โละพีเอครูสอนเยอะรู้มากรับวิทยฐานะ



“หมอธี”สั่งก.ค.ศ.เปลี่ยนเกณฑ์ประเมินขอมี-คงวิทยฐานะใหม่ ไม่เอาเกณฑ์พีเอ ดูครูจากความสามารถที่มีอยู่ว่าสอนเยอะแค่ไหน-พัฒนาตนเองอย่างไร-สะสมข้อมูลทางไอที ลั่น 3 เดือนเห็นวิธีการชัดเจน

วันนี้ (2 ก.พ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะและหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลอื่น ให้แก่ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่าการประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ จะยึดพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ดูความสามารถที่มีอยู่ในตัวคน ว่ามีความรู้ ประสบการณ์มากน้อยแค่ไหน โดยดูจาก 2 อย่างคือ 1.การสอน ว่ามีปริมาณการสอนมากน้อยแค่ไหน ความยุ่งยากในการสอน เช่น สอนหลายวิชา สอนหลายชั้น หรือสอนเด็กจำนวนมาก เป็นต้น และ2.การพัฒนาตนเอง ที่สะท้อนถึงความสามารถ เช่น การพัฒนาที่โรงเรียน การอบรมตามหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง ซึ่งในการพิจารณาจะดูแฟ้มสะสมผลงาน หรือ พอร์ตฟอลิโอ ที่ครูต้องเก็บหลักฐานการพัฒนาตนเองและการสอนใส่ไว้ โดยบันทึกลงในระบบไอที ในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์พอร์ตฟอลิโอ ดังนั้น จากนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตามนิยามใหม่ พร้อมทั้งจัดประชุมโฟกัสกรุ๊ปเพื่อรับฟังความคิดเห็นนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

“เรื่องนี้ถือเป็นการปฏิวัติระบบการประเมินวิทยฐานะ รวมถึงจะนำมาใช้กับการประเมินขอคงวิทยฐานะตามมาตรา 55 ของพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ด้วย และขอให้มั่นใจว่าการใช้กระดาษทำผลงานวิชาการไม่มีอีกแล้ว นอกจากนี้ จะมีการทบทวนในส่วนวิทยฐานะผู้บริหารการศึกษาด้วย โดยอาจจะออกกฎหมายใหม่ให้เป็นเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบันผู้บริหารการศึกษาจะได้รับเงิน 2เด้ง คือ เงินประจำตำแหน่งและเงินวิทยฐานะ ซึ่งก็จะต้องมาทบทวนกันใหม่”นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันรัฐจ่ายเงินวิทยฐานะปีละ 35,000 ล้านบาท จากครูทั้งหมดมีครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 10% ไม่มีวิทยฐานะ ครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 30% ไม่มีวิทยฐานะและครูสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 20% ไม่มีวิทยฐานะ เชื่อว่าหลักเกณฑ์ใหม่จะตอบแทนครูที่สอนทั้งมีปริมาณและมีคุณภาพได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่เน้นดูที่เอกสารผลงานวิชาการ อย่างไรก็ตาม การทำผลงานทางวิชาการยังคงเน้นอยู่ในวิทยฐานะเชี่ยวชาญและวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ

ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ.กล่าวว่า นโยบายของ รมว.ศึกษาธิการถือเป็นการเปลี่ยนนิยามใหม่ของการประเมินวิทยฐานะ เปลี่ยนแรงจูงใจให้ถูกทาง คือ ต้องมาสอนกับพัฒนาตนเองจึงจะได้วิทยฐานะ ซึ่งทำให้ครูอยากสอน อยากอยู่ห้องเรียน ไม่ใช่มุ่งใช้เวลาไปทำผลงานทางวิชาการ ทั้งนี้ ผลงานที่ใช้ประเมินอยู่ในขณะนี้เหมาะสำหรับใช้ในการให้ความดี ความชอบ ให้โบนัส แต่แบบใหม่จะดูว่าครูรู้มากน้อยแค่ไหน ส่วนร่าง หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะ หรือ เลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือ พีเอ (Performance Agreement : PA) ที่สำนักงาน ก.ค.ศ.เสนอมาก็ถือว่าล้มไปเพราะไม่สอดคล้องกับนิยามใหม่

ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 14.36 น.

ด้านไทยโพสต์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 ได้พาดหัวข่าวและรายละเอียดข่าวนี้ ดังนี้

สั่งทบทวนค่าวิทยฐานะผู้บริหารศึกษา

รมว.ศธ.ชี้ปัจจุบันฟาด2เด้งรวมเงินตำแหน่ง/ครูอาชีวะ-กศน.มีวิทยฐานะแค่จิ๊บจ๊อย

"รมว.ศธ." สั่ง ก.ค.ศ.ทบทวนเงินวิทยฐานะผู้บริหารการศึกษา ชี้ปัจจุบันได้ 2 เด้ง บวกเงินประจำตำแหน่งด้วย และควรได้แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง เผยรัฐแบกค่าวิทยฐานะครูอื้อปีละ 3.5 หมื่นล้าน แต่ครูสังกัดอาชีวะ 30% และครู กศน. 20% ไม่ได้วิทยฐานะ แต่สังกัด สพฐ.ได้เกือบหมด ขาดแค่ 10%

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้มอบนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะและหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลอื่น ให้แก่ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่าการประเมินวิทยฐานะแนวใหม่จะยึดพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือดูความสามารถที่มีอยู่ในตัวคน ประสบการณ์การสอน ว่ามีปริมาณการสอนมากน้อยแค่ไหน ความยุ่งยากในการสอน เช่น สอนหลายวิชา สอนหลายชั้น หรือสอนเด็กจำนวนมาก เป็นต้น และการพัฒนาตนเอง ที่สะท้อนถึงความสามารถ เช่น การพัฒนาที่โรงเรียน การอบรมตามหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง ซึ่งในการพิจารณาจะดูแฟ้มสะสมผลงาน หรือพอร์ตโฟลิโอ ที่ครูต้องเก็บหลักฐานการพัฒนาตนเองและการสอนใส่ไว้ โดยบันทึกลงในระบบไอทีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์พอร์ตโฟลิโอ ดังนั้นจากนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตามนิยามใหม่ พร้อมทั้งจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

"เรื่องนี้ถือเป็นการปฏิวัติระบบการประเมินวิทยฐานะ รวมถึงการนำระบบการประเมินขอคงวิทยฐานะตามมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ด้วย และขอให้มั่นใจว่าจะไม่มีการใช้กระดาษทำผลงานวิชาการอีกแล้ว" รมว.ศธ.กล่าว

นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า ตนยังได้มอบให้ ก.ค.ศ.ไปทบทวนเรื่องวิทยฐานะผู้บริหารการศึกษาด้วย โดยอาจจะออกกฎหมายใหม่ให้เป็นเงินประจำตำแหน่ง เนื่องจากปัจจุบันผู้บริหารการศึกษาจะได้รับเงิน 2 เด้ง คือเงินประจำตำแหน่ง และเงินวิทยฐานะ ซึ่งก็จะต้องมาทบทวนกันใหม่ และแต่ละปีรัฐมีภาระจ่ายเงินวิทยฐานะถึงปีละ 35,000 ล้านบาท แต่กลับพบว่ามีครูที่ไม่มีวิทยฐานะสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร้อยละ 10 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร้อยละ 30 และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ร้อยละ 20 จึงเชื่อว่าหลักเกณฑ์ใหม่จะตอบแทนครูที่สอนทั้งมีปริมาณและมีคุณภาพได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่เน้นดูที่เอกสารผลงานวิชาการ อย่างไรก็ตาม การทำผลงานทางวิชาการยังคงเน้นอยู่ในวิทยฐานะเชี่ยวชาญและวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ

ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า นโยบายของ รมว.ศธ.ถือเป็นการเปลี่ยนนิยามใหม่ของการประเมินวิทยฐานะ เปลี่ยนแรงจูงใจให้ถูกทาง คือต้องมาสอนกับพัฒนาตนเองจึงจะได้วิทยฐานะ ซึ่งทำให้ครูอยากสอน อยากอยู่ห้องเรียน ไม่ใช่มุ่งใช้เวลาไปทำผลงานทางวิชาการ ทั้งนี้ ผลงานที่ใช้ประเมินอยู่ในขณะนี้เหมาะสำหรับใช้ในการให้ความดี ความชอบ ให้โบนัส แต่แบบใหม่จะดูว่าครูรู้มากน้อยแค่ไหน ส่วนร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะ หรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือพีเอ (Performance Agreement : PA) ที่สำนักงาน ก.ค.ศ.เสนอมาก็ถือว่าล้มไป เพราะไม่สอดคล้องกับนิยามใหม่.


ขอบคุณที่มาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560

โพสต์เมื่อ 3 ก.พ. 2560 อ่าน 49065 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 3091]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 393]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 975]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 17721]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 885]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)