"ดาว์พงษ์"วาดภาพครูในศตวรรษที่ 21



“ดาว์พงษ์”มอบทปอ.มรภ. ปรับหลักสูตรผลิตครู หวังให้ ม.ราชภัฏปั้นครูในอุดมคติศตวรรษที่ 21 เป็นซูเปอร์แมน มีจิตวิญญาณครู รู้รอบ สอนดี ถ่ายทอดเก่ง หวังให้เด็กในอนาคตเป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข

วันนี้(29ก.ย.)ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานครบรอบ 124 ปี การสถาปนาการฝึกหัดครูไทย และวันคล้ายวันสถาปนากรมการฝึกหัดครู โดยพล.อ.ดาว์พงษ์ ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายการผลิตครูในศตวรรษที่ 21”ว่า กระทรวงศึกษาจะเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง การจัดการศึกษาจะมุ่งให้เกิดผลกับเด็กเป็นหลัก เพื่อให้เด็กเป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข ซึ่งการจะไปให้ได้อย่างที่ต้องการนั้นมีส่วนสำคัญ 3 ส่วนหลัก คือ สังคม โรงเรียน และครอบครัว โดยเฉพาะโรงเรียนซึ่งมีครูเป็นส่วนสำคัญ แต่ปัจจุบันการผลิตครูมีปัญหามากมาย ซึ่งปัญหาที่พบหลัก ๆ คือ สถาบันอุดมศึกษาเปิดหลักสูตรวิชาชีพครูมากเกินความจำเป็น และบางแห่งก็เปิดสอนก่อนที่หลักสูตรจะได้รับการรับรอง สถาบันผลิตครูมีมาตรฐานต่างกันมากเนื่องจากมีจำนวนมาก การเปิดโอกาสให้โรงเรียนรับครูที่ไม่มีวุฒิครูเข้ามาสอนก่อนแล้วค่อยมาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบขาดความเข้มงวดจริงจังในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน หลักสูตรไม่ได้เตรียมให้นักศึกษาครูมีนวัตกรรมการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิด และไม่ได้เน้นการบูรณาการสมรรถนะการสอนใหม่ ๆ การบูรณาการเนื้อหาและเทคนิคการสอน รวมถึงคุณลักษณะความเป็นครูโดยเฉพาะจิตวิญญาณความเป็นครู

พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้ต้องมีการปฏิรูประบบการผลิตครู โดยอยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)ผลิตครูในศตวรรษที่ 21 ที่เป็นซูเปอร์แมน โดยคุณลักษณะของครูที่ตนอยากเห็น คือ มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีความรู้ในเรื่องที่สอน มีเทคนิคการสอนดี ถ่ายทอดให้นักเรียนเข้าใจง่าย มีความรู้ ICT มีบุคลิกภาพดี และที่สำคัญคือมีทักษะการพูด ซึ่งไม่ใช่พูดเก่งเพียงอย่างเดียวต้องมีเทคนิคในการพูดเพื่อจูงใจนักเรียนด้วย ซึ่งตนได้มอบให้ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปอ.มรภ.) ไปปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูมานำเสนอ โดยต้องให้ความสำคัญเรื่องของจิตวิทยาเด็กพิเศษ จิตวิทยาการเรียนการสอน จิตวิทยาครูว่าด้วยการลงโทษนักเรียน การสร้างแรงจูงใจ เทคนิคการพูดและเทคนิคการสอน นอกจากนี้ครูในอนาคตต้องเข้าใจเรื่องการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ซึ่งเป็นการประเมินที่นานาชาติให้การยอมรับ ว่า เด็กที่เราจะไปสอนต้องมีความรู้อะไรบ้าง ซึ่งก็คือ การอ่านเพื่อความเข้าใจ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และในปี 2018 จะเพิ่มเรื่องการประเมินสมรรถนะเกี่ยวกับโลก ความสามารถในการตอบสนองต่อบุคคลเมื่อต้องอยู่ร่วมกันในความหลากหลายทางการศึกษาและวัฒนธรรม ดังนั้นครูจะต้องรู้เรื่องเพื่อไปสอนเด็กให้อยู่ในโลกได้ ไม่ใช่เพื่อการแข่งสอบ PISA

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเรื่องการผลิตครู ได้กำชับให้ผมทำหลักสูตรการผลิตครูให้มีความเข้มแข็งเหมือนในอดีต ซึ่งขณะนี้ผมได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูแล้วและทาง ทปอ.มรภ.ได้เสนอกรอบหลักสูตรในการผลิตครูมาแล้ว จากนี้จะนำมาพิจารณาร่วมกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ โดยวางเงื่อนเวลาว่า หลักสูตรผลิตครูใหม่จะต้องแล้วเสร็จ เพื่อใช้นำร่องในการผลิตครู ปีการศึกษา 2560” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวและว่า สำหรับการผลิตครูในอนาคตจะมีการแบ่งสัดส่วนการผลิตเป็น 25:40:35 ของอัตราเกษียณอายุราชการ คือ โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น 25% การผลิตครูระบบปิด 40% ซึ่งจะแบ่งโควตาในสถาบันผลิตครูตามขีดความสามารถของแต่ละแห่ง และ อีก 35 %เป็นการผลิตครูระบบเปิดทั่วไป.

 

 

ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน 2559 เวลา 14.21 น.

 

โพสต์เมื่อ 30 ก.ย. 2559 อ่าน 24734 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


ด่วนที่สุด สพฐ.แจ้งการกำหนดค่าธรรมเนียมการสมัครคัดเลือกครูผู้ช่วย-ผู้บริหารสถานศึกษา 500 บาท [อ่าน 211]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 [อ่าน 373]
บอร์ด ก.ค.ศ. เห็นชอบปรับอัตราเงินเดือนครูตามมติ ครม. เดือนเม.ย.รู้ตัวเลขแน่นอน [อ่าน 1378]
ครม.ไฟเขียวตั้งบุรีรัมย์เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดที่ 20 [อ่าน 413]
ด่วน! สทศ.ประกาศผลสอบโอเน็ต ปีการศึกษา 2566 แล้ว [อ่าน 3666]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)