน 430]
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด [อ่าน 175]
เล็งจัดงบฯ อาหารเช้าให้นักเรียน [อ่าน 250]
มาตรการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 [อ่าน 4752]
การย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัด สพฐ. (การย้ายกรณีปกติ) ประจำปี พ.ศ. 2567 [อ่าน 3549]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)