เปิดดัชนีทุนมนุษย์ปี 2559 "ไทย" รั้งลำดับที่ 48 ชี้เด็กไทยยังขาดทักษะด้านแรงงาน



“สสค.” จับมือ “สอศ.” เตรียมความพร้อมแรงงานรุ่นใหม่ขับเคลื่อน “ไทยแลนด์ 4.0”

เปิดดัชนีทุนมนุษย์ปี 2559 ‘ไทย’ รั้งลำดับที่ 48 ชี้เด็กไทยยังขาดทักษะด้านแรงงาน

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ธนาคารแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เปิดเวทีการประชุมวิชาการ “การยกระดับกำลังคนของไทยตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0” เผยอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ไทยปี 2559 รั้งอันดับที่ 48 มีรายได้ต่อหัวและทุนมนุษย์ที่ไม่สามารถนำไปใช้แข่งขันได้เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เหตุจากขาดแคลนแรงงานระดับกลางจนถึงระดับสูงที่มีทักษะ และระบบการศึกษาที่ผลิตคนไม่ตรงกับงาน ชี้หน่วยงานด้านการผลิตกำลังคนทุกช่วงวัยต้องปรับตัวขนานใหญ่ ผสานความร่วมมือยกระดับทักษะแรงงานด้วยโมเดล 3 ประสาน โดยมีภาคเอกชนหนุนเสริม สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาแรงงานที่มีทักษะให้ได้ 2.56 ล้านคนต่อปีภายใน 5 ปีข้างหน้า จึงจะช่วยนำพาให้ประเทศไทยก้าวออกจากเศรษฐกิจ 2.0 ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้

ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เผยถึงแนวทางการพัฒนาทักษะเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ว่า การศึกษาไทยจะต้องพัฒนาความรู้และทักษะของคนรุ่นใหม่ให้ตรงกับสมรรถนะที่พลโลกต้องการในศตวรรษที่ 21 ใน 7 ด้านคือ มีความรู้ด้านเทคโนโลยี มีความสนใจใฝ่เรียนรู้ มีทักษะการแก้ปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะการติดต่อสื่อสาร มีความรู้ในเชิงธุรกิจและการประกอบการ และมีการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการสร้างคนให้สมบูรณ์ใน 3 มิติตามแนวทางของท่านพุทธทาสคือ สอนคนให้มีความรู้และสติปัญญา ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม และสอนอาชีพให้คนสามารถออกไปทำงานได้

“เป้าหมายของยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 คือเปลี่ยนจากการทำมากได้น้อย ไปเป็นทำน้อยแต่ได้มากด้วยการใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ วันนี้ถ้าเราต้องการที่จะข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งมีตัวชี้วัดที่สำคัญคือรายได้ต่อหัว เราจะต้องเพิ่มผลิตภาพของคนไทยด้วยการพัฒนาทุนมนุษย์ ด้วยการจัดการศึกษาให้ผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในภาคอาชีวศึกษาเพราะเป็นแรงงานระดับกลางที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพื่อให้คนไทยมีขีดความสามารถและมีศักยภาพในการแข่งขันได้”

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีส่วนงานวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทยประจำปี 2559 และแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 ว่า ประเทศไทยติดลำดับ 48 จาก 130 ประเทศ โดยพบว่าทุนมนุษย์ที่ประเทศไทยมียังไม่ได้ถูกใช้ไปในการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ดีเท่าประเทศมาเลเซีย จีน และสิงคโปร์ และเมื่อเทียบกับดัชนีทุนมนุษย์และรายได้ต่อหัวของประชากร ก็จะเห็นว่าประเทศไทยยังติดอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจยุค 2.0-3.0

“แนวทางการพัฒนากำลังคนหรือการปรับตัวเพื่อก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้น ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ จะต้องมีการสร้างแรงงานรุ่นใหม่ในระดับอุดมศึกษาเพื่อป้อนตลาดแรงงานจำนวน 3.32 ล้านคน โดยแบ่งเป็นระดับอาชีวะศึกษา 1.99 ล้านคน และระดับมหาวิทยาลัย 1.33 ล้านคน นอกจากนี้การยกระดับทักษะแรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงานปัจจุบันก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยหากเทียบกับประเทศที่มีค่าทุนมนุษย์สูงเช่น ฟินแลนด์หรือสิงคโปร์ จะพบว่าประเทศไทยต้องเพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะจากเดิมที่มีประมาณ 5.47 ล้านคนไปเป็น 18.28 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้น 12.81 ล้านคนด้วยการยกระดับทักษะแรงงานปัจจุบันด้วยโมเดล 3 ประสานคือจะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย โดยมีภาคเอกชนเข้ามาหนุนเสริม เพื่อพัฒนาแรงงานที่มีทักษะให้ได้ 2.56 ล้านคนต่อปีภายใน 5 ปีข้างหน้า จึงจะช่วยนำพาให้ประเทศไทยก้าวออกจากเศรษฐกิจ 2.0 ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้”

“ข้อมูลจากเวทีในวันนี้ทำให้เราเห็นเป้าหมายที่ตรงกันที่จะต้องอาศัยความร่วมมือในการผลิตกำลังคนให้ตรงกับสมรรถนะ ตรงกับความต้องการตลาดแรงาน และทิศทางการพัฒนาประเทศ ทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย จะต้องปรับตัวแบบ 360องศา ต้องมีเป้าหมายในการพัฒนาสมรรถนะของกำลังคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะคนในภาคอุตสาหกรรม ไม่อย่างนั้นผลิตภาพของประเทศจะไม่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงเด็กที่หลุดออกจากระบบ จะต้องนำกลับเข้าสู่ระบบเพื่อฝึกอาชีพ ซึ่งจะทำให้คนไทยมีสมรรถนะและผลิตภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายของประเทศไทยในการก้าวไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0” รองเลขาธิการ สอศ. กล่าวสรุป.

 

ขอบคุณข้อมูลจาก hommali.p@gmail.com ส่งเมื่อ 1 ธ.ค.2559

 

โพสต์เมื่อ 3 ธ.ค. 2559 อ่าน 7405 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


ปฏิทินการจ้างและการประเมินนักการภารโรง ระยะเวลา 5 เดือน (พฤษภาคม – กันยายน 2567) [อ่าน 1440]
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด [อ่าน 391]
เล็งจัดงบฯ อาหารเช้าให้นักเรียน [อ่าน 407]
มาตรการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 [อ่าน 6165]
การย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัด สพฐ. (การย้ายกรณีปกติ) ประจำปี พ.ศ. 2567 [อ่าน 5305]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)