ดร.ชัยยศ ย้ำหลักสูตร “ลูกเสือทักษะชีวิต” ปฏิรูปการศึกษาได้ เพียงแค่ปฏิบัติ



ดร.ชัยยศ ย้ำหลักสูตร “ลูกเสือทักษะชีวิต” ปฏิรูปการศึกษาได้ เพียงแค่ปฏิบัติ – คาดหวังประเทศไทยผู้นำ World Model 3 in 1 หลักสูตรเดียวได้ 3 ทักษะ “ศตวรรษ 21- ชีวิต-ลูกเสือ”

โครงการลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต โดยสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท.) ร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการฝึกอบรมวิทยากรลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต เพื่อเป็นการขยายผลไปสู่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวนกว่า 38,000 โรงเรียน ซึ่งมีผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาเข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 93 คน ที่ศูนย์พัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจกรรมเยาวชน “กฐิน กุยยกานนท์” อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กล่าวในการเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมวิทยากรลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต ว่าการฝึกอบรมในวันนี้ มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นบันไดขั้นแรกของการปฏิรูปการเรียนการสอนลูกเสือ เนื่องจากหลักสูตรลูกเสือใช้มาตั้งแต่ปี 2515 โดยมีความพยายามมาอย่างยาวนานในการนำเรื่องทักษะชีวิตเข้ามาในกระบวนการลูกเสือ ฉะนั้น ถึงเวลาที่ทุกคนต้องเปิดรับความรู้ แนวความคิดใหม่ ในฐานะที่ตนเป็นเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ จึงเห็นว่าทักษะชีวิตมีความจำเป็นอย่างมาก ร่วมกับการผลักดันของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ จึงให้การสนับสนุนเพราะประโยชน์ทั้งหมดนั้นเกิดกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นลูกหลานของเรา

“น้ำท่วมภาคใต้ที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กจมน้ำตายจำนวนมากถึง 54 คน สะท้อนให้เห็นว่าเด็กขาดทักษะชีวิต ทักษะในการช่วยเหลือตนเองหรือการปฏิบัติที่เหมาะสมได้เมื่อเกิดภัยน้ำท่วม ดังนั้น ทักษะชีวิตจึงมีความสำคัญและจำเป็นมาก อีกทั้ง เมื่อบ้านเมืองมีความซับซ้อนมากขึ้น ทักษะชีวิตก็ต้องมีมากกว่าเรื่องการว่ายน้ำเป็น การดูแลอาการเจ็บป่วย ฉะนั้น การใส่เนื้อหาทักษะชีวิตเข้าไปในกระบวนการลูกเสือ จึงเป็นการปฏิรูปแต่ควรมีทักษะชีวิตที่สามารถช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้ หลักสูตรลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตที่ปรับปรุงและผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติให้นำมาใช้นั้น ได้ผ่านกระบวนการคิด ไตร่ตรอง ตรวจสอบมาอย่างดีที่สุดแล้ว ก่อนที่จะประกาศใช้ จนได้หลักสูตรออกมา 11 เล่ม แบ่งตามช่วงชั้นและประเภทของลูกเสือ แต่ประเด็นความสำคัญประการที่สองทำอย่างไรจะนำสิ่งที่อยู่ในหลักสูตรที่คิดกันออกมาจะนำมาสู่การปฏิบัติได้จริง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่ต้องการให้เกิดมากที่สุดในห้องเรียน โรงเรียนและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็กทุกคน จึงขอฝากความหวังไว้กับทุกคนที่จะมาร่วมมือกันทำให้เกิดความสำเร็จการปฏิรูปเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง” ดร.ชัยยศ กล่าว

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ และมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรทักษะชีวิตในกระบวนการลูกเสือ ซึ่งใช้เวลาดำเนินการถึง 8 ปี ในการนำทักษะชีวิตมาเชื่อมโยงอยู่ในกระบวนการลูกเสือ ดังนั้น การจะทำให้ลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตเกิดความเข้มแข็งมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ 1)การพัฒนาพื้นฐาน โดยการพัฒนาสมรรถนะครูผู้กำกับลูกเสือให้มีความสามารถเข้าใจหลักสูตรมีทักษะในการสอน 2)การพัฒนาต่อเนื่องให้เป็น Best Practices โดยมีการประเมินตนเองตามมาตรฐาน มีการเทียบระดับ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้โรงเรียนต่างๆ มาเทียบระดับ ดังนั้น การพัฒนาที่จะก่อให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนได้จะต้องมีระบบ สมรรถนะ และองค์ความรู้

“ลูกเสือทักษะชีวิต เป็นกิจกรรมที่มีจุดเน้นทักษะชีวิตเดิมที่แฝงอยู่ให้โดดเด่นขึ้นมา ซึ่งเหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 เพราะเป็นทักษะสำคัญโดยจะได้ทั้งทักษะในศตวรรษที่ 21 ทักษะชีวิต และทักษะลูกเสือ เป็นทรีอินวัน ( 3 in 1) ฉะนั้น หากจัดการเรียนการสอนที่ดี เชื่อว่าจะเป็นเวิร์ดโมเดล (World Model) เพราะยังไม่มีชาติใดในโลกที่มีกิจกรรมตามหลักสูตรใหม่ทั้งระบบที่เราพัฒนาและประกาศใช้แล้ว” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นางชวิศา อินทเรือง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนจง ต.นาหม่อม อ.นาหม่อม จ.สงขลา กล่าวว่า โรงเรียนนำหลักสูตรลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตมาใช้แล้ว 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาใช้กับสถานการณ์จริงโดยให้เด็กฝึกปฏิบัติจริง โดยลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ ให้เด็กได้เห็นถึงความเดือดร้อน เด็กก็จะเข้าไปให้ความรู้ในการช่วยเหลือตนเองเมื่อเกิดน้ำท่วม หากมีความเครียดก็ฝึกสมาธิให้ชาวบ้าน มีการลงเก็บขยะจำนวนมากที่มากับน้ำก็มาช่วยกันคัดแยกขยะ มีการบูรณาการในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ นอกจากนี้ เด็กนักเรียนยังได้ขึ้นมาช่วยคัดแยกขยะที่ท้องสนามหลวงด้วย ทั้งนี้ การเรียนลูกเสือจะต้องควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติ จะทำให้เด็กเห็นสถานการณ์จริง ซึ่งไม่ได้เป็นการสร้างภาระแก่ครูเลย แต่ตรงกันข้ามสิ่งที่ได้กับเด็กโดยตรงในการที่เขามีความรู้ในการช่วยเหลือตนเอง คนรอบข้าง และมีความคิดในการช่วยเหลือสังคมมากขึ้น

 

โพสต์เมื่อ 27 ม.ค. 2560 อ่าน 16712 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 3732]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 405]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1015]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 18057]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 911]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)